กู้วิกฤตทักษะคนไทย หลุดพ้นความยากจน นโยบายที่เป็นจริงได้
กสศ.นำเสนอแนวทางกู้วิกฤตทักษะคนไทย หลุดพ้นจากความยากจน แนะภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงทุนพัฒนาทักษะทุกชีวิต ทั้งทักษะการอ่าน ทักษะดิจิทัล และทักษะสังคม อารมณ์ ช่วยให้คนหลุดพ้นจากความยากจนด้วยทัศนคติ มากกว่าความรู้
KEY
POINTS
- ทัศนคติสำคัญกว่าความรู้ ซึ่งคนที่ประสบความสำเร็จมาจากทัศนคติ ความเพียร ความตั้งใจ และมีทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
- ควรลงทุนเรื่องทักษะทุนชีวิตให้เต็มที่ ยิ่งประเทศไทยเป็นลักษณะรวยกระจุก จนกระจาย แสดงให้เห็นว่ามีคนจนจำนวนมาก ดังนั้น ไม่ควรจะอั้น มีเท่าใดควรลงทุนอย่างชาญฉลาด
- ทักษะทุนมนุษย์ เป็นวิกฤตที่ใหญ่มาก และไม่ใช่ว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
จากรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2566 พบว่าทุนมนุษย์ในเด็ก เยาวชนวัยแรงงานตอนต้นอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ระดับปฐมวัยมีความพร้อมด้านคณิตและทักษะการฟังลดลง ขณะที่ผลศึกษาเยาวชนวัยแรงงานช่วงต้น (ม.3) สูญเสียความพร้อมด้านอาชีพ มีการประเมินว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทักษะ Soft Skill 7 ด้านของเด็กจากครัวเรือนยากจนมีความถดถอยกว่าเดิม 30-50 % แนะประเทศไทยวางนโยบายและทรัพยากรใหม่ในการจัดการศึกษายุติวงจรยากจนข้ามรุ่น
ประเทศไทยอาจมีการฟื้นตัวเป็นลักษณะ K-Shaped (K-Shape Recovery) หมายถึงช่องว่างความเหลื่อมล้ำของเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกับครัวเรือนที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากกว่าจะยิ่งถ่างกว้างออกไปมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 จะทยอยครบกำหนดในอีก 5-7 ปี หากไม่เร่งลงทุนมนุษย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุเป้าหมายนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
4แนวทางพัฒนา “ทุนมนุษย์” สร้างเศรษฐกิจไทยโตยั่งยืน
ทักษะทุนชีวิตคนไทยต่ำกว่าเกณฑ์ เพิ่มการลงทุนเยาวชน วัยแรงงาน
ทัศนคติสำคัญกว่าความรู้
วันนี้ (6 มี.ค.2567)กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดเวทีวิชาการ "Fostering Foundation Skills in Thailand" กู้วิกฤตทักษะคนไทย หลุดพ้นความยากจน โดยมี
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ. กล่าว "เสวนาแลกเปลี่ยน: กู้วิกฤตทักษะคนไทย หลุดพ้นความยากจน นโยบายที่เป็นจริงได้" ว่า เป็นเรื่องจริงที่คนจนมักจะมีทักษะน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากขาดเงินทองที่จะทำให้ตัวเองได้ไปเรียนรู้ทักษะ หรือเพิ่มเติมองค์ความรู้ใหม่ๆ
นอกจากนั้น จะมีเรื่องความเปราะบางอื่นๆ เช่น ตกงาน เจ็บป่วย ทำให้ไม่มีเวลาสะสมทักษะ เรื่องทักษะพื้นฐาน หรือทุนชีวิต สำคัญกับคนยากจนอย่างมาก เพื่อให้สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นช่างฝีมือชั้นดี ต้องมีทักษะเฉพาะทาง ซึ่งในยุคใหม่ทักษะเฉพาะทางอาจไม่เพียงพอ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว จำเป็นต้องมีทักษะทุนชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะการอ่าน ทักษะดิจิทัล ทักษะสังคมและอารมณ์
