เศรษฐกิจโตตํ่ากับความเหลื่อมลํ้าแยกกันไม่ออก | บัณฑิต นิจถาวร

เศรษฐกิจโตตํ่ากับความเหลื่อมลํ้าแยกกันไม่ออก | บัณฑิต นิจถาวร

สัปดาห์ที่แล้ว สภาพัฒน์ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสสองขยายตัวร้อยละ 2.3 ประเมินว่าทั้งปีเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 2.3-2.8 ซึ่งถ้าเป็นจริง ปีนี้จะเป็นปีที่ 12 ที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวตํ่ากว่าร้อยละ 3 ตั้งแต่ปี 2000 ตอกยํ้าปัญหาเศรษฐกิจโตตํ่าที่ต่อเนื่องและรุนแรง

เศรษฐกิจที่โตตํ่าต่อเนื่อง จะทำให้ความเหลื่อมลํ้าและความยากจนในประเทศมีมากขึ้น สวนทางกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ คือประเทศไม่เจริญขึ้นและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศแย่ลง นี่คือความรุนแรงของปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศเรามี และนี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ตั้งแต่ปี 1996 ถึงปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.9 ต่อปีซึ่งดูไม่สูงไม่ต่ำ แต่ถ้าเจาะลึกช่วง 16 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2007 ที่การเมืองในประเทศเต็มไปด้วยความขัดแยัง อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงเหลือเฉลี่ยร้อยละ 3.5 ปี 2007-2013 และเฉลี่ยร้อยละ 1.3 สิบปีที่ผ่านมา

 ปีที่แล้วเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 1.9 เทียบกับอัตราเฉลี่ยร้อยละ 4.2 ของประเทศในอาเซียน นี่คือปัญหาเศรษฐกิจโตตํ่าของประเทศเรา ที่เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวในอัตราที่สูงได้

สัปดาห์ที่แล้วผมเขียนเรื่องนี้ อธิบายว่าเศรษฐกิจโตตํ่าเป็นผลจากผลิตภาพการผลิตของประเทศที่ตํ่า เห็นได้ในทุกสาขาเศรษฐกิจไม่ว่าภาคเกษตร อุตสาหกรรม หรือบริการ คือ เราเพิ่มผลผลิตได้น้อยจากปัจจัยการผลิตที่เพิ่มเข้าไป

ซึ่งสาเหตุมาจากข้อจํากัดด้านการศึกษาและทักษะในกําลังแรงงานของประเทศ โครงสร้างพื้นฐานล้าสมัยโดยเฉพาะในชนบท การปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในภาคการผลิตที่ช้า การควบคุมโดยภาคราชการที่มากเกิน และการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง ทั้งหมดทำให้เศรษฐกิจไทยไม่มีฐานที่จะขยายตัวในอัตราที่สูงได้

เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ รายได้ของคนในประเทศก็มีข้อจำกัด ไม่สามารถเพิ่มในอัตราที่สูงโดยเฉพาะรายได้ของคนส่วนใหญ่ที่จะไม่เพิ่มในอัตราที่ดี ทำให้ความเหลื่อมลํ้าในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น จากที่รายได้คนส่วนใหญ่ซึ่งไม่รวยจะเพิ่มในอัตราที่ต่ำกว่ารายได้ของคนที่รวยเพราะ

1.คนส่วนใหญ่ไม่ใช่คนรวย รายได้หลักจึงมาจากการทํางาน คือเงินเดือนและค่าจ้าง ในเศรษฐกิจที่โตตํ่า การเพิ่มของรายได้ที่เป็นเงินเดือนและค่าจ้างจะตํ่าตามไปด้วย

 เพราะคนที่ต้องการทํางานมีมากแต่มีงานให้ทําน้อย ทําให้อัตราค่าจ้างและสัดส่วนเงินเดือนค่าจ้างในรายได้รวมของประเทศลดลง ตรงข้ามกับสัดส่วนกำไรต่อรายได้รวมของประเทศที่จะเพิ่มขึ้น เพราะผู้ประกอบการสามารถผลักภาระจากรายได้ที่โตตํ่าให้กับลูกจ้างโดยลดการเพิ่มเงินเดือนและค่าจ้างเพื่อรักษากำไร 

และจากที่คนรวยมีรายได้จากหลายทาง เช่น กําไรจากธุรกิจ และรายได้จากการลงทุนในทรัพย์สิน รายได้ของคนรวยซึ่งเป็นคนส่วนน้อยจะเพิ่มในอัตราที่สูงกว่ารายได้ของคนส่วนใหญ่ การกระจายรายได้จึงแย่ลงและความเหลื่อมลํ้าในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น

2.เมื่อเศรษฐกิจโตต่ำ โอกาสในการทํามาหากินและเติบโตก็จะลดลงตามไปได้ด้วย ทําให้คนที่ต้องการยกฐานะตัวเอง ต้องการไต่เต้าทางเศรษฐกิจจะมีโอกาสน้อยลง 

ตรงข้ามกับเศรษฐกิจที่เติบโตดีที่โอกาสเหล่านี้จะมีตลอด คนในสังคมสามารถรวยขึ้นหรือมีโอกาสดีขึ้นในทางเศรษฐกิจทําให้ฐานะดีขึ้นส่งผลให้ความเหลื่อมลํ้าในประเทศลดลง

