ปตท.ปรับใหญ่เล็งลดสัดส่วนหุ้น บริษัทไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ

ปตท.ปรับใหญ่เล็งลดสัดส่วนหุ้น บริษัทไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ

บอร์ด ปตท.ไฟเขียวปรับแผนกลยุทธ์ 5 ปี "คงกระพัน" สั่งทุกหน่วยธุรกิจทำแผนลงทุน คาดแล้วเสร็จปลายปีนี้ เล็งขายสินทรัพย์ไม่ทำกำไร เปิดทางหาพาร์ทเนอร์ลุยธุรกิจโรงกลั่น - ปิโตรเคมี ขณะที่ธุรกิจจุดชาร์จ EV ยังไปต่อ หลังทำกำไรต่อเนื่อง

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. โดยระบุว่า ขณะนี้คณะกรรมการ (บอร์ด) ได้เห็นชอบกลยุทธ์ทางธุรกิจตามแผนการลงทุน 5 ปี (2568-2572) ซึ่งเป็นแผนที่ ปตท.ทบทวนใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน 

ทั้งนี้ จะดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” หรือ “TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD”

อย่างไรก็ดี ภายหลังแผนกลยุทธ์ของ ปตท.ผ่านการเห็นชอบจากบอร์ดแล้ว หน่วยธุรกิจและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องทำกลยุทธ์เหล่านี้ไปวิเคราะห์ และจัดทำแผนธุรกิจ และแผนการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยผลลัพท์ที่จะได้เห็นหลังการปรับกลยุทธ์ครั้งนี้ คือการขับเคลื่อน ปตท.ด้วยการเติบโตอย่างเข้มแข็ง ธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วจะต้องเดินหน้า 

ส่วนธุรกิจที่ไม่ทำกำไร หรือเป็นธุรกิจที่ไม่เชี่ยวชาญ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ต้องลดสัดส่วนลงหรือหาพาร์ทเนอร์มาร่วมลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกธุรกิจต้องดำเนินการ

ขณะที่ภาพรวมของกลยุทธ์ธุรกิจที่ ปตท.จะเดินหน้านั้น เป้าหมายเร่งสร้างความแข็งแรงและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในธุรกิจ Hydrocarbon อาทิ 

ปตท.ปรับใหญ่เล็งลดสัดส่วนหุ้น บริษัทไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ

ธุรกิจสำรวจก๊าซน้ำมันและปิโตรเคมีที่เป็น Core Business หรือกลุ่มธุรกิจหลักของ ปตท.ที่ ปตท.ทำได้ดี แต่หลังจากนี้จะทำแบบเดิมไม่ได้ ต้องทำควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก และต้องปรับตัวพร้อมรับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 

ส่วนธุรกิจ Upstream and Power จะต้องเร่งขยายแหล่งสำรวจและผลิตร่วมกับ Partner เจรจาหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อทำให้ธุรกิจนี้แข็งแกร่งและเติบโต มีต้นทุนที่แข่งขันได้

เร่งสรุปแผนธุรกิจปลายปีนี้

"แผนลงทุนจะทำเสร็จปลายปีนี้ จะได้เห็นว่าแต่ละธุรกิจมีแผนลงทุน ประเมินรายได้ กำไรอย่างไร ขณะที่ปีนี้งบลงทุนยังคงเดิมประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนกำไรจะถึง 1 แสนล้านบาท เท่ากับปีที่ผ่านมาหรือไม่ ต้องขอติดตามอีกครั้ง เนื่องจากครึ่งปีหลังนี้ภาพรวมหลายธุรกิจยังทรงตัว เช่น โรงกลั่น ปิโตรเคมี ธุรกิจค้าปลีก ขณะที่กระแสเงินสดในปัจจุบัน ทั้งกลุ่ม ปตท.คงอยู่ระดับ 4.5 แสนล้านบาท"

นายคงกระพัน กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจหลักที่ ปตท.ยังคงเดินหน้าในกลยุทธ์ใหม่นี้ จะผลักดันการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (OCA) เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ 

รวมทั้ง ปตท.พร้อมสนับสนุนรัฐบาลในการผลักดันโครงการดังกล่าว เพราะมองว่าพื้นที่นี้เป็นแหล่งที่มีก๊าซเยอะ มีวัตถุดิบปิโตรเคมีค่อนข้างมาก เป็นผลบวกในด้านบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองประเทศ

ส่วนของธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าต้องสร้างความน่าเชื่อถือและสนับสนุนนโยบายลดคาร์บอนให้กับ ปตท. สำหรับธุรกิจ Downstream นั้น จะต้องปรับตัว และสร้างความแข็งแรงร่วมกับพันธมิตร ส่วนธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีกนั้นจะต้องมุ่งหน้าเป็น Mobility Partner ของคนไทย พร้อมทั้วรักษาการเป็นผู้นำตลาด

