'สภาพัฒน์' แนะหั่น ‘ค่าต๋งแบงก์’ ตัดหนี้ครัวเรือนต้องทำเจาะจงเฉพาะกลุ่ม

'สภาพัฒน์' แนะหั่น ‘ค่าต๋งแบงก์’ ตัดหนี้ครัวเรือนต้องทำเจาะจงเฉพาะกลุ่ม

สศช.เผย NPL  สินเชื่อรวมไตรมาสที่ 2 /67 พุ่งสูง 8.5% สูงขึ้นต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติด และสูงกว่าช่วงโควิด แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนภาพรวมปรับลดลง ชี้ลดเงินส่ง FIDF ลง 50% เพื่อมาช่วยแฮร์คัทหนี้ให้ครัวเรือนลงทำได้แต่ต้องเป็นมาตรการเฉพาะกลุ่ม หวั่นเกิดปัญหา Moral Hazard ตามมา

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2567 โดยในประเด็นหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสที่ 1 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่ารวม 16.37 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.5% ชะลอลงจาก 3% ในไตรมาสก่อนหน้า และคิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)  90.8% ลดลงจาก 91.4% ในไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้หนี้ครัวเรือนที่ปรับลดลงมาจากประเด็นที่ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อแก่ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์มีมูลค่ารวม 1.63 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.99% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.88% ในไตรมาสที่ผ่านมา

ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตามสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 อยู่ที่ 8.5% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 สูงกว่าก่อนช่วงโควิด-19 (ไตรมาสที่ 4 ปี 2562) ที่เคยอยู่ที่ 8% สะท้อนปัญหารายได้ของครัวเรือนที่อาจยังไม่ฟื้นตัว ภายหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เริ่มสิ้นสุดลง

สำหรับข้อเสนอที่มีการเสนอให้ปรับลดการเก็บเงินสมทบกองทุนเพื่อฟื้นฟูสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ 0.46-0.47% ลงครึ่งหนึ่งแล้วนำเงินที่เหลือไปช่วยลดหนี้ครัวเรือนให้กับประชาชนนายดนุชา กล่าวว่า ในเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการหารือกันระหว่างกระทรวงการคลัง กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า มาตรการจะมีผลอย่างไรบ้าง เมื่อออกมา โดยในส่วนนี้ก็ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้

อย่างไรก็ตาม หนี้ของกองทุน FIDF นั้นปัจจุบันมีการนำเงินที่เก็บจากสถาบันการเงินในส่วนนี้ไปใช้หนี้เงินต้นที่มีอยู่ ซึ่งหากลดเงินนำส่งลงไปก็จะทำให้การใช้เงินต้นในส่วนนี้ลดลง ทั้งนี้หากจะใช้มาตรการนี้จริง สศช.มองว่าควรทำเป็นมาตรการเฉพาะกลุ่มแบบเจาะจง เช่น เป็นมาตรการที่ช่วยลูกหนี้ที่มีบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท หรือหนี้รถที่ถือเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน เป็นต้น โดยมาตรการในลักษณะนี้ไม่ควรเป็นการใช้แบบทั่วไป เพราะจะเกิดประเด็น “อันตรายบนศีลธรรม” (Moral Hazard) ให้เกิดขึ้นในสังคมได้

ส่วนประเด็นการปรับลดการจ่ายหนี้ขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ ธปท.ให้คงการจ่ายหนี้ขั้นต่ำไว้ที่ 8% จากเดิมที่จะปรับขึ้นเป็น 10% ซึ่งในส่วนนี้ สศช.มองว่าแม้ว่าจะไม่ได้มีการปรับขึ้นไปถึงระดับ 10% แต่การที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8% ในขณะนี้ก็ทำให้ประชาชนบางส่วนที่ขาดสภาพคล่อง และได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวไม่สามารถที่จะจ่ายหนี้บัตรเครดิตในสัดส่วนดังกล่าวได้ เนื่องจากกำลังในการจ่ายหนี้ลดลง เห็นจากที่ NPL ของหนี้บัตรเครดิตปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.5% ในไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 4.13%  ในไตรมาสล่าสุด

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์