‘สภาพัฒน์’ จับตาเลือกตั้งสหรัฐฯ ชี้ 6 นโยบายกระทบการเมือง – เศรษฐกิจโลก
“สภาพัฒน์” จับตาเลือกตั้งสหรัฐฯ 5 พ.ย.ส่งผลต่อนโยบายหลายด้าน รวมทั้งส่งผลกระทบกับประเทศไทย ชี้ผลการเลือกตั้งนอกจากต้องดูว่าพรรคไหนชนะได้เป็นประธานาธิบดีต้องดูว่าพรรคไหนครองเสียงข้างมากในสภาฯเพราะมีผลต่อการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆอย่างน้อย 6 ด้าน
KEY
POINTS
- การเลือกตั้งสหรัฐฯที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ย.ไม่ได้ส่งผลต่อแค่สหรัฐฯเท่านั้นแต่จะส่งผลกว้างขวางไปทั่วโลกทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างประเทศ
- สภาพัฒน์จับตาผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ นอกจากว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดี ยังต้องติดตามว่าพรรคใดระหว่างเดโมแครตกับรีพลับรีกันพรรคใดจะครองเสียงข้างมากในสภาฯ
- หากพรรคใดพรรคหนึ่งชนะทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีและครองเสียงข้างมากในสภาฯจะทำให้การผ่านกฎหมายและการผลักด้นนโยบายต่างๆนั้นจะทำได้ง่ายขึ้น
- นโยบายที่สำคัญมี 6 ด้าน ต้องจับตาส่วนที่มีโอกาสปรับเปลี่ยน เช่นมาตรการภาษี การปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน การเปิดรับผู้อพยพ รวมทั้งการปรับนโยบายในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนที่ลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเดโมแครตและรีพลับรีกันมีนโยบายที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
สหรัฐฯได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาขึ้น ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ที่จะถึงนี้
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” กล่าวว่าจะเสนอให้รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เตรียมมาตรการในการรับมือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกซึ่งหนึ่งในตัวแปรที่จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนก็คือการเลือกตั้งสหรัฐ ซึ่งประเด็นที่จะต้องจับตาเป็นพิเศษก็คือมาตรการการกีดกันทางการค้าทั้งที่เป็นมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษีซึ่งมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นภายหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯไม่ว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะมาจากพรรคเดโมแครต หรือพรรครีพลับรีกันก็ตาม
ในรายงานของสภาพัฒน์ที่เปิดเผยระหว่างการแถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาสที่ 2/2567 สภาพัฒน์ได้ระบุถึงแนวโน้มนโยบายภายหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯในปี 2567 โดยแนวโน้มผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในแต่ละฉากทัศน์จะมีผลต่อการกำหนดนโยบายของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญไม่ว่าประธานาธิบดีจะเป็นใครระหว่าง กมลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต หรือโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพลับรีกัน จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแต่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิดทางการดำเนินนโยบาย รวมถึงมถึงผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาทีจะส่งผลต่อการผลักตันกฎหมายต่างๆของประธานาธิบดี
ทั้งนี้ในกรณีที่พรรคการเมืองเดียวกันสามารถชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและครองเสียงข้างมากในรัฐสภา (Sweep Scenario) รัฐบาลก็จะสามกรถผลักดันนโยบายที่ลอดคล้องกับนโยบายของพรรคได้อย่างเต็มที่ซึ่งทั้งสองพรรคต่างก็มีแนวทางการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันอย่างมาก ขณะที่หากประธานาธิบดีและเสียงข้างมากในรัฐสภามาจากคนละพรรคการเมือง (Divided Scenario) แนวโน้มนโยบายจะเป็นการประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่ายมากขึ้น โดยมีรายละเอียดแนวโน้มนโยบายที่สำคัญ 6 นโยบายของแต่ละฉากทัศน์ ดังนี้
1.นโยบายการค้าระหว่างประเทศ
- กรณีที่ 1 ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครต และพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภา การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเก็บภาษีสินค้าน้ำเข้าจากจีน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
- กรณีที่ 2 ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครต และพรรครีพลับรีกันครองเสียงข้างมากในสภา ดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้ากับทางจีนอย่างต่อเนื่อง
- กรณีที่ 3 ประธานาธิบดีมาจากพรรครีพลับรีกัน และพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภา ดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน แต่จะไม่ขยายกรอบการเพิ่มภาษีให้ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท
- กรณีที่ 4 ประธานาธิบดีมาจากพรรครีพลับรีกัน และพรรครีพลับรีกันครองเสียงข้างมากในสภา มีการดำเนินนโยบายในการค้าต่อจีนที่มีความเข้มข้นขึ้น โดยอาจนำไปสู่การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 60% และขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆอีก 10%