“ผมพูดเสมอว่าทัศนคติสำคัญกว่าความรู้ ซึ่งคนที่ประสบความสำเร็จมาจากทัศนคติ มีความเพียร ความตั้งใจมีทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เราควรลงทุนในเรื่องของทักษะทุนชีวิตให้เต็มที่ ยิ่งประเทศไทยเป็นลักษณะรวยกระจุก จนกระจาย แสดงให้เห็นว่ามีคนจนจำนวนมาก ดังนั้น ไม่ควรจะอั้น มีเท่าใดควรลงทุนอย่างชาญฉลาด เช่น เรื่อง Soft Power เป็นกลุ่มที่อยู่ในทักษะ ควรจะมีการจัดสรรงบเรื่องนี้ได้”ดร.สมชัยกล่าว
พัฒนาทักษะลงทุนแสนกว่าล้านคุ้มค่า
ทักษะทุนชีวิตมีความสำคัญอย่างมาก สมัยก่อนจะหาเงินได้ต้องจบปริญญาตรี แต่กว่าจะเรียนจบปริญญาตรีใช้เวลา 16 ปี แต่หากมีทักษะทุนชีวิต เด็กอายุ 12-13 ปี อาจจะหาความรู้ได้ด้วยตนเอง และหาเงินได้แล้ว รวมถึงควรมีแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดีๆ ทำให้ไม่ต้อง
ดร.สมชัย กล่าวต่อไปว่าส่วนการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะทุนชีวิต ต้องมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนในการพัฒนาทักษะ ซึ่งหากแบ่งออกเป็นขนม 3 ชั้น ชั้นล่างสุด คือ ทักษะทุนชีวิตที่ทุกคนควรจะต้องมี และในกลุ่มของ ชนชั้นกลาง และกลุ่มคนแรงงาน ที่มีการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งมีประมาณ 20 ล้านคน คนละ 9,000 บาท รวมแล้วลงทุนแสนกว่าล้านบาท ก็ยังคุ้มค่า
ในกลุ่มนี้ควรได้รับการลงทุนพัฒนาทักษะทุนชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ควรต้องมีโปรแกรมทักษะทุนชีวิต และอยากให้เป็นทักษะ 3+2 คือทักษะการอ่าน ทักษะดิจิทัล ทักษะสังคมและอารมณ์ แล้ว เสริมความรู้ในการลงทุน และสุขภาพ ให้แก่ทุกคน นอกจากนั้นควรจะมีการเพิ่มการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตให้แก่ทุกคน
งานกว่าหนึ่งพันล้านตำแหน่งถูกกดดันให้ปรับตัว
ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่าจากงานวิจัย Prakerja Model:National Platform for Reskilling ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งโครงการดังกล่าวได้นำเสนอถึงความสำคัญในการปรับสมรรถนะแรงงาน ในโลกที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
ซาเดีย ซาฮิดี หนึ่งในคณะกรรมการบริหาร World Economic Forum ชี้ว่าภายในปี 2023 จะมีงานกว่าหนึ่งพันล้านตำแหน่ง หรือราว 1ใน3 ของงานทั้งหมดในโลกถูกกดดันให้ปรับตัว เพราะการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ปัจจุบันงานราว 75 ล้านตำแหน่งกำลังลดความสำคัญลง และมีงานอีกกว่า 133 ล้านตำแหน่ง กำลังเกิดขึ้นใหม่
อินโดนีเซียต้องการทำโครงการปรับทักษะแรงงานครั้งใหญ่ โดยรัฐจะอุดหนุนจากฝั่งอุปสงค์ เพื่อให้ประชาชนนำเงินอุดหนุนดังกล่าวไปซื้อบริการปรับทักษะตามความสนใจของตนเอง ภาครัฐก็ร่วมมือกับแพลตฟอร์มด้านการศึกษา ทำมาตรฐานและคัดสรรหลักสูตรที่มีคุณภาพสูงมาให้ผู้เรียนได้เลือก โดยผู้ผลิตเนื้อหาหลักสูตรเป็นเอกชน
จากการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยมีการนำ 3 ทักษะทุนชีวิต ทั้งทักษะด้านการอ่าน ทักษะดิจิทัล และทักษะสังคม อารมณ์ พบว่า ในแต่ละปีสามารถขับเคลื่อนแรงงานได้มากกว่า 5 ล้านคน แรงงานขึ้นระบบได้ภายใน 1 ปี บรรลุเป้าหมายได้ภายใน 3 ปี และโครงการดังกล่าวตรงกับความต้องการของแรงงานและภาคเอกชน
ดังนั้น ผลสำเร็จของโครงการ พบว่าทักษะเพิ่มขึ้น เพิ่มโอกาสจ้างงาน 27% ของผู้เรียนสามารถหางานทำได้ และ18% ปรับเปลี่ยนงานใหม่ไปสู่งานที่มีมูลค่าสูงขึ้น มีรายได้สูงขึ้นโดยเฉลี่ย 10% และหากนับเฉพาะผู้ที่มีสถานะตกงานจะพบว่า หลังเรียนจบมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 32%
