น้ำดี เกษตรกร ลุยปลูก'ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์' หลังนา แนะเช็คดิน ก่อนใส่ปุ๋ย
กระทรวงเกษตรฯ คาดเกษตรกรร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังนามากขึ้น หวังใช้ทดแทนการนำเข้า 4 ล้านตัน ด้านกรมวิชาการเกษตร แนะขั้นตอนการปลูก วิเคราะห์ดินก่อนใส่ปุ๋ย ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต10%
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปีนี้คาดว่าเกษตรกรจะเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังนามากขึ้น เนื่องจากราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นจูงใจให้ขยายพื้นที่เพาะปลูก ประกอบกับปริมาณน้ำที่คาดว่าจะเพียงพอ จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการส่งเสริมโครงการดังกล่าว ส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนการนำเข้าอีกประมาณ 4 ล้านตันให้เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์
โดย ปี 2567 คาดว่าจะมีผลผลิตรวม 4.99 ล้านตัน ราคาเฉลี่ย (ม.ค. – มิ.ย.)ที่เกษตรกรขายได้ อยู่ที่ 8.78 บาทต่อกิโลกรัม มูลค่าการผลิต 43,787.27 ล้านบาท
นายอนุสรณ์ เทียนศิริฤกษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรให้เป็น 3 เท่า ภายใน 4 ปี ตามนโยบายรัฐบาล กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา ที่มีภาระกิจหน้าที่ในการศึกษาค้นคว้า วิจัยและพัฒนาวิชาการ เกี่ยวกับ เทคโนโลยีปุ๋ยและสารปรับปรุงดิน รวมไปถึงการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยกับข้าวโพด ให้เกษตรกรที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลการวิเคราะห์ดินก่อนให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ย พบช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ประมาณ 20% จากต้นทุนของปุ๋ย ที่มีประมาณ 30% ของต้นทุนการเพาะปลูก และยังทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 10% การวิเคราะห์ดินก่อนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ร่วมกับการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เกษตรกรไม่ใช้ปุ๋ยเกินความจำเป็นหากดินมีธาตุอาหารชนิดนั้นมากอยู่แล้ว
สำหรับสภาพพื้นดินที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คือ ดินมีเนื้อในดินร่วน ดินร่วนเหนียว ดินร่วนปนทราย และดินเหนียวมีการระบายน้ำดี และถ่ายเทอากาศดี มีค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ในช่วง 5.5-7.5 อินทรียวัตถุมากกว่า 1 % ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และโพแทสเซียมที่เป็นโยชน์มากกว่า 60 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ดินลึกมากกว่า 75 เซนติเมตร ถ้าดินมีความเป็นกรด-ด่าง ต่ำกว่า 5.0 จะเกิดความเป็นพิษของอะลูมินัม แมงกานีส และเหล็ก
แต่ถ้าดินมีค่าความเป็นกรด-ด่างสูงกว่า 8.0 จะทำให้ค่าความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารลดลง เช่น ฟอสฟอรัส สังกะสี และเหล็ก การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเป็นการใช้ปุ๋ยให้ตรงกับระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินและความต้องการธาตุอาหารของข้าวโพดผลวิเคราะห์ดินสามารถบอกถึงปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืชว่าอยู่ในระดับใดเพื่อเป็นแนวทางการใช้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมตามความต้องการของข้าวโพด สามารถใช้ปุ๋ยได้ถูกอัตรา
กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ที่ได้มีการจัดทำตารางการผสมปุ๋ยใช้เองสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยทั่วไปแบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง คือ 1.ใส่ปุ๋ยรองพื้นพร้อมปลูกโดยผสมปุ๋ย 18-46-0, 46-0-0 และ 0-0-60 ตามน้ำหนักที่กำหนดแล้วใช้ให้หมดครั้งเดียว 2. ใส่ปุ๋ย 46-0-0 เมื่อข้าวโพดอายุ 25-30 วันหลังปลูก โดยวิธีโรยข้างแถวแล้วกลบ
สำหรับการปรับปรุงดินก่อนปลูกนั้น 1.กรณีดินมีอินทรียวัตถุต่ำ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 700 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านให้ทั่วพื้นที่แล้วไถกลบก่อนปลูก 2. กรณีดินมีค่าความเป็นกรด-ด่าง น้อยกว่า 5.5 ควรปรับปรุงดินด้วยปูนโดโลไมต์ อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ โดยหว่านให้ทั่วแปลงก่อนไถเตรียมดิน
วิธีการเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีรายละเอียดดังนี้ 1. แบ่งแปลงเก็บตัวอย่างดินตามสภาพของพื้นที่ ชนิดดิน ความลาดเอียงของพื้นที่ เพื่อให้พื้นที่มีความสม่ำเสมอ ขนาดพื้นที่ 5-10 ไร่ต่อแปลง 2. เก็บตัวอย่างดินให้ทั่วพื้นที่อย่างน้อย 5-10 จุดต่อแปลง ที่ความลึก 0-20 เซนติเมตร 3. นำตัวอย่างดินมาคลุกให้เข้ากัน และแบ่งใส่ถุงประมาณ 1 กิโลกรัมพร้อมบันทึกรายละเอียดตัวอย่าง เช่น สถานที่เก็บตัวอย่าง เป็นต้น และ 4. นำตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์ตามหน่วยงานที่รับวิเคราะห์ตัวอย่างดิน
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรมีการเก็บตัวอย่างดินหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตมาวิเคราะห์ในทุก ๆ ปี เพื่อทราบระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และ หากเกษตรกรต้องการปรึกษาขั้นตอนการเก็บตัวอย่างดินหรือ การปรับปรุงดิน และการใช้ปุ๋ย สามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เลขที่ 50 ลาดยาว จตุจักร กรุงเทพฯ โทร. 0-25797514 หรือ 0-25794116