'เอกชน' หวังเลือกนายกฯ ใหม่ได้เร็ว ห่วงสุญญากาศการเมืองฉุดเศรษฐกิจ
ภาคเอกชน ช็อกศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “เศรษฐา” พ้นจากตำแหน่ง กระทบการตัดสินใจนักลงทุนต่างชาติ ห่วงสุญญากาศการเมือง เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย กดดันตลาดหุ้นซึมต่อ หวังตั้งนายกฯ คนใหม่ได้เร็วเพื่อเดินหน้า “ดิจิทัลวอลเล็ต-กองทุนวายุภักษ์”
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 ให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งจากคำร้องของกลุ่ม 40 สว.กรณีการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะพ้นจากหน้าที่ และเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยระหว่างนี้รัฐบาลปัจจุบันทำหน้าที่รักษาการ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในมุมของภาคเอกชนได้สะท้อนให้เห็นภาพหลายแล้ว และคำวินิจฉัยถอดถอนนายกฯ ทำให้นักลงทุนต่างช็อก และชะงักการลงทุน
สำหรับปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า รวมถึงมีความท้าทายมากมายที่เกิดขึ้นในโลก และประเทศไทยก็ยังอยู่ในช่วงที่จะต้องรีบเร่งในการที่จะสร้างความเชื่อมั่น สร้างการลงทุนใหม่ๆ เชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ
“ผมคิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงจังหวะที่สำคัญ และปัจจัยที่เป็นตัวที่พิจารณาสำหรับนักลงทุนคือ เรื่องการเมืองที่ต้องการ การเมืองที่มีเสถียรภาพ หรือมีความนิ่ง และต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาไม่มีความต่อเนื่องมานาน การเปลี่ยนขั้วพรรคการเมืองตลอดเวลาจะทำให้นโยบายที่รัฐบาลเคยขับเคลื่อนนั้นหยุดชะงักไป มันก็ขาดความต่อเนื่อง” นายเกรียงไกร กล่าว
84 วัน ต่างชาติชะลอลงทุน
นายเกรียงไกร กล่าวว่า นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญรับคดีไว้พิจารณา 84 วัน เศษ ทุกคนชะลอลงทุน และรอดูสถานการณ์ โดยทุกฝ่ายมอนิเตอร์ และรอติดตามผล แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอุตสาหกรรมจะหยุดหมด เพราะขึ้นกับความต้องการแต่ละอุตสาหกรรม
ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศฝั่งสหรัฐ และยุโรป ให้น้ำหนักเรื่องนี้มากในระดับซีเรียส และทำให้หลายรายต้องการความชัดเจน รวมถึงสอบถามพูดคุยกับ ส.อ.ท.อยู่ตลอดเวลา แต่ว่านักลงทุนทั้งโซนเอเชียเองอย่างนักลงทุนจากญี่ปุ่น ที่ถือว่าเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของไทย และอยู่ในประเทศมา 40-50 ปี อาจจะเริ่มเรียนรู้และปรับตัวได้
“ตลอดช่วงปี 1 ที่ผ่านมา ผมคิดว่าเราต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลในชุดของนายเศรษฐา เพราะขึ้นมาเป็นรัฐบาลในช่วงที่เกิดความท้าทายของโลกมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงครามการค้า เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ การที่ต้องเลือกข้าง การย้ายฐานการผลิตจำนวนมากที่ไม่เคยรุนแรง และเข้มข้นขนาดนี้มาก่อน" นายเกรียงไกร กล่าว
รวมถึงได้แก้ปัญหาสะสมของประเทศไทยที่ลึกไปเชิงโครงสร้างมาตั้งนาน แต่ว่าท่านนายกฯ ก็สามารถเข้ามาทำงาน ปรับตัวและใช้เวลาไม่มาก 3-4 เดือน ก็เริ่มพอเข้าใจในหน้าที่ และมีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ได้
“หอการค้า” หวั่นกระทบความเชื่อมั่น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า มุมมองของหอการค้าต่อผลการตัดสินของศาลที่ออกมาก็ถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องน้อมรับ แต่ในส่วนของเศรษฐกิจก็ต้องบอกว่ากระทบความเชื่อมั่นของประเทศระยะสั้น โดยเฉพาะโครงการ และแผนงานต่างๆ ที่กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม หอการค้า เชื่อว่าในช่วงที่จะต้องรอเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ พร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ซึ่งมีกระบวนการไม่น้อยกว่า 1 เดือน ก็คงจะมีการเร่งกระบวนการ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป เชื่อว่าจะไม่กระทบ ประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ ซึ่งการท่องเที่ยวก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ และ ช่วงนี้ก็อยากให้มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง พร้อมสภาฯ ก็ยังสามารถพิจารณางบประมาณปี 2568 ได้ต่อ
ทั้งนี้ หอการค้าอยากเห็น การเมืองที่กลับมาเดินหน้าอย่างมีเสถียรภาพโดยเร็วที่สุด เพราะต้องยอมรับว่าปัญหาปากท้องของประชาชนในภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องที่ ต้องเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งหวังว่าฝ่ายการเมืองโดยระบบรัฐสภาจะได้ช่วยกันในการที่จะดำเนินตามกระบวนการของประชาธิปไตย เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาสู่การรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการบริหารด้านประเทศ ให้เติบโตได้ตามศักยภาพต่อไป