นอกจากนั้นผลบวกที่ไม่คาดฝัน พบว่า ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินดิทัลได้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะโครงการนี้ใช้ระบบโอนเงินด้วยกระเป่าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และปี 2021พบว่ามีผู้ร่วมโครงการรวม 1.5 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่เคยมีบัญชีมาก่อน อีกทั้ง ผู้เรียนกว่า 70% ยังใช้บริการโอนเงินและ 40% ใช้บริการชำระดิจิทัล แม้จบโครงการไปแล้ว
5 สูตรลับบทเรียน Prakerja Model
ดร.แบ๊งค์ กล่าวต่อว่าบทเรียนที่ประเทศไทยจะได้จากโครงการ Prakerja Model มีทั้งหมด 5 สูตรลับ ได้แก่
- รัฐเป็นผู้ประสานและจัดระบบ เอกชนทำเนื้อหา โดนจะต้องมีระบบตลาดความรู้หรือแพลตฟอร์ ที่เป็นการรวยรวมนำเสนอวิชาอบรมทักษะที่หลากหลาย มีระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ ควบคุมคุณภาพหน่วยจักการเรียนการสอน และคุมคุณภาพรายวิชา นอกจากนั้นต้องมีผู้ให้บริการอบรมทักษะ ผู้ที่ได้รับผลกระโยชน์/ผู้เรียนตามความเหมาะสม มีระบบการจ่ายเงินอุดหนุน เป็นการจ่ายผ่านผู้เรียนให้เป็นคนเลือกการอบรม และระบบการหางาน และหาแรงงาน
- ออกแบบแรงจูงใจที่เหมาะสม โดยผู้เรียนเข้าถึงได้ ผู้เรียนและสอนตั้งใจ และทุกคนให้ข้อมูล
- ปรับแรงจูงใจตามบริบทที่เปลี่ยนไป เช่น ออนไลน์และแบบลงพื้นที่ มีทุนการศึกษาเพื่อปรับทักษะ เงินอุดหนุนหลังเรียนจบ และเงื่อนไขการรับประโยชน์ เป็นต้น
- กลไกควบคุมและส่งเสริมคุณภาพหลักสูตร ต้องมีการประเมินเพื่อคัดหลักสูตรเข้าร่วมโครงการ ประเมินการดำเนินงานว่าตามมาตรฐานหรือไม่ ประเมินผลหลังเรียนจบ และทำให้มั่นใจว่ามีการแข่งขันเพียงพอในภาคเอกชนที่มาเสนอหลักสูตร เปิดให้ผู้เรียนรีวิวบนแพลตฟอร์ม
- ยิ่งโปร่งใส ยิ่งปรับตัวไว ยิ่งพัฒนา มีหน่วยงานประเมินภายนอก
“สำหรับประเทศไทย สามกระบวนท่า ที่จะมาบทเรียนดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ได้นั้น ต้องมุ่นเน้นตอบโจทย์การพัฒนาในอุตสาหกรรมหรือภาคเศรษฐกิจที่เร่งรัดส่งเสริม เช่น วิศวกรยานบิน ยานยนตร์ไฟฟ้าเป็นต้น รวมถึงสาขาที่เกี่ยวกับสวัสดิการสังคม และการพัฒนาให้ผู้ประกอบการปรับกระบวนการผลิต ใช้Skilled works มากขึ้น อีกทั้งต้องมีพันธกิจที่ชัดเจน ว่าจะทำอะไร"
ไทยก้าวข้ามกับดับรายได้ปานกลาง
ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า การออกแบบกลยุทธ์ เพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันแรงงานทำให้ไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้จะต้องมีแผนการพัฒนาการศึกษากว้างกว่าเขตรั้ว โรงเรียนปัจจุบันไทยมีแรงงานนอกระบบ 51% หรือ 20.2 ล้าน คนปี 2565 และกลุ่ม NEET ราว 14.8% หรือ 1.3 ล้านคน
การศึกษาตลอดชีวิตต้องเป็นจริงเพื่อเป็นหลักประกันชีวิตของทุกคนการเชื่อมโยงแนวตั้ง (เช่นหน่วยจัดการเรียนรู้ มาตรฐาน การประเมิน คุณภาพผู้สอน)และการเชื่อมโยงแนวนอน (เช่น หน่วยงานภาคส่วนต่างๆ รัฐ เอกชน ชุมชน ท้องถิ่น หลักสูตร โอกาสของตลาดแรงงาน) ต้องสัมพันธ์กัน
3 ปัจจัยพัฒนาเด็กปฐมวัย
รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในช่วงเสวนา “กู้วิกฤตทักษะทุนชีวิตทุกช่วงวัย ผ่านการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค” ว่าการพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องได้รับอิทธิพลจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ คุณภาพการศึกษา การลงทุนและการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครอง และโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน
