สิงคโปร์ไฟเขียวแมลงเพื่อการบริโภค 16 ชนิด โอกาสไทยเจาะตลาด
"สิงคโปร์" อนุมัติแมลงเพื่อการบริโภค 16 ชนิด "จิ้งหรีด ตั๊กแตน ตั๊กแตนหนวดสั้น (Locusts) หนอนใยอาหาร และหนอนไหมหลายชนิด" เสริมความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับสิงคโปร์ ไทยสบช่องเพิ่ม”ตลาด”ส่งออกแมลงมากขึ้น
KEY
POINTS
Key Point
- คาดว่ามูลค่าการตลาดของอาหารโปรตีนจากแมลงในปี 2570 จะสูงถึง 2,067.9 ล้านดอลลาร์
- 8 ก.ค. 2567 สำนักงานอาหารสิงคโปร์ (SFA) อนุมัติแมลงเพื่อการบริโภค 16 ชนิด
- หลายบริษัทเตรียมนำเข้าอาหารแปรูปจากแมลงไปจำหน่ายที่สิงคโปร์
- ไทยมีศักยภาพส่งออกสินค้าแมลงไปต่างประเทศ
- ไทยผลิตแมลงเศรษฐกิจได้มากกว่า 7,000 ตันต่อปี
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศให้แมลงเป็น “อาหารทางเลือกใหม่” หรือ “อาหารสำหรับประชากรในอนาคต” ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้บริโภคแมลงอยู่แล้วกว่า 2,000 ล้านคน มีแมลงมากถึง 1,900 สายพันธุ์ที่ถูกบันทึกว่ามีการบริโภค เช่น แมลงปีกแข็ง ตัวบุ้ง ด้วง ผึ้ง ตัวต่อ มด ตั๊กแตน จิ้งหรีด จักจั่น แมลงปอ ปลวก เพลี้ยหอย เพลี้ยเกล็ดและเพลี้ยกระโดด เป็นต้น
สินค้าจากแมลงจึงเป็นอาหารแนวใหม่ที่เป็นเทรนด์สำคัญของโลกโดยเฉพาะสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความกังวลในเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร สินค้า”แมลง”จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการบริโภคแหล่งโปรตีนทดแทนอาหารประเภทเนื้อสัตว์ โดยตลาดแมลงทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 400 ล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าในปี 2570 มูลค่าการตลาดของอาหารโปรตีนจากแมลงจะสูงถึง 2,067.9 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแนวโน้มการบริโภคแมลงเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ
ล่าสุดสำนักงานอาหารสิงคโปร์ (Singapore Food Agency : SFA) ได้อนุมัติแมลงเพื่อการบริโภค 16 ชนิด โดยข้อมูลจากเว็ปไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสิงคโปร์ รายงาน ว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2567 สำนักงานอาหารสิงคโปร์ (Singapore Food Agency : SFA) ได้อนุมัติแมลงเพื่อการบริโภค 16 ชนิด ซึ่งประกอบไปด้วยจิ้งหรีด ตั๊กแตน ตั๊กแตนหนวดสั้น (Locusts) หนอนใยอาหาร และหนอนไหมหลายชนิด หลังจากที่ในปี 2565 SFA ได้เริ่มการปรึกษาหารือสาธารณะเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการอนุญาตให้บริโภคแมลง 16 สายพันธุ์ และในเดือนเม.ย. 2566 SFA ระบุว่า จะอนุมัติแมลงเพื่อการบริโภคในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 และกำหนดเวลาดังกล่าวได้ถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567
สำนักงานอาหารสิงคโปร์ ระบุว่า ในส่วนของข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของอาหารและการติดฉลากว่า ผู้ที่ประสงค์จะนำเข้าหรือทำฟาร์มแมลงเพื่อการบริโภคของมนุษย์หรืออาหารสัตว์จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ซึ่งรวมถึงการจัดทำเอกสารหลักฐานว่าแมลงที่นำเข้านั้นมาจากสถานประกอบการที่ได้รับการควบคุมความปลอดภัยของอาหาร และไม่ได้จับในป่า สำหรับแมลงที่ไม่อยู่ในรายชื่อ 16 รายการของ SFA นั้นจะต้องได้รับการประเมินเพื่อให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยสำหรับการบริโภค ทั้งนี้ บริษัทที่ขายอาหารบรรจุหีบห่อที่มีแมลงจะต้องติดฉลากบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าจะซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหรือไม่
ในปัจจุบันบริษัทผลิตอาหารจากแมลงบางแห่ง เช่น บริษัท Future Protein Solutions ในสิงคโปร์ และบริษัท Asia Insect Farm Solutions ได้ตัดสินใจเลิกกิจการ เนื่องจากการอนุมัติที่กินเวลายาวนานส่งผลต่อความสามารถในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ในขณะเดียวกัน หลายๆ บริษัท เช่น บริษัท Altimate Nutrition และร้านอาหาร House of Seafood หวังว่าจะได้ดำเนินการเสนอผลิตภัณฑ์แมลงสู่ตลาดในเร็วๆ นี้ และหลายๆบริษัทได้ทดลองตลาดโดยการนำแมลงมาใส่ในอาหารเพื่อการบริโภค เช่น การนำแมลงผงมาเป็นส่วนผสมในโปรตีนอัดแท่ง
ทั้งนี้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสิงคโปร์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีข้อแนะนำสำหรับผู้ส่งออกไทย ว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติได้จัดว่าแมลงเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนกว่าเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีปริมาณโปรตีนสูงและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเมื่อเทียบกันการทำฟาร์มปศุสัตว์ การอนุมัติการบริโภคแมลงครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในช่องทางการเสริมความมั่นคงทางอาหารให้กับสิงคโปร์มากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์ได้พยายามมองหาแหล่งโปรตีนทางเลือกที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น
“ไทยมีศักยภาพในการส่งออกแมลง ทั้งในการเป็นฟาร์มผลิตและผู้ส่งออกแมลง และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแมลงต่างๆ การอนุมัตินำเข้าแมลงเพื่อการบริโภคของ SFA ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดมายังสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่สนใจตลาดสิงคโปร์ควรศึกษาวิธีการข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์ ความปลอดภัยในกระบวนการผลิตและ การแปรรูป เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป”
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ประเทศไทยสามารถผลิตแมลงเศรษฐกิจได้มากกว่า 7,000 ตันปี และมีฟาร์มเลี้ยงมากกว่า 20,000 ฟาร์ม โดยเฉพาะฟาร์มจิ้งหรีด