‘พิชัย’ เล็งขยับกองทุนฯ 3 ล้านล้าน เปลี่ยน ‘การออม’ เป็น ‘การลงทุน’ ของประเทศ

‘พิชัย’ เล็งขยับกองทุนฯ 3 ล้านล้าน เปลี่ยน ‘การออม’ เป็น ‘การลงทุน’ ของประเทศ

การลงทุนภาครัฐเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างขีดสามารถแข่งขัน รัฐมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในการลงทุนที่ผ่านมาการลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น 

KEY

POINTS

  • การลงทุนภาครัฐเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างขีดสามารถแข่งขัน
  • รัฐมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในการลงทุนที่ผ่านมาการลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น 
  • รองนายกฯและรมว.คลัง พูดถึงเงินออมของประทศที่มีอยู่กว่า 3 ล้านล้าน ซึ่งควรจะใช้ประโยชน์ในการลงทุน 
  • การลงทุนที่คาดหวังจะเกิดขึ้นจริงจากตัวเลข BOI ในช่วง 3 ปีจะอยู่ที่ 1.68 ล้านล้านบาท 

การลงทุนของภาครัฐถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว โดยเฉพาะการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงลงทุนในทุนมนุษย์จะทำให้ประเทศมีขีดความสามารถในทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระยะยาว ที่ผ่านมารัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณในการลงทุนไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 หากแต่ข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณทำให้การลงทุนของรัฐบาลก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก

แนวคิดเรื่องของการหาแหล่งเงิน หรือหาวิธีการใหม่ๆเพื่อเพิ่มการลงทุนให้กับประเทศของรัฐบาลปรากฎให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ

ล่าสุดในการปาฐกถาพิเศษของ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวข้อ “พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในยุคโลกเดือด” ในงาน 75 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วง 35 ปี ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตที่น้อยลงมาตามลำดับ จากยุคโชติช่วงชัชวาลย์สู่การลงทุนของภาคอุตสาหกรรมที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามหลังการเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี 40 และสินเชื่อซับไพรม์ในปี 2551 จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยก็ค่อยๆ เติบโตในระดับต่ำลง

 

เล็งเปลี่ยนเงินออมประเทศเป็นการลงทุน

ในอดีตเศรษฐกิจไทยเติบโตได้มาก ทำให้ประเทศมีเงินออมมากขึ้น มีการตั้งกองทุนต่างๆ รวมมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท ที่ออมอยู่ในกองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) และ กองทุนประกันสังคม อย่างไรก็ดีในช่วง 26 ปีที่ผ่านมากลับไม่มีการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ที่จะเป็นการสร้างบุญใหม่เพื่ออนาคต โดยสัดส่วนการลงทุนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เฉลี่ยอยู่ที่ 26% เท่านั้น ทั้งที่ควรจะอยู่ในระดับ 30-35%

นายพิชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยคือปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างภาษี แหล่งน้ำ พลังงานสะอาด

“สิ่งที่จะต้องทำคือการกลับมาทบทวนและเร่งการลงทุนในสิ่งเหล่านี้สำหรับดึงดูดการลงทุนใหม่ที่จะเข้ามา เพื่อสร้างรายได้ประเทศให้มากขึ้น”

 

คาดลงทุน 3 ปีแตะ 1.68 ล้านล้าน 

ทั้งนี้เป้าหมายในช่วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2568 คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนผ่านคำขอส่งเสริมการลงทุนที่มีนักลงทุนขอบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แล้ว เกิดขึ้นจริงราว 1.68 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2568 คาดมีเงินลงทุนสูงถึง 6.38 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมา คือ กลุ่มเกษตรอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักร

 

หวังแบงก์ช่วยแก้หนี้ครัวเรือน

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สามารถทำได้คือการเร่งแก้ปัญหาในส่วนของหนี้ครัวเรือน เบื้องต้นแก้เท่าที่มีโดยที่ยังไม่ได้เพิ่มกลไกเป็นพิเศษ หวังว่าสถาบันการเงินที่มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งจะช่วยได้ เช่น การลดภาระหนี้โดยการยืดเวลาผ่อนชำระ การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น