‘ครม.‘ ไฟเขียวตั้ง ’ซิงเกิลคอมมานด์‘ บริหารอุทกภัย – จัดสรรงบฯ ช่วยน้ำท่วม

‘ครม.‘ ไฟเขียวตั้ง ’ซิงเกิลคอมมานด์‘  บริหารอุทกภัย – จัดสรรงบฯ ช่วยน้ำท่วม

ครม.ไฟเขียวตั้ง ซิงเกิลคอมมานด์ บริหารอุทกภัย – จัดสรรงบฯ ช่วยน้ำท่วม ตั้งภูมิธรรมเป็นประธาน มีอำนาจในการสั่งการบริหารสถานการณ์ และอนุมัติงบกลางฯ เพิ่มเติม ครม.ถกแผนจัดการน้ำระยะยาว เตรียมชง ครม.แพทองธารให้เป็นวาระแห่งชาติ

นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมได้มีการหารือกันเรื่องของสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัด และได้ตกลงให้มีการตั้งศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย โดยลักษณะการบริหารเป็นรูปแบบซิงเกิลคอมมานด์ เพื่อบริหารจัดการในเรื่องของสถานการณ์น้ำ ข้อมูลที่จะสื่อสารให้กับประชาชนได้รับทราบสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งจัดสรรงบประมาณที่จะจัดสรรลงไปทั้งให้การช่วยเหลือประชาชน และฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม

โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการได้แก่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีรองประธาน 2 ท่านได้แก่ นายธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ส่วนคณะกรรมการท่านอื่นๆ จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นกรรมการ โดยขณะนี้คำสั่งนี้อยู่ระหว่างการจัดทำและคาดว่าจะออกเป็นประกาศอย่างเป็นทางการได้เร็วๆ นี้

เมื่อถามถึงเรื่องของงบประมาณที่จะรองรับเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ว่ามีงบกลางฯ ที่จะรับมือเท่าไร นางสาวนัทรียา กล่าวว่า รัฐบาลมีงบประมาณในส่วนนี้เพียงพอ และเป็นงบฯ คนละส่วนที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการแจกเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนการอนุมัติงบประมาณเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือนั้นขณะนี้แต่ละจังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติสามารถใช้งบประมาณฉุกเฉินที่มีอยู่จังหวัดละ 20 ล้านบาท มาใช้เพื่อแก้ปัญหาในส่วนนี้ก่อน หากไม่เพียงพอให้เสนอคำของบประมาณมาที่ส่วนกลางเป็นขั้นตอน

นอกจากนี้ ครม.ได้มีการหารือถึงสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแทบทุกปี โดยในพื้นที่ภาคเหนือต้องยอมรับว่าในหลายพื้นที่เราไม่มีอ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ เมื่อเกิดฝนตกที่มีปริมาณน้ำฝนมากซึ่งตกเป็นจุดๆ ในพื้นที่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Chang) ซึ่งทำให้ต้องมีการจ่ายเงินเยียวยาทุกปี อย่างไรก็ตามในปีนี้มีการรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้จะไม่ได้รุนแรงเหมือนกับในปี 2554

การแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมต้องแบ่งเป็น 3 ระยะคือ

1.การแก้ปัญหาในระยะสั้น ซึ่งต้องให้การช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ

2.การเยียวยาผู้ที่ประสบภัย เมื่อระดับน้ำลดลง

และ 3.การวางแผนบริหารจัดการน้ำท่วมในระยะยาว ซึ่งที่ประชุมได้หารือว่าเมื่อมี ครม.ชุดใหม่ก็จะเสนอให้การแก้ปัญหาน้ำเป็นวาระแห่งชาติ และเสนอเป็นวาระเร่งด่วนที่จะต้องมีการบริหารจัดการเรื่องนี้ต่อไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์