“ตลาดทุน” รอติดตามตั้งรัฐบาลใหม่
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ และในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผยว่า ผลวินิจฉัยถือว่าผิดคาดจากก่อนหน้านี้ตลาดทุนมองแง่ดี และเกิดภาวะสุญญากาศชั่วคราวในเรื่องที่รัฐบาลกำลังผลักดัน เป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นไทยที่กำลังต้องการผลักดันให้ฟื้นตัวขึ้น
“รอติดตามความชัดเจนทางการเมืองหลังจากนี้ก่อนว่า นายกฯ และ ครม.ใหม่ จะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง การเบิกจ่ายงบประมาณปีนี้ จะผลักดันออกมาได้มากน้อยแค่ไหน และนโยบายที่เป็นเรือธงของรัฐบาลจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่” นายไพบูลย์ กล่าว
ทั้งนี้ หากพรรคเพื่อไทยยังเป็นแกนนำรัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลง โดยพรรคเพื่อไทยมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 2 คน หากแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ได้เร็วเป็นเรื่องดี แต่ต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน และมีศักยภาพในการสานต่อนโยบายบริหารประเทศ
ส่วนรัฐมนตรีจะเป็นคนเดิมหรือคนใหม่มีการสลับขั้วการเมืองบ้างไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อนโยบายของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ให้เดินหน้าต่อไปได้ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต และกองทุนวายุภักษ์ 1 คาดหวังว่าน่าจะยังมีอยู่ และมองว่าไตรมาส 4 ปีนี้ เศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทยควรจะกลับมาฟื้นตัวต่อได้ จากบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกในขณะนี้เริ่มนิ่ง และบรรยากาศการลงทุนเริ่มกลับมา
“ช่วงที่รอความชัดเจนการเมืองไทย เป็นความเสี่ยงเพิ่มเติม ดัชนีหุ้นไทยกระชากลงมาบ้าง แต่ไม่โดนทุบลงมารุนแรง คงซึมอีกระยะในช่วงสุญญากาศการเมืองชั่วคราว ต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดหวังว่าจะมีข่าวดีบ้างแนะนักลงทุนต้องตั้งสติ พิจารณาความเสี่ยงที่รับได้ และปัจจัยพื้นฐานเป็นสำคัญ มองกลุ่มหุ้นปลอดภัยยังลงทุนได้ และราคาหุ้นไม่แพง และไม่ควรขายในภาวะตลาดปรับตัวลง” นายไพบูลย์ กล่าว
กองทุนหวังเลือกนายกฯ ใหม่ได้เร็ว
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย และในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า คำวินิจฉัยถือว่าผิดคาด ซึ่งต้องรอความชัดเจนทางการเมืองหลังจากนี้ โดยเฉพาะนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยของรัฐบาล ที่กำลังผลักดันอยู่จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ คงเกิดสุญญากาศทางการเมืองในระยะสั้น
ในแง่ของการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ต้องรอความชัดเจนก่อน และยังคาดหวังว่า ให้ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว มองว่า พรรครัฐบาลต้องไม่เปลี่ยน เปลี่ยนแค่ตัวบุคคล โดยเฉพาะเลือกนายกฯ ใหม่ ทุกอย่างน่าจะจบได้เร็ว และนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ควรจะเดินหน้าต่อไป ต่อเนื่องไม่ควรจะล่าช้าออกไป
บล.ลิเบอเรเตอร์ มองผลกระทบจำกัด
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ลิเบอเรเตอร์ กล่าวว่า จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดียื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี มีคำตัดสินให้ “นายเศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนั้น ในเชิงการลงทุนตลาดหุ้นไทยถือว่าได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากความกังวลนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องแจกเงินดิจิทัล จะได้รับการสานต่อหรือไม่
อย่างไรก็ตามประเมินระดับดัชนีหุ้นไทยปัจจุบันที่ราว 1,290 จุด ถือว่าสะท้อนปัจจัยลบดังกล่าวไปแล้ว และยังพบสัญญาณว่าเมื่อดัชนีหุ้นปรับลงเข้าใกล้ 1,280 จุดจะมีแรงซื้อกลับเข้ามาทำให้ยังมั่นใจว่าที่ระดับ 1,280 จุด ยังเป็นแนวรับหุ้นไทยที่แข็งแกร่ง
กลยุทธ์การลงทุน แนะนำเลือกหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดีที่เกี่ยวข้องน้อยกับนโยบายรัฐบาล ได้แก่ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นของต่างชาติ กลุ่มโรงพยาบาลซึ่งไตรมาส 3 เป็นช่วงไฮซีซัน และกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่มที่ธุรกิจมีสัญญาณฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่อง
“ผลกระทบของคำตัดสินต่อหุ้นไทยค่อนข้างอ่อน เพราะเชื่อว่าจะมีการหาตัวบุคคลที่มีความสามารถมาสานต่อนโยบายต่างๆ ได้ในระยะต่อไป ซึ่งในพรรครัฐบาลมีแคนดิเดตชื่อผู้ที่จะสลับขึ้นมาทำหน้าที่อยู่แล้ว หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ดีเลย์มากหุ้นไทยจะฟื้นไปต่อได้” นายวิจิตร กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์