ไทยลงนาม ‘STTR MLI’ ป้องกันกร่อนฐานภาษี ยึด ‘OECD’ กำหนดภาษีขั้นต่ำ 9%
ครม.ไฟเขียวไทยลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงของ STTR MLI ตามเกณฑ์ของ OECD ป้องกันการกร่อนฐานภาษี โดยให้กำหนดภาษี 9% ของธุรกรรมที่มีความเสี่ยงในการกัดกร่อนฐานภาษีและสามารถเคลื่อนย้ายเงินได่ง่าย โดยเตรียมลงนามในเดือน ก.ย.นี้
นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (27 ส.ค.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เรื่องการลงนามร่างหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีใน Multilateral Convention to Facilitate the Implementation of the Pillar Two Subject to Tax Rule ของประเทศไทย
ทั้งนี้การลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ฉบับนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประเทศไทpได้ยื่นแสดงเจตจำนงค์ในการเข้าเป็นสมาชิก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งมีข้อกำหนดในเรื่องการเก็บภาษีที่เป็นธรรม
ทั้งนี่การอนุมัติให้ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีใน Multilateral Convention to Facilitate the Implementation of the Pillar Two Subject to Tax Rule (STTR Multilateral Instrument หรือ STTR MLI) ครม.ได้อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯฉบับนี้
โดยสาระสำคัญของเรื่องได้แก่ Subject to Tax Rule (STTR) เป็นหนึ่งในหลักการภายใต้เสาหลักที่ 2 (Pillar 2) ของข้อเสนอการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษี และโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ [Base Erosion and Profit Shifting (BEPS)] โดย STTR เป็นการกำหนดขั้นต่ำของอัตราภาษีตามกฎหมาย (Nominal Tax Rate) ในอัตราร้อยละ 9 ของเงินได้ (Gross Income)
สำหรับธุรกรรมที่มีความเสี่ยงในการกัดกร่อนฐานภาษีและสามารถเคลื่อนย้ายเงินได้ง่าย เช่น ค่าสิทธิ ดอกเบี้ย สิทธิในการกระจายสินค้าเบี้ยประกันภัย และการให้บริการทางการเงิน โดยหลักการ STTR มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกของกรอบความร่วมมือเพื่อป้องกัน BEPS (Inclusive Framework on BEPS) (กรอบความร่วมมือ BEPS) ที่ได้รับการพิจารณาว่าอยู่ในกลุ่มเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาสามารถรักษาฐานภาษีที่เก็บจากบริษัทข้ามชาติสำหรับธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูงดังกล่าวได้
รวมทั้งสามารถนำมาปฏิบัติได้โดยการเข้าร่วมการลงนามความตกลงแบบพหุภาคี (Multilateral Instrument) เพื่อแก้ไขอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อน [Multilateral Convention to Implement Treaty Related Measures to Prevent Base Erosion and Profit Shifting (MLI] (อนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI) ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในการนำหลักการ STTR มาปรับใช้จะต้องพิจารณาอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศถิ่นที่อยู่ของผู้รับเงินได้ภายใต้ขอบข่ายของหลักการ STTR ซึ่งเมื่อปรับตามสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับและเมื่อรวมกับอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่ายตามอนุสัญญาฯ แล้วน้อยกว่าอัตรา 9% ของเงินได้ (Gross Income) ประเทศถิ่นที่อยู่ของผู้จ่ายเงินได้สามารถจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม (Additional STTR Tax) ให้ครบได้
ทั้งนี้ในคราวการประชุมกรอบความร่วมมือ BEPS ครั้งที่ 15 ซึ่งจัดขึ้น เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ณ สำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส สมาชิกกรอบความร่วมมือ BEPS ซึ่งรวมถึงไทยได้พิจารณารับรอง July 2023 Outcome Statement on the Two - Pillar Solution to Address the Tax Challenges Arising from the Digitalisation of the Economy โดยเอกสารตั้งกล่าวได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการและแนวทางการดำเนินการในอนาคตของหลักการ STTR ด้วย ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจที่ประสงค์จะนำหลักการ STTR มาปรับใช้จะต้องดำเนินการลงนามใน STTR MLI เพื่อแก้ไขอนุสัญญาฯ ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
กรมสรรพากรมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อแจ้งความเห็นต่อการพิจารณาลงนามใน STTR MLI โดยกรมสรรพากรเห็นควรให้ตอบรับการเข้าร่วมพิธีลงนาม STTR MLI ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2567 และแสดงความจำนงในการเข้าร่วมเป็นภาคีใน STTR MLI โดยการลงนามร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ (Letter of intent) ในโอกาสแรกก่อนและเนื่องจากหลักการ STTR เป็นหลักการใหม่ที่มีความซับซ้อน ดังนั้น กค. โดยกรมสรรพากรจำเป็นต้องศึกษาหลักการ STTR อย่างรอบคอบและรัดกุมก่อนนำหลักการดังกล่าวมาปรับใช้ต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้กรมสรรพากรพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และรายงานความคืบหน้าการดำเนินการเพื่อนายกรัฐมนตรีทราบในโอกาสแรกด้วย (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้แจ้งเลขาธิการ OECD ทราบด้วยแล้ว)
ร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการเข้าร่วมเป็นภาคีใน STTR MLI ของไทย โดยภายหลังการลงนามในร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ กรมสรรพากรจะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายเลขาธิการ STTR เพื่อนำหลักการ STTR มาปรับใช้เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศต่อไป
“ร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ จะส่งผลดีกับไทยในการแสดงความมุ่งมั่นที่จะให้ความร่วมมือกับนานาประเทศในการนำหลักการ STTR ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการภายใต้เสาหลักที่ 2 ของข้อเสนอการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลมาปรับใช้ เพื่อปกป้องฐานภาษีจากบริษัทข้ามชาติและนำรายได้มาใช้ในการพัฒนาประเทศชาติ ลดแรงจูงใจของผู้เสียภาษีในการโอนกำไรจากไทยไปหรือเขตเศรษฐกิจที่มีอัตราภาษีต่ำ สร้างความเป็นธรรมในการบริหารจัดเก็บภาษีให้กับบริษัทที่ประกอบกิจการในไทย ตลอดจนการลดการแข่งชั้นของประเทศหรือเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยใช้อัตราภาษีเป็นเครื่องมือดึงดูดนักลงทุนเข้าไปลงทุนในประเทศหรือเขตเศรษฐกิจของตนอีกด้วย”