ปตท.ปรับใหญ่เล็งลดสัดส่วนหุ้น บริษัทไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ

ควบรวมแบรนด์ธุรกิจ “อีวี”

ขณะที่ธุรกิจ Non-Hydrocarbon จะประเมินธุรกิจนี้ใน 2 มุม คือ 1.ธุรกิจต้องมีความน่าสนใจ 2.ต้องมีจุดแข็ง ต่อยอดได้ และมีพาร์ทเนอร์แข็งแรง โดย ปตท. มีแนวทางการลงทุนของ 3 กลุ่มธุรกิจใน Non-Hydrocarbon ประกอบด้วย 

1.ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ EV จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจบรรจุกระแสไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และจะมีการควบรวมแบรนด์ต่างๆ ภายใต้กลุ่ม ปตท. ได้แก่ บริษัท อรุณพลัส จำกัด , บริษัท ฮอริษอน พลัส จํากัด และบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด พร้อมทั้งใช้ OR Ecosystem ที่มีอยู่ทั่วประเทศให้เป็นประโยชน์

2.ธุรกิจโลจิสติกส์ โดย ปตท. จะเน้นธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ Core Business และมีความต้องการใช้ โดยยึดหลัก Asset-light และมีพันธมิตรที่แข็งแรง 

3.ธุรกิจ Life Science ปตท. จะต้องสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทางการเงิน และสร้างประโยชน์ให้กับสังคม โดย บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด จะเดินหน้าหาพาร์ทเนอร์ เพื่อต่อยอดธุรกิจ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้จะเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรก (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

ปตท.ปรับใหญ่เล็งลดสัดส่วนหุ้น บริษัทไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ

เล็งลดสัดส่วนหุ้นบริษัทในกลุ่ม ปตท.

นายคงกระพัน กล่าวว่า การปรับแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจในครั้งนี้ ยังมีการทบทวนขายสินทรัพย์ไม่สร้างกำไร โดยปัจจุบันอยู่ขั้นตอนพิจารณาทุกหน่วยธุรกิจทั้งส่วนของธุรกิจ Hydrocarbon และธุรกิจ Non-Hydrocarbon 

สำหรับวิธีการบริหารสินทรัพย์เหล่านี้ อาจไม่ใช่เพียงการขายสินทรัพย์ แต่จะพิจารณาทั้งในรูปแบบลดสัดส่วนถือหุ้นลง และหาพาร์ทเนอร์เข้ามาถือหุ้น แทน หรือหากพิจารณาแล้วพบว่าไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับ ปตท.ได้ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ก็จะพิจารณาตัดขาย โดยยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ

นอกจากนี้ ธุรกิจที่ ปตท.อยู่ระหว่างศึกษาหาพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมลงทุน อาทิ ธุรกิจโรงกลั่น และธุรกิจปิโตรเคมี เนื่องจากการหาพาร์ทเนอร์ที่ดีจะส่งเสริมให้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้น ไม่ใช่ว่า ปตท.อยู่ในจุดที่แข่งขันไม่ได้ แต่เป็นแนวทางสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจมากกว่า 

ทั้งนี้เบื้องต้นเปิดกว้างในการหาพาร์ทเนอร์ทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นของความมั่นคงทางพลังงาน แต่ ปตท.ต้องการหาพาร์ทเนอร์ที่จะทำให้ธุรกิจมั่นคง ส่วนธุรกิจที่ยังมีแผนขยาย เป็นธุรกิจที่ทำรายได้และมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง เช่น จุดชาร์จ EV เป็นธุรกิจที่ถนัดและมีการเติบโต ดังนั้นต้องมีแผนขยายให้ต่อเนื่อง

ปตท.ปรับใหญ่เล็งลดสัดส่วนหุ้น บริษัทไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ

ปตท.ครึ่งปีกำไรเพิ่มขึ้น 34.4%

สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 64,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,475 ล้านบาท หรือ 34.4% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2566 โดยผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากกำไรสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจปิโตรเคมีมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น 

ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น แม้ราคาขายเฉลี่ยปรับลดลง ประกอบกับมีการรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนและการจำหน่ายสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ขณะที่มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้น

รวมทั้งกลุ่ม ปตท.มุ่งสู่การเติบโตขององค์กรระดับโลกอย่างยั่งยืน โดยเป็นกำไรจากธุรกิจ Hydrocarbon 92% และธุรกิจ Non-Hydrocarbon 8% โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2567 ที่ 0.80 บาทต่อหุ้น เมื่อรวมกับภาษีเงินได้ ปตท. และบริษัทในเครือ นำเงินส่งรัฐรวม 35,684 ล้านบาท 

ทั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตด้านราคาพลังงาน ตั้งแต่ปี 2563 ในวงเงินกว่า 24,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

ปตท.ปรับใหญ่เล็งลดสัดส่วนหุ้น บริษัทไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