หนี้นอกระบบ - หนี้บัตรเครดิตพุ่ง สภาพัฒน์ ห่วงคนไทยก่อหนี้ง่าย-แบกหนี้สูง

หนี้นอกระบบ - หนี้บัตรเครดิตพุ่ง สภาพัฒน์ ห่วงคนไทยก่อหนี้ง่าย-แบกหนี้สูง

หนี้ครัวเรือนไทยภาพรวมหนี้ยังสูงกว่า 90% “สภาพัฒน์” จับตาหนี้บัตรเครดิตหนี้เสียเพิ่ม และหนี้เฝ้าระวังทะลุ 6% “สภาพัฒน์” ห่วงช่องทางคนไทยเป็นหนี้เพิ่ม หลังซื้อของเงินผ่อนผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียหลายรูปแบบ  เตือนคำนึงความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต

สถานการณ์ หนี้ครัวเรือนไทย ในไตรมาสที่ 2/2567 ในภาพรวมลดลงเล็กน้อยโดยหนี้ครัวเรือนมีมูลค่า 17.37 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.5% ซึ่งขยายตัวชะลอลง 3% ในไตรมาสก่อนหน้า  สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.8% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจาก 91.4% ในไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้แม้ว่าในภาพรวมหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะปรับลดลงเล็กน้อย และเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงแต่หากดูในรายละเอียดของการหนี้ครัวเรือนการลงลงของหนี้มาจากการที่ครัวเรือนมีภาระหนี้ในระดับสูง และคุณภาพสินเชื่อปรับลดลง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อแก่ครัวเรือน

  • สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.5% ชะลอตัวลงจาก 4.1% ในไตรมาสก่อน
  • สินเชื่อเพื่อยานยนต์ ยังหดตัวเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกันหรือหดตัว 2.4%
  • สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นคือสินเชื่อบุคคลขยายตัว 4.3%
  • สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับขยายตัว 11%
  • สินเชื่อบัตรเครดิตที่ขยายตัว 0.6%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาย (สศช.) กล่าวว่าปัจจุบันปัญหาของ หนี้บัตรเครดิต เริ่มเห็นชัดมากขึ้น ซึ่งมาจากการที่ลูกหนี้ไม่สามารถที่จะชำระเงินได้ในแต่ละงวด ซึ่งแนวโน้มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หนี้เสียและหนี้ที่มีการค้างชำระ 1 - 3 เดือน ของสินเชื่อบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาสหนึ่ง ปี 2567

อีกทั้ง จำนวนบัญชีบัตรเครดิตที่เริ่มมีสถานะผิดนัดการชำระหนี้ (1 - 3 เดือน) ขยายตัวเร่งขึ้น เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.57% ในไตรมาส 4/2566 เป็น 4.13% ในไตรมาสที่ 2/2567

ส่วนสัดส่วน หนี้ SMLs ต่อสินเชื่อรวมก็ปรับเพิ่มขึ้นจาก 4.22% เป็น 5.22% ขณะที่ จำนวนบัญชีบัตรเครดิตที่ผิดนัด กำรชำระหนี้ 1 - 3 เดือน เพิ่มสูงมากจาก 1.1% เป็น 6.1%

โดยข้อมูลนี้สะท้อนว่ามาตรการปรับ อัตราการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ จาก 5% เป็น 8% ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ขอให้ ธปท.ทบทวนเกณฑ์ส่วนนี้แล้วเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับ ลูกหนี้บัตรเครดิต อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหานี้สถาบันการเงินอาจต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้บัตรเครดิตที่เริ่มผ่อนชำระไม่ไหว ส่วนลูกหนี้ก็ควรรีบติดต่อหรือขอคำปรึกษาสถาบันการเงิน ทั้งก่อนที่จะเป็นหนี้เสีย และหลังเป็นหนี้เสียด้วย

 

ห่วงพฤติกรรมวัยรุ่นก่อหนี้ง่าย 

นอกจากนี้ สศช.ได้พบพฤติกรรมการเพิ่มหนี้ครัวเรือนที่มีความเสี่ยงของลูกหนี้ที่มีการกู้หนี้นอกระบบด้วยวิธีที่หลากหลาย ที่อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมการก่อหนี้เกินตัวได้ง่าย โดยปัจจุบันมักพบเห็นการให้กู้ยืมนอกระบบทางโซเชียลมีเดียทั้งการผ่อนไปใช้ไป การผ่อนครบค่อยรับของ เช่น ผ่อนบัตรคอนเสิร์ตผ่านร้านรับกดบัตรในแอปพลิเคชันเอ็กซ์ ผ่อนเครื่องสำอางในไลน์

การซื้ออาร์ตทอยที่กำลังได้รับความนิยมผ่านอินสตาร์แกรม ผ่อนสัตว์เลี้ยงผ่านติ๊กต๊อก เป็นต้น ซึ่งธุรกิจการก็ยืมนอกระบบที่เพิ่มขึ้นเข้าถึงได้ง่ายและส่วนใหญ่ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียว อาจนำไปสู่พฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ความเคยชินในการก่อหนี้ รวมถึงมีความเสี่ยงการมีหนี้สินพ้นตัวจากอัตราดอกเบี้ยนอกระบบที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่

ซึ่งในเรื่องนี้ต้องมีการแก้ด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การสร้างวินัยทางด้านการเงิน และคำนึงถึงความสามารถในการใช้คืนหนี้ที่สร้างไว้ในระยะยาวด้วย