2.นโยบายภาษี
- กรณีที่ 1 ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครต และพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภา ปรับขึ้นภาษีสำหรับบุคคลที่มีรายได้สูง และภาษีซื้อหุ้นคืน ลดอัตราภาษีสำหรับผู้มีรายได้น้อย
- กรณีที่ 2 ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครต และพรรครีพลับรีกันครองเสียงข้างมากในสภา มีแนวโน้มจะไม่สามารถปรับขึ้นภาษีสำหรับผู้มีรายได้น้อยให้สูงขึ้นได้
- กรณีที่ 3 ประธานาธิบดีมาจากพรรครีพลับรีกัน และพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภา มีแนวโน้มจะมีการต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษี ที่จะมีการปรับลดลงในบางส่วน
- กรณีที่ 4 ประธานาธิบดีมาจากพรรครีพลับรีกัน และพรรครีพลับรีกันครองเสียงข้างมากในสภา การต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560
3.นโยบายอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม
- กรณีที่ 1 ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครต และพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภา
- นโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และดำเนินนโยบายตาม COP28 โดยเฉาพะโครงการจากงบประมาณใน Inflation Reduction ACT
- กรณีที่ 2 ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครต และพรรครีพลับรีกันครองเสียงข้างมากในสภา ดำเนินการตามเดิมโดยยังคงให้การสนับสนุนและเครดิตภาษี
- กรณีที่ 3 ประธานาธิบดีมาจากพรรครีพลับรีกัน และพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภา สนับสนุนนโยบาย 4 Years Reshoring Plan ไม่สนับสนุนนโยบายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และพลังงานทดแทน
- กรณีที่ 4 ประธานาธิบดีมาจากพรรครีพลับรีกัน และพรรครีพลับรีกันครองเสียงข้างมากในสภา จะมีการปรับแก้กฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจสนับสนุนการใช้พลังงานจากฟอสซิล ลดบทบาทของกฎหมาย Inflation Reduction ACT และยกเลิกเครดิตภาษีคาร์บอน
4.นโยบายผู้อพยพและแรงงานต่างชาติ
- กรณีที่ 1 ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครต และพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภา นโยบายสนับสนุนให้มีผู้อพยพเข้ามาทำงานในประเทศอย่างถูกกฎหมาย
- กรณีที่ 2 ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครต และพรรครีพลับรีกันครองเสียงข้างมากในสภา นโยบายดำเนินการตามเดิม
- กรณีที่ 3 ประธานาธิบดีมาจากพรรครีพลับรีกัน และพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภานโยบายการเข้มงวดสำหรับการอนุญาตแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศจะเข้มข้นมากขึ้น
- กรณีที่ 4 ประธานาธิบดีมาจากพรรครีพลับรีกัน และพรรครีพลับรีกันครองเสียงข้างมากในสภา จะงดการให้สิทธิการเป็นสัญชาติอเมริกันสำหรับเด็กที่เกิดในประเทศแต่บุพการีไม่มีใบการแจ้งอพยพถิ่นฐาย
5.นโยบายสวัสดิการสังคม
- กรณีที่ 1 ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครต และพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภา เพิ่มความเข้มงวดในการครอบครองอาวุธปืน เพิ่มงบประมาณสนับสนุนด้านการสาธารณสุข (Obamacare) รวมถึงสนับสนุนให้มีการทำแท้งได้ของสตรี
- กรณีที่ 2 ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครต และพรรครีพลับรีกันครองเสียงข้างมากในสภา จะเป็นการดำเนินการในรูปแบบเดิม และให้ความสำคัญกับสิทธิประโยชน์ด้านแรงงาน
- กรณีที่ 3 ประธานาธิบดีมาจากพรรครีพลับรีกัน และพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภา ดำเนินการตามเดิมแต่ให้แต่ละมลรัฐเท่านั้นที่จะสามารถกำหนดกฎหมายการทำแท้ง
- กรณีที่ 4 ประธานาธิบดีมาจากพรรครีพลับรีกัน และพรรครีพลับรีกันครองเสียงข้างมากในสภา ปรับปรุงหรือยกเลิก The Affordable Care Act โดยเพิ่มสัดส่วนค่าใช้จ่ายของประชาชน และให้แต่ละมลรัฐเป็นผู้กำหนดกฎหมายการทำแท้ง อีกทั้งยังสนับสนุนสิทธิในการถือครองปืนอย่างทั่วถึง
และ 6.นโยบายการเมืองระหว่างประเทศ
- กรณีที่ 1 ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครต และพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภา สนับสนุนความร่วมมือแบบพหุภาคี อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนยูเครนและอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง
- กรณีที่ 2 ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครต และพรรครีพลับรีกันครองเสียงข้างมากในสภา จุดยืนระหว่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลง การให้ความช่วยเหลือด้านการทหารและงบประมาณต่อยูเครนมีการจำกัดมากขึ้น
- กรณีที่ 3 ประธานาธิบดีมาจากพรรครีพลับรีกัน และพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภา เปลี่ยนจุดยืนระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นความร่วมมือแบบทวิภาคี ขณะที่การช่วยเหลือต่อยูเครนมีจำกัดมากขึ้น
- กรณีที่ 4 ประธานาธิบดีมาจากพรรครีพลับรีกัน และพรรครีพลับรีกันครองเสียงข้างมากในสภา ยกเลิกความช่วยเหลือแก่ยูเครน แต่ยังให้การสนับสนุนอิสราเอล และมีจุดยืนที่ไม่สนับสนุน NATO