กรมประมงจับมือ STF ติวเข้มเจ้าหน้าที่ประมงตรวจประเมินการค้ามนุษย์
กรมประมงร่วมกับ STF จัดฝึกอบรมภายใต้ “โครงการฝึกอบรมเสริมทักษะ การประเมินและระบุผู้เสียหายด้านการค้ามนุษย์ในแรงงานประมง” เพิ่มทักษะให้เจ้าหน้าที่ในการตรวจประเมินและระบุแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธี การอบรมเจ้าหน้าที่ใน “โครงการฝึกอบรมเสริมทักษะ การประเมินและระบุผู้เสียหายด้านการค้ามนุษย์ในแรงงานประมง” ว่า ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก หรือศูนย์ PIPO ถือเป็นหนึ่งในกลไกหลักที่สำคัญในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และป้องกันปัญหาแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์บนเรือประมงของประเทศไทย
โดยเฉพาะขั้นตอนการตรวจสอบเรือประมงซึ่งจะครอบคลุมในทุกมิติ ได้แก่ ตัวเรือ อุปกรณ์และวิธีทำการประมง แรงงานบนเรือ ชนิดสัตว์น้ำ และปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ โดยเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพตรวจเรือประมงหน้าท่าจากกรมประมง กรมเจ้าท่า กรมการจัดหางาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะบูรณาการการปฏิบัติร่วมกันในการบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการเจ้าของกฎหมายในการตรวจสอบเรือ ทั้งก่อนออกไปทำการประมง และภายหลังกลับจากการทำประมง
นอกจากนี้ จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ TIP Report ประจำปี พ.ศ. 2566 เกี่ยวกับการระบุตัวตนผู้เสียหายยังคงต้องได้รับการปรับปรุง ดังนั้น กรมประมงจึงร่วมกับสมาคม Seafood Task Force (STF) ซึ่งเป็นคณะทำงานเพื่อร่วมส่งเสริมความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล มีสมาชิกมากกว่า 50 องค์กร ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล ดำเนินการจัดฝึกอบรมภายใต้ “โครงการฝึกอบรมเสริมทักษะการประเมินและระบุผู้เสียหายด้านการค้ามนุษย์ในแรงงานประมง” ให้กับเจ้าหน้าที่ชุดสหวิชาชีพ ตรวจเรือประมงหน้าท่า กรมประมง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และตัวแทนศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) จำนวนกว่า 60 ราย
โดยมีวิทยากรที่มาให้ความรู้จากสำนักงานกฎหมายเอส อาร์ ลอว์ (SR LAW) และบริษัท คอนโทรล ยูเนี่ยน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ กฎหมายค้ามนุษย์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ความแตกต่างระหว่างคดีความผิดฐานค้ามนุษย์กับคดีบังคับใช้แรงงานหรือบริการที่ไม่ถึงขั้นเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ แนวทางการสัมภาษณ์เพื่อระบุตัวผู้เสียหาย ก่อน ขณะ และหลังการสัมภาษณ์ เป็นต้น
กรมประมงได้ตระหนักถึงบทบาทความสำคัญและการเพิ่มศักยภาพ ของเจ้าหน้าที่ชุดสหวิชาชีพตรวจเรือประมงหน้าท่า ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการประเมิน และเฝ้าระวังความเสี่ยงการมีแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การฝึกอบรมในครั้งนี้จะเพิ่มทักษะให้แก่เจ้าหน้าที่ฯ ในการตรวจประเมินและระบุแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ สามารถนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป