'รัฐ-เอกชน' ชู ’อินดัสเทรียล เทค' ดันอุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่ายั่งยืน 

'รัฐ-เอกชน' ชู ’อินดัสเทรียล เทค' ดันอุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่ายั่งยืน 

"รัฐ-เอกชน" ผนึกกำลังชู "อินดัสเทรียล เทค" หนุนอุตสาหกรรมไทยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล-เอไอ ขับเคลื่อนธุรกิจ ลดต้นทุน ดันองค์กรเติบโตอย่ายั่งยืน 

ลีฟ-24 ผนึก กนอ. และ ส.อ.ท. จัดงานใหญ่แห่งปี “สัมมนา LIV-24 Industrial Tech Revolution: ก้าวข้ามขีดจำกัดสู่ยุคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนด้วย AI และ Industrial Tech” ได้รับเกียรติจากนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าววิสัยทัศน์และนโยบายในการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก โดยมีผู้นำจากภาคธุรกิจต่างๆ เข้าร่วมกว่า 200 บริษัท

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า บริษัท อินดัสทรี โปรโมชั่น จำกัด เป็นบริษัทภายใต้การร่วมทุนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท LIV-24 จำกัด (ลีฟ ทเวนตี้โฟร์) เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่ง กนอ. เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจช่วยดึงดูดนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ การจัดหาพื้นที่เพื่อจัดตั้งโรงงาน

รวมถึงการจัดหาแรงงาน การจัดตั้งธุรกิจเพื่อประกอบกิจการ การนำเข้าอุปกรณ์เครื่องจักรและผู้เชี่ยวชาญการขยายโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านใบอนุญาตต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อให้นักลงทุนสามารถประกอบกิจการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมา ยยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก

ทั้งนี้ กระทรวงอุตฯ กำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด Ecosystem เปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามโมเดล BCG สู่องค์กรดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมถือเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญ พร้อมกับดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม การตอบโจทย์กติกาสากลในหลากหลายมิติ และการกระจายโอกาส และรายได้สู่ชุมชน เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดิฉันได้มุ่งเน้นให้กระทรวงอุตสาหกรรมขับเคลื่อนนโยบาย 6 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย

1. การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค ทั่วประเทศ

2. การพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด เศรษฐกิจนำอุตสาหกรรม โดยปรับรูปแบบอุตสาหกรรมให้เชื่อมโยงกับเทรนด์โลกและภาคเศรษฐกิจอื่น รวมทั้งนำมาตรฐาน เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมศักยภาพและเชื่อมโยงกับภาคบริการ 

 

3. การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ขับเคลื่อน Green Productivity ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประกอบอุตสาหกรรม และจัดการปัญหามลพิษ เช่น PM2.5 การปล่อยก๊าซเรือนกระจก น้ำเสียและขยะ/กากอุตสาหกรรม

4. มุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้การบริการ การขออนุมัติ อนุญาต และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปรับปรุงฐานข้อมูลภาคอุตสาหกรรมให้เป็นระบบ พร้อมให้บริการในรูปแบบ One Stop Service

5. การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำผ่านกลไกของหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น กองทุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ ในส่วนของ SME D BANK โครงการสินเชื่อ SME GREEN PRODUCTIVITY วงเงิน 15,000 ล้านบาท ยกระดับผลิตภาพสีเขียวให้ SME ไทย

6. การเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น สถานการณ์น้ำท่วม จากภาวะลานีญาและเอลนิโญ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องอาศัยความสามารถของ AI Technology กับ "การยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก

นางสาวนิรมล ดิเรกมหามงคล กรรมการผู้จัดการ LIV-24 เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานในหลากหลายกลุ่ม ตลอดจนผลักดันให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนเทคโนโลยีของประเทศ วันนี้เราทำธุรกิจโดยใช้ AI เข้ามาช่วย

ทั้งนี้ AI จะเป็นเครื่องมือที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลก การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจเพิ่มความสามารถในการแข่งขันตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่น รับมือต่อความเสี่ยงและปัจจัยภายนอกเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

