ส่อง ‘อนาคตเศรษฐกิจไทย’ ทศวรรษหน้า โตเฉลี่ยแค่ 2.8% เกือบรั้งท้ายอาเซียน

ส่อง ‘อนาคตเศรษฐกิจไทย’ ทศวรรษหน้า  โตเฉลี่ยแค่ 2.8% เกือบรั้งท้ายอาเซียน

กลุ่ม Angsana Council บริษัทเบน แอนด์ คัมพานี (Bain & Company) และธนาคาร DBS ของสิงคโปร์ทศวรรษหน้า โตเฉลี่ยแค่ 2.8% เกือบรั้งท้ายอาเซียน ขณะที่เวียดนามโตเฉลี่ย 6.5% TDRI ชี้การเติบโตของไทยในระดับ 2.8% ถือว่าใกล้เคียงกับศักยภาพของประเทศในอนาคต

KEY

POINTS

 

  • เศรษฐกิจไทยในช่วงหลายทศวรรษอัตราการเติบโตเฉลี่ยลดลงเรื่อยๆ ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
  • กลุ่ม Angsana Council บริษัทเบน แอนด์ คัมพานี (Bain & Company) และธนาคาร DBS ของสิงคโปร์คาดว่าเศรษฐกิจไทยในทศวรรษหน้าจะโตเฉลี่ยแค่ 2.8%
  • เวียดนามเติบโตเฉลี่ย 6.5%ต่อปี และฟิลิปปินส์เติบโตเฉลี่ย 6.1% ต่อปี
  • TDRI ชี้การเติบโตของไทยในระดับ 2.8% ถือว่าใกล้เคียงกับศักยภาพของประเทศในอนาคต 

การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานของรัฐบาล ที่ผ่านมามักมีการเปรียบเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆโดยเฉพาะในภูมิภาคเดียวกันในช่วงระยะเวลาต่างๆ รวมถึงปัจจัยที่สนับสนุน และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่มีแตกต่างกัน

รายงานล่าสุดของ กลุ่ม Angsana Council บริษัทเบน แอนด์ คัมพานี (Bain & Company) และธนาคาร DBS ของสิงคโปร์ ในเรื่อง “Navigating High Winds: Southeast Asia Outlook”

โดยรายงานนี้ได้เปิดเผยผลการศึกษาแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจของอาเซียนในช่วง 10 ปีข้างหน้าในระหว่างปี 2024 – 2034 จะเติบโตเฉลี่ย 5.1% โดยเวียดนามและฟิลิปปินส์จะมีการเติบโตเฉลี่ยที่รวดเร็วโดยเวียดนามเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เฉลี่ยปีละ 6.6% ส่วนฟิลิปปินส์เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 6.1% ขณะที่เศรษฐกิจไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าจะขยายตัวเฉลี่ยได้เพียง 2.8% เท่านั้นใกล้เคียงกับสิงคโปร์ที่ขยายตัวได้เฉลี่ย 2.5%   

โดยประเทศไทยการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยลดลงเรื่อยๆเมื่อมองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี ค.ศ 2000 โดยในปี 2000 – 2009 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เฉลี่ย 4.3% ในช่วง 10 ปีต่อมา (ค.ศ. 2010 - 2019) เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เฉลี่ย 3.6% ขณะที่ในช่วงตั้งแต่ปี 2020 – 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาโควิด-19 เศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัว (0.0%)

 

ในรายงานฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง

10 ปีข้างหน้ามีปัจจัยสนับสนุนหลายเรื่องได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์เอาไว้ได้ ขณะที่ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนภาคเอกชนก็มีหลายกลุ่มบริษัทที่มีความแข้มแข็ง และมีการเติบโตในระดับภูมิภาค เช่น กลุ่มบริษัท ปตท. กลุ่ม SCG กลุ่ม Thai Union

อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในหลายเรื่อง ได้แก่ ความไม่แน่นอน และความไม่แน่นอนในเรื่องการเมือง และภูมิทัศน์ทางการเมือง (landscape) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องของโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย มีอัตราการเกิดลดลง ทำให้กระทบต่อกำลังซื้อในประเทศ และเกิดผลกระทบต่อหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจค้าปลีก และสื่อสารซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีการควบรวมกันในช่วงที่ผ่านมา

 สำหรับเศรษฐกิจของเวียดนามซึ่งจะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 10 ปีข้างหน้า เฉลี่ย 6.6% โดยการเติบโตเฉลี่ยในช่วง  10 ปีข้างหน้าถือว่าเพิ่มขึ้นจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวได้เฉลี่ย 4.6% โดยในรายงานฉบับนี้ระบุถึงปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเวียดนามได้แก่  การเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการส่งออกที่มีการเติบโตต่อเนื่อง มีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากโอกาสที่ได้รับจากนโยบายการขยายฐานการผลิตจากจีน (China+1) ขณะเดียวกันมีแหล่งที่มาของ การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีความหลากหลายมาก ขณะเดียวกันการศึกษาก็มีคุณภาพดี และส่งผลต่อการสร้างแรงงานทักษะในอนาคต