โดยในส่วนของเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ต้องยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน เริ่มจากการพัฒนาครู ซึ่งครูในปัจจุบันขาดทักษะในการสอน พบว่าจากการสำรวจและการให้ครูไปอบรม สามารถเพิ่มความพร้อมของเด็กปฐมวัยได้มากกว่ากลุ่มควบคุมประมาณ ร้อยละ 49 เปลี่ยนจากอบรมในเชิงทฤษฏี เน้นการปฎิบัติมากขึ้น ไม่ต้องให้ครูทำทุกอย่างได้อย่างครอบจักรวาล และเมื่อครูอบรบเสร็จต้องหาแนวทางการช่วยเหลือ
“การพัฒนาครูจะให้เพียงทักษะไม่เพียงพอ เพราะบางโครงการอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากครูขาดแรงจูงใจ ดังนั้น การเพิ่มแรงจูงใจให้กับครู และสถานศึกษาผ่านการกระจายอำนาจทางการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนั้นต้องเพิ่มบทบาทของผู้ปกครอง และชุมชน รวมถึงควรมีคูปองการศึกษา มีการสร้างแรงจูงใจให้แก่ระบบการศึกษา มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ชุมชนมองว่าการพัฒนาคนเป็นเรื่องของทุกคน”รศ.ดร.วีระชาติ กล่าว
ใดๆ ในโลกล้วนเป็นทักษะ และทักษะฝึกได้
ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเส้นทางชีวิตของคนๆ หนึ่งแตกต่างไปจากเดิม เมื่อก่อนเส้นทางชีวิตของคนๆ หนึ่งเมื่อตัดสินใจจะทำอะไร จะเป็นการทำสิ่งเหล่านี้ไปตลอดชีวิต แต่สำหรับคนยุคใหม่นี้ เส้นทางชีวิตของพวกเขาไม่ได้เป็นเส้นตรง ทำให้ในแต่ละช่วงชีวิตทักษะที่มีแตกต่างกันออกไป ตอนเรียนมีทักษะอีกแบบหนึ่ง พอทำงานอย่างหนึ่งก็จะมีทักษะอีกแบบ ทักษะจะเปลี่ยนไปตามการใช้ชีวิตของเรา ทำให้ ไม่มีใครเดาถูกว่าทักษะจะเหมือน ใดๆ ในโลกล้วนเป็นทักษะ และทักษะล้วนฝึกได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะทักษะHard skills หรือ Soft Skills เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี
“ทักษะที่จะอยู่ไปกับตลอดชีวิต คือ ทักษะการปรับตัว และอะไรที่ฝึกฝนได้เป็นทักษะ การออกแบบทักษะชีวิตแต่ละคนต้องแตกต่างกัน ต้องสร้างระบบให้คนไปช้อปปิ้งทักษะที่พวกเขาอยากจะมี โดยเฉพาะทักษะ Soft skiis เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะมี และสามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ โดยต้องนำไปใช้ได้บ่อยๆ"
พัฒนาทักษะทุนมนุษย์ แก้วิกฤตความเหลื่อมล้ำ
ปวรินทร์ พันธุ์ติเวช นักวิชาการข้อมูลและติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่าทักษะทุนมนุษย์ เป็นวิกฤตที่ใหญ่มาก และไม่ใช่ว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคชุมชน ภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อดำเนินการตามมาตรฐาน หรือแนวทางที่เหมาะสมในการฟื้นฟู หรือพัฒนา ทักษะตามแต่ละช่วงวัย
โดยต้องคำนึงถึงสถานะทางเศรษฐกิจของแต่ละครัวเรือนร่วมด้วย ต้องมีการสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึง มาตรการหรือการดำเนินการทักษะต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่จะทำให้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง กลุ่มต่างๆ ได้เข้าถึงการพัฒนาทักษะทุนมนุษย์ ทักษะทุนชีวิต อย่างแท้จริง และจำเป้นต้องมีงานข้อมูล และมาตรฐานอะไรช่วยที่จะทำให้ก้าวพ้นวิกฤตต่างๆ