“ลีฟ-24 ออกแบบโซลูชันที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการได้ทุกรูปแบบ ดูแลครอบคลุมหลายธุรกิจกว่า 130 โครงการ กว่า500,000 เคสตั้งเป้ารายได้ 300 ล้านบาท ภายในปี 2568สัดส่วนลูกค้า แบ่งเป็น กลุ่มคอมเมอร์เชียล และโรงงาน30% และ 70% กลุ่มที่อยู่อาศัยสำนักงาน” นางสาวนิรมล กล่าว

สำหรับโซลูชั่นลีฟ-24 ได้ตอบโจย์ความต้องการที่หลากหลาย กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ระบบป้องกันอัคคีภัย กล้องอัจฉริยะตรวจจับความผิดปกติ การดูแลระบบ เครื่องจักรต่างๆ ระบบขนส่ง การจัดการน้ำเสีย และการจัดการพลังงาน โดยมีการเชื่อมต่อเข้าสู่ศูนย์ควบคุมส่วนกลาง (Command Centre) ที่สามารถดูแลแบบ Real-Time24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน

พร้อมช่วยลดต้นทุนในการใช้พลังงานช่วยดูแลรักษาอุปกรณ์ ลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชุมชน ส่งผลให้ลดต้นทุนรวมของธุรกิจได้มากถึง 20% ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม มิกซ์ยูสโครงการอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มอาคารสำนักงาน มีมูลค่าทรัพย์สินที่ดูแลรวมกันกว่า 300,000 ล้านบาท

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ. พร้อมขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนของภาคเอกชนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในปีนี้ กนอ. กำหนดแผนฟื้นฟูการลงทุน โดยลดบทบาทการเป็นหน่วยงานกำกับดูแล (regulator) มาเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ที่มุ่งเน้นอำนวยความสะดวกและสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกด้าน

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนอย่างเต็มที่ควบคู่ไปกับการนำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากลด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วย ยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town), ส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งเน้นจัดการกากของเสียให้มีประสิทธิภาพ และเชื่อมั่นว่าภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยยังคงเป็นอีกหนึ่ง sector ที่แข็งแกร่ง

ดังนั้น แม้จะเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ลีฟ-24 จะเป็นอีกหนึ่งโซลูชั่นที่สำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจ ด้วยเทคโนโลยี AI อัจฉริยะ และเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันสมาร์ทนิคม พร้อมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เทียบชั้นกับนานาชาติ ทั้งนี้กนอ.จะศึกษาโอกาสและรูปแบบความเป็นได้ในการร่วมทุนกับ ลีฟ-24 ผ่านอินดัสทรีฯ ที่กนอ. ถือหุ้นอยู่ 25%ดำเนินธุรกิจคาดว่าจะมีความชัดเจนใน 3-4 เดือนนี้มั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์ต่อภาคเอกชนที่เข้ามาใช้บริการได้ในราคาไม่สูงมากด้วย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น การดำเนินธุรกิจจึงต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดพลังงาน และปลดปล่อนคาร์บอน ส.อ.ท.มีความเป็นห่วง SME ราว 1.6 หมื่นบริษัท กำลังถูกดิสรัปชั่นจากความท้าทาย จากสินค้าจีนราคาถูกเข้ามามีผลกระทบทั่วโลก ทำให้เอสเอ็มอีแข่งขันไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนยังสูงอยู่

ทั้งนี้ ลีฟ-24 ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่จะช่วยยกระดับความสามารถของเอสเอ็มอีไทย ส.อ.ท. จึงออกนโยบาย 4 โก คือ 1. โก ดิจิทัล ยกระดับเอสเอ็มอีทั่วประเทศ เช่น โปรแกรมด้านการผลิต ด้านการบัญชี และด้านการควบคุมต่างๆ ที่ช่วยลดต้นทุน 2. โก อินโนเวชั่น เป็นเอสเอ็มอี จิ๋วแต่แจ๋ว ด้วยนวัตกรรม คล้ายกับเอสเอ็มอีของไต้หวันและอิสราเอล 3. โก โกลบอล ผลักดันเอสเอ็มอีให้สามารถผลิตและขายสินค้าไปต่างประเทศ และ 4. โก กรีน ผลักดันให้เอสเอ็มอี ผลิตสินค้า ทุกกระบวนการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามเทรนด์โลก