ยอดผลิต-ขาย-ส่งออกรถ ก.ค.67 ลด ส.อ.ท. หวั่นน้ำท่วม ตั้งรัฐบาลช้า ฉุดเศรษฐกิจ
"ส.อ.ท." ชี้ ยอดผลิตรถยนต์เดือนก.ค. 2567 ที่ 124,829 คัน ลดลง ส่วนยอดขาย-ส่งออก ลดลงเช่นกัน ในขณะที่ยอดผลิต-ขายอีวี เพิ่มขึ้น ชี้หนี้เสียรถสะสมที่ 2.5 แสนล้าน สูงขึ้นจากปีก่อน 29.7% หวั่นน้ำท่วมบานปลาย ฉุดกำลังซื้อ หวังรัฐบาล "แพทองธาร" ฟอร์มทีมโดยเร็ว
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตเดือนก.ค.2567 มีทั้งสิ้น 124,829 คัน ลดลงจากเดือนก.ค.2566 ร้อยละ 16.62 เพราะผลิตขายในประเทศลดลงร้อยละ 40.85 ตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงจากการเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเพราะหนี้ครัวเรือนสูง และเศรษฐกิจที่อ่อนแอ แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ร้อยละ 7.34
ส่วนจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค.- ก.ค.2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 886,069 คัน ลดลงจากเดือนม.ค. - ก.ค. 2566 ร้อยละ 17.28
สำหรับการผลิตเพื่อส่งออกเดือนก.ค. 2567 ผลิตได้ 87,538 คัน เท่ากับร้อยละ 70.13 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค.2566 ร้อยละ 1.01 ส่วนเดือม.ค.-ก.ค.2567 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 603,721 คัน เท่ากับร้อยละ 68.13 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2566 ระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 2.20
ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนก.ค.2567 ผลิตได้ 37,291 คัน เท่ากับร้อยละ 29.87 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2566 ร้อยละ 40.85 และเดือนม.ค. - ก.ค. 2567 ผลิตได้ 282,348 คัน เท่ากับร้อยละ 31.87 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนม.ค. – ก.ค.2566 ร้อยละ 37.80
ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนก.ค.2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 46,394 คัน ลดลงจากเดือนมิ.ย.2567 ร้อยละ 2.66 และลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 20.58 เพราะการเข้มงวดในการให้สินเชื่อโดยเฉพาะรถกระบะ และรถบรรทุกจากความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงถึงร้อยละ 91 ของ GDP ของประเทศ และเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำในอัตราร้อยละ 1.5 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 จากงบประมาณรายจ่ายปีที่ล่าช้า
สำหรับมูลค่าการส่งออกรถยนต์ ที่ 56,397.87 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก.ค. 2566 ร้อยละ 16.56
ในขณะที่ ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนก.ค.2567 จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 8,332 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้วร้อยละ 20.68 สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 191,414 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 133.82%
"ยอมรับว่าตอนนี้ยังกังวลในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อมากที่สุด เพราะสถาบันทางการเงิน ยังคงมีความเข้มงวดในเรื่องของหนี้เสีย โดยหนี้เสียสะสมกลุ่มยานยนต์ ณ วันทีี่ 30 มิ.ย.2567 อยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท ถือว่าโตกว่าปีที่ผ่านมา 29.7% ที่มียอดสะสมที่ 1.9 แสนล้านบาท แม้ว่ายอดการเป็นหนี้ลดลง เพราะมาจากการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง"
ทั้งนี้ หวังว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถจัดตั้งได้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเร่งบริหารจัดการงบประมาณปี 2567-2568 ได้ทันในเดือนต.ค.2567 นี้ เพื่อให้เกิดการลงทุนมากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน เพิ่มกำลังซื้อ มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น โดย ส.อ.ท. กลุ่มยานยนต์ยังคงจับตานโยบายที่รัฐบาลใหม่ โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะแถลงภายหลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำเร็จ
"อีกปัจจัยรองจากการปล่อยสินเชื่อ คือ สถานการณ์น้ำท่วมว่าจะนานแค่ไหน อีกทั้งข้อมูลการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้ น่าจะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต แม้จะโตระดับ 2% แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์