ขณะที่ข้อเสียของเวียดนามที่เป็นความท้าทายในการพัฒนาเศรษฐกิจได้แก่ ปัญหาการปราบปรามคอร์รัปชัน การชะลอตัว และความอ่อนแอของระบบสินเชื่อในประเทศ การจัดสรรวงเงินในการจ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีแนวโน้มลดลง และมีปัญหาในการขาดแคลนพลังงงาน และน้ำ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวยังเป็นไปอย่างล่าช้า

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยหากวัดจากการขยายตัวของจีดีพีเฉลี่ยที่ 2.8% ต่อปี ถือว่าเป็นการเติบโตที่น่าพอใจสำหรับขนาดและระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจไทย สำหรับประเทศที่ระดับการพัฒนาต่ำกว่า เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนิเชีย เวียดนาม จะสามารถเติบโตได้เร็วกว่า เพราะระดับการพัฒนายังตามหลังไทยพอสมควร จึงไม่น่าแปลกใจที่การเติบโตจะสูง ทั้งนี้ประเทศที่เติบโตโดยเฉลี่ยได้เกินร้อยละ 1 ยังถือว่าสามารถเติบโตเข้าใกล้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ของไทย คาดการณ์ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วน่าจะราวๆ ค.ศ. 2046

 

โดยประเด็นแรกที่ต้องเข้าใจก่อนว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมจะขึ้นกับระดับการพัฒนา โดยยิ่งประเทศมีระดับการพัฒนาที่มากยิ่งเติบโตได้ยาก เนื่องจากประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยจะมีจุดอ่อนให้แก้ไขเยอะ เรียกได้ว่าแก้ตรงไหนก็ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะเด่นไปเกือบทุกด้าน จึงหาช่องว่างในการพัฒนาได้ยากกว่า

“ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาขึ้นกลาง โดยมีศักยภาพการเติบโตอยู่ราวๆ 3.5% ต่อปี (ก่อนโควิด-19) แต่หลังโควิด-19 เริ่มมีการประมาณการว่าศักยภาพอาจจะตกลงเหลือประมาณ 3% ต่อปีโดยเฉลี่ยเท่านั้น ซึ่งการเติบโตในลักษณะนี้ยังถือว่าเติบโตในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ หรือก็คือ โตช้ากว่าจีน อินเดีย แต่ก็ยังเร็วกว่าอีกหลายๆ ประเทศในระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน”

เมื่อถามว่ากรณีที่เวียดนามมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในระดับ  5 – 6% ต่อปีจีดีพีจะแซงไทยหรือไม่ นายนณริฏ กล่าวว่าเศรษฐกิจของเวียดนามมีการเติบโตมาระยะหนึ่งก็จะโตลดลงเรื่อยๆครับ เช่น จีนเคยโตเป็น 10% พอมาช่วงนี้เหลือราวๆ 4.5-5% แต่จีนเป็นกรณีที่โตเร็วจึงแซงไทยไปได้จากที่เคยตามไทยมาก่อน

ส่อง ‘อนาคตเศรษฐกิจไทย’ ทศวรรษหน้า  โตเฉลี่ยแค่ 2.8% เกือบรั้งท้ายอาเซียน

 “เวียดนามยังไม่แน่ว่าจะรักษาการเติบโตแบบนี้ไว้ได้ไหม ถ้าทำได้ก็จะแซงไทยได้ครับ แต่ต้องรักษาการเติบโตแบบนี้อีกเป็นสิบปียี่สิบปี คือ ต้องไปลุ้นในปี 2045-2050 ภายใต้แนวโน้มปัจจุบัน”

ส่วนมาเลเซียที่จะมีการเติบโตของเศรษฐกิจในอีก 10 ปีข้างหน้านั้นเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 4.5% ถือว่าเป็นการเติบโตที่มาจาก Growth ใหม่ของประเทศใช่หรือไม่นายนณริฏ กล่าวว่าการเติบโตของมาเลเซียแซงไทยไปนานแล้ว และมาเลเซียยังรักษาศักยภาพการเติบโตไว้ได้ดี แต่บางส่วนเป็นเพราะมีฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ การเปิดให้ลงทุนในภาคบริการ และการมีนโยบายอุตสาหกรรมชิปที่เกาะไปกับกระแสโลกทำให้เศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีการเติบโตได้ต่อเนื่อง