ในทางเศรษฐศาสตร์ นี่คือกลไกที่จะลดความความเหลื่อมล้ำ เป็นกลไกที่มากับการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือ Trickle down effect แต่ในเศรษฐกิจที่โตต่ำ กลไกนี้จะทำงานตรงข้าม ผลคือความเหลื่อมลํ้าจะมีมากขึ้น

3.เมื่อความเหลื่อมลํ้ามีมากขึ้น ความยากจนวัดโดยสัดส่วนประชากรที่มีรายได้ตํ่ากว่าระดับความยากจนก็จะเพิ่มขึ้นโดยปริยาย เพราะเมื่อรายได้เพิ่มได้น้อยเทียบกับรายจ่ายหรือราคาสินค้า คนก็จะจนลงทั้งในแง่รายได้และความสามารถที่จะจับจ่ายใช้สอย

ผลคือความยากจนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งคนที่ยากจนอยู่แล้วยิ่งจนหนักขึ้นและคนที่เคยมีรายได้เหนือความยากจนกลายมาเป็นคนยากจนเพราะรายได้ลดลง ความยากจนที่เพิ่มขึ้นจึงสะท้อนความล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจ คือประเทศไม่เจริญขึ้นแต่เจริญลง

สำหรับประเทศเรา ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าเราได้มาถึงจุดนี้แล้ว คือการกระจายรายได้หรือความเหลื่อมลํ้าในประเทศเลวร้ายลงมากและความยากจนที่เคยลดลงต่อเนื่องและถือเป็นความสำเร็จของการพัฒนาประเทศได้กลับมาเพิ่มสูงขึ้น

โดยปีที่แล้วข้อมูลจากธนาคารโลก ชี้ว่าการกระจายรายได้ในประเทศไทยในปี 2021 เหลื่อมล้ำมากสุดกว่าทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดัชนีค่าจินีหรือ Gini Index ที่วัดความเหลื่อมล้ำของรายได้ในระบบเศรษฐกิจอยู่ที่ 43.3 ซึ่งสูงมากและสูงเป็นอันดับที่ 13 ใน 63 ประเทศที่ธนาคารโลกจัดทําข้อมูล อันนี้เฉพาะรายได้ต่อปี

แต่ถ้าวัดความเหลื่อมล้ำโดยดูจากการกระจายตัวของความเป็นเจ้าของทรัพย์สินและความมั่งคั่งหรือ Wealth ที่ประเทศเรามีระหว่างประชากรในประเทศ ความเหลื่อมลํ้ายิ่งเลวร้ายมากขึ้นไปอีก คือ คนที่รวยสุด 10 เปอร์เซ็นต์แรกในประเทศไทยเป็นเจ้าของมากกว่าครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินที่ประเทศมี เช่น ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ หุ้น เงินฝาก พันธบัตร เป็นต้น

และในรายงานทรัพย์สินโลกจัดทําโดย ธนาคารเครดิตสวิส ประเทศไทยในปี 2018 คนที่รวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์แรกถือครองหรือเป็นเจ้าของกว่าร้อยละ 68 ของทรัพย์สินทั้งหมดที่ประเทศมี นี่คือความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศ

เมื่อคนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนก็ยิ่งจนลงและมีจํานวนมากขึ้น ความยากจนในประเทศไทยเริ่มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1988 จากผลของการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ตั้งแต่ปี 2015 สะท้อนอาการเศรษฐกิจโตตํ่าและความเหลื่อมลํ้าที่แย่ลง ตัวเลขความยากจนในระบบเศรษฐกิจกลับมาเพิ่มสูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นในปี 2016 2018 2020 

ในปี 2018 อัตราความยากจนอยู่ที่ ร้อยละ 9.8 ของประชากร เท่ากับพลเมือง 6.7 ล้านคน กระจายอยู่ใน 61 จังหวัดของประเทศ ความยากจนที่เพิ่มขึ้นทําให้รัฐบาลต้องเพิ่มวงเงินช่วยเหลือในงบประมาณประจำปี

ทําให้ตัวเลขอัตราความยากจนหลังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลลดลง ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 6.3 แต่ถ้าไม่รวมความช่วยเหลือจากภาครัฐ อัตราความยากจนประเทศเราจะสูงกว่าร้อยละ 6 มาก และจะยิ่งเพิ่มขึ้นถ้าเศรษฐกิจไม่โต

นี่คือสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ ที่เศรษฐกิจไม่ขยายตัว แต่คนรวยยิ่งรวยมากขึ้นและคนจนยิ่งจนลงและมีจํานวนมากขึ้น เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขทั้งโดยทําให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้น และโดยกระบวนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เปิดกว้างและให้โอกาสประชาชนมีส่วนร่วม และได้ประโยชน์โดยตรง เช่น ให้มีงานทํา มีโอกาสในการหารายได้

ที่ต้องตระหนักและทําใจคือ ในการเมืองบ้านเรา การกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องที่นักการเมืองและนักเลือกตั้งไม่สนใจและไม่ต้องการพูดถึง รวมถึงกลุ่มทุนที่สนับสนุน จึงจะไม่มีการกําหนดเรื่องนี้ในนโยบายเศรษฐกิจหรือในวิสัยทัศน์ของนักการเมืองหรือพรรคการเมือง เหมือนกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่นักการเมืองจะไม่พูดถึง

เศรษฐกิจโตตํ่ากับความเหลื่อมลํ้าแยกกันไม่ออก | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]