‘พิชัย’ แนะเร่งเจรจา OCA ไทย-กัมพูชา เพิ่มโอกาสลงทุน-ลดต้นทุนพลังงาน
“พิชัย” ชี้โอกาสสำรวจแหล่งก๊าซใหม่ เร่งเจรจาแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หวังช่วยลดต้นทุนพลังงานประเทศ และอุตฯ ต่อเนื่อง อาทิ ปิโตรเคมี ไฟฟ้า
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวตอนหนึ่งในช่วงการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ถอดรหัส…โอกาสเศรษฐกิจประเทศไทย” ภายในงานเสวนาเดลินิวส์ ทอล์ก 2024 “Thailand: Future and Beyond ก้าวต่อไปของประเทศไทย“ ว่า ช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการลงทุนในมูลค่าหลายสิบล้านล้านบาท ในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด (ปัจจุบันคือพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นการลงทุนมูลค่าสูงที่คงไม่เกิดการลงทุนใหม่ ในช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไฮโดรคาร์บอนในประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงเนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งต้นทุนที่สำคัญคือความเป็นเจ้าของแหล่งทรัพยากร หรือการเป็นเจ้าของสัมปทาน
ซึ่งระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ไทยเจอแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและมีการแบ่งปันผลประโยชน์สัมปทานและกำหนดราคาที่ชัดเจน แม้ว่าราคาปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นจากเดิมแล้วกว่า 3 เท่า อยู่ที่ 6 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู แต่ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของราคาตลาด นั่นหมายความว่าไทยจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันจากต้นทุนที่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของราคาตลาด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศอยู่ที่ 5,000 ล้านลูกบาสก์ฟุต แต่ผลิตได้เองเพียง 2,200 ล้านลูกบาสก์ฟุต และส่วนที่เหลือต้องนำเข้าในราคามากกว่า 2 เท่า ของราคาในประเทศกว่า กรณีที่ไม่มีสงคราม ถ้ามีสงครามก็จะเพิ่มไปอีก 3-4 เท่า ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจต่อเนื่องมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปิโตรเคมี ก๊าซหุงต้ม และไฟฟ้า ซึ่งมีต้นทุนธุรกิจหลักจากต้นทุนเชื้อเพลิง
“หมายความว่าประเทศไทยจะไม่สามารถแข่งขันได้เลยหากไม่ได้เป็นเจ้าของแหล่งทรัพยากร ดังนั้นเราต้องกล้าๆ ที่จะเปิดการสำรวจอีกครั้ง ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีทรัพยากรอีกมาก“
อย่างไรก็ดี พื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ในกรอบการเจรจาตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา พื้นที่ทับซ้อนทางพลังงาน (Overlapping Claims Area : OCA) ซึ่งคาดว่าน่าจะมีปริมาณทรัพยากรที่ช่วยให้อุตสาหกรรมในประเทศต่อยอดและแข่งขันไปได้อีก 20-25 ปี ด้วยต้นทุนที่ถูกลงเหลือเพียง 2 ใน 3
นายพิชัย กล่าวว่า หากสามารถทำได้จะเป็นการดึง S-Curve ขึ้นมา สำหรับธุรกิจเก่าที่มีการลงทุนไปแล้วให้เกิดความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้เกิดขึ้น เกิดความคิดสมานฉันท์ในการนำไปสู่เรื่องนี้