วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้นหนุนส่งออก ตลาดชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ฟื้น
SCB EIC เผย สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขาขึ้นหนุนส่งออก เดือนก.ค.พุ่ง 15.2% จับตาตลาดคอมพิวเตอร์ -ส่วนประกอบฟื้นตัว ด้านสนค. ชี้ ปัจจัยหลักทำให้ส่งออกไทยฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง จากความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ตามการขยายตัวของเทคโนโลยีดิจิทัล และสินค้าเกษตร
KEY
POINTS
Key Point
- ส่งออกของไทยในเดือนก.ค.2567 มีมูลค่า 25,720.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.2 % โตสูงสุดในรอบ 28 เดือน
- SCB EIC ระบุ 4 ปัจจัยหนุน 4 สินค้าหลัก ดันส่งออกก.ค.พุ่ง
- ส่งออกคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบขยายตัวมากถึง 82.6%
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า การส่งออกของไทยในเดือนก.ค.2567 มีมูลค่า 25,720.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.2 % นับเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2565 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ยังคงขยายตัว 9.3 % ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 27,093.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.1 % ดุลการค้า ขาดดุล 1,373.2 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 171,010.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 177,626.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.4 % ทำให้ 7 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,615.9 ล้านดอลลาร์
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC ) รายงานว่า การส่งออกในเดือนก.ค.ที่ขยายตัวสูงมาก มาจาก 1. อุปสงค์ตลาดโลกต่อสินค้าไทยปรับดีขึ้นในระยะสั้น สะท้อนจากการ ส่งออกไม่รวมทองคำ (ปรับฤดูกาล) ที่ขยายตัว 2%MOM_SA สูงสุดในรอบ 3 เดือน
2. มูลค่าการส่งออกคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบขยายตัวมากถึง 82.6% จากความต้องการในตลาดโลกที่กลับมาฟื้นตัวตามวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขาขึ้น ปัจจัยนี้มีส่วนช่วยให้มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. ขยายตัวสูงได้ถึง 3.7% จากอัตราการเติบโตของการส่งออก เดือนนี้ที่ 15.2%
3. การส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 434.4% มีส่วนช่วยให้มูลค่าการส่งออก ในเดือน ก.ค. ขยายตัวได้ถึง 4.7%
4.ปัจจัยฐาน มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. ปีก่อนอยู่ที่ 22,320.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งค่อนข้างต่ำ หากเทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งปีและค่าเฉลี่ยเดือน ก.ค. ในอดีต
ข้อมูลของ SCB EIC ยังระบุอีกว่า การส่งออกขยายตัวสูงใน 4 กลุ่มสินค้าหลัก หากพิจารณาสินค้าส่งออกรายหมวด พบว่า
1. สินค้าแร่และเชื้อเพลิงขยายตัวสูงมาก 39.5% เร่งขึ้นจาก 1.3% ในเดือนก่อน
2. สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มถึง 15.6% จาก 0.3% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์เป็นสินค้าหลัก ขณะที่รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำและแผงวงจรไฟฟ้าเป็นสินค้าหลักที่หดตัว
3. สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัว 14.6% หลังจากหดตัว 4.8% ในเดือนก่อน โดยผลิตภัณฑ์ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นสินค้าที่ขยายตัวดีขณะที่น้ำตาลทรายเป็นสินค้าสำคัญ ที่หดตัว
4. สินค้าเกษตรกลับมา ขยายตัวเล็กน้อย 3.7% หลังจากหดตัว 2.2% ในเดือนก่อน โดยยางพาราและข้าวเป็นสินค้าขยายตัวดีขณะที่ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งเป็นสินค้าที่หดตัว เช่นเดียวกับเดือนก่อน โดยเฉพาะตลาดจีน
หากพิจารณาการส่งออกรายตลาด พบว่า 1. ตลาดฮ่องกงยังคงหดตัว 12.1% ดีขึ้นจาก -15.5% ในเดือนก่อน โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และทองคำไม่ขึ้นรูปกลับมาขยายตัว 57.4% 2.5% และ 23.5% ตามลำดับ หลังจากหดตัวรุนแรงในเดือนก่อน
2. ตลาดญี่ปุ่นหดตัวเหลือ 2.5% หลังจากหดตัวแรง 12.3% ในเดือนก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญไปญี่ปุ่นที่หดตัวเหลือเพียง 5 ใน 15 รายการ จากที่เห็นการหดตัวมากกว่า 10 ใน 15 รายการในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
3. ตลาดจีนพลิกกลับมาขยายตัว 9.9% หลังจากหดตัว 12.3% ในเดือน ก่อน โดยผลิตภัณฑ์ยางพลิกกลับมาขยายตัว 36.9% นอกจากนี้เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบขยายตัว สูง 102.9% และยางพารา 48.6% ขณะที่ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติกหดตัวยังคงหดตัวต่อเนื่อง 30.4%และ 18.3% ตามลำดับ
4. ตลาดสหรัฐฯ และอินเดียขยายตัวดีในเดือนนี้และเป็นตลาดที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง มาในช่วงครึ่งแรกของปี โดยมีแนวโน้มเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีได้
5. ตลาด 3 สวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวมากถึง 517.6% จากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงถึง 1,148.5% (6) ตลาด CLMV ขยายตัว 7.5% จากการส่งออกไปกัมพูชาที่ขยายตัว 53.5% โดยเฉพาะทองคำที่ขยายตัวมากถึง 2,219.4% หากไม่รวมทองคำ การส่งออกไปกัมพูชาขยายตัวดีที่ 19.3% นอกจากนี้การส่งออกไปเมียนมาหดตัว 19.2% ส่วนหนึ่งสะท้อนความไม่สงบ ในประเทศเมียนมา ขณะที่การส่งออกไปยังลาวทรงตัว และการส่งออกไปเวียดนามขยายตัว 25.8%
ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินมูลค่าการส่งออกไทยปีนี้จะกลับมาขยายตัวได้ 2.6% จากที่เคยหดตัวในปีก่อน และจะขยายตัว ต่อเนื่องได้เล็กน้อยในปีหน้า
“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยหนุนที่สำคัญที่ทำให้การส่งออกในเดือน ก.ค.ขยายตัวสูงถึง 15.2 % เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก ตามการขยายตัวของเทคโนโลยีดิจิทัล และการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญได้รับประโยชน์ด้านราคาสินค้าที่สูงขึ้นจากภาวะอุปทานในตลาดโลกที่น้อยลง โดยการส่งออกสินค้าเกษตรสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ที่ขยายตัว 8.7 % สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 15.6 %
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 82.6 % มูลค่า 2,002 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเพิ่มจากเดือน มิ.ย. ที่ขยายตัว 22 %
ส่วนแนวโน้มการส่งออกในเดือน ส.ค.ก็คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่กำลังปรับตัวดีขึ้น ความต้องการสินค้าอาหาร รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมของโลก ขณะเดียวกันคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลจะสนับสนุนสินค้าที่เกี่ยวเนื่องให้เติบโตตลอดทั้งปี จึงมองได้ว่า เป็นช่วงขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่หนุนส่งออกปี 67