‘สภาพัฒน์’ ชูปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฝ่าวิกฤติ - ความเสี่ยงโลก

‘สภาพัฒน์’ ชูปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฝ่าวิกฤติ - ความเสี่ยงโลก

‘สภาพัฒน์’ ชู “เศรษฐกิจพอเพียง” ฝ่าวิกฤติ ความเสี่ยงโลก สามารถประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ชี้โลกเผชิญความเสี่ยงหลายด้านในช่วง 2 ปีข้างหน้า ได้แก่ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงเทคโนโลยี และภาวะความเสี่ยงสังคมแบ่งขั้ว

นายวิชญ์พิพล ติวะตันสกุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รับมอบหมายให้เป็นวิทยากรบรรยาย หัวข้อ "Sufficiency Economy Philosophy and Thailand’s Economic Development” หลักสูตร "2024 Knowledge of Diplomacy” ณ  สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ จัดโดย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับประเทศไทย และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพของไทยในมิติต่าง ๆ ให้กับผู้รับฟัง ประกอบด้วย นักการทูต และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 21 ประเทศ อาทิ ประเทศฮังการี สาธารณรัฐประชาชนจีน บราซิล สหรัฐเม็กซิโก ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย สาธารณรัฐสิงคโปร์  สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยการบรรยาย สรุปสาระสำคัญ 4 ส่วน ได้แก่ 

1.สถานการณ์โลกที่สำคัญ โดยเฉพาะ "The Global Risks Report 2024” สำรวจโดย World Economic Forum ซึ่งสรุปความเสี่ยงและปัญหาต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อโลก ทั้งในปี 2024 และคาดการณ์ว่าจะเกิดในช่วง 2 ปีข้างหน้า ซึ่งแสดงถึงความเสี่ยงรุนแรง 3 อันดับแรก คือ

  • ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้ว (Extreme weather )
  • ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี ได้แก่ ข้อมูลเท็จและการบิดเบือนจาก AI (AI-generated misinformation and disinformation) และ
  • ความเสี่ยงด้านสังคม ได้แก่ การแบ่งขั้วทางสังคม (Societal polarization)

ส่วนการคาดการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ในอีก 10 ปี ข้างหน้า นำด้วยความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ

  • สภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้ว (Extreme weather) การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อระบบโลก (Critical change to Earth systems)
  • การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศล่มสลาย (Biodiversity loss and ecosystem collapse)
  • ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและสังคม

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงภัยคุกคามที่มีต่อไทย 5 ประการ คือ

  • ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic downturn)
  • ปัญหามลพิษ (Pollution)
  • การขาดแคลนแรงงาน (Labour shortage)
  • หนี้ครัวเรือน (Household debt)
  • ความไม่เท่าเทียมทางความมั่งคั่งและรายได้ (Inequality wealth,income) 

‘สภาพัฒน์’ ชูปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฝ่าวิกฤติ - ความเสี่ยงโลก

2.สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ กล่าวถึง ภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เช่น การอุปโภคภาครัฐและการส่งออกสินค้าและบริการปรับตัวดีขึ้น การขยายตัวของการอุปโภคภาคเอกชน แต่การลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนยังเป็นที่น่ากังวล เป็นต้น

ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ การเพิ่มขึ้นของรายได้จากการท่องเที่ยว การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศ แต่ยังมีข้อจำกัด อาทิ ระดับหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยมีแนวทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วง ปี 2567 เช่น กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาในขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และเตรียมมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น 

3.สถานการณ์ทางสังคมของไทย กล่าวถึง ภาพรวมด้านสังคมของไทย อาทิ สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของไทย การจัดสวัสดิการสังคม และเสนอรายงานภาวะสังคมปัจจุบันที่แสดงถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง

โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้บัตรเครดิตที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้คืน และการกู้นอกระบบที่หลากหลาย และในด้านการเจ็บป่วยสูงขึ้น การจ้างงานชะลอตัวลง จากการจ้างงานที่ลดลงต่อเนื่องในภาคเกษตรกรรม ขณะที่สาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวในทุกสาขา ทั้งนี้ ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างแรงงานค่อนข้างทรงตัวและอัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น การคุ้มครองผู้บริโภคลดลง และปัญหาอาชญากรรมที่สูงขึ้น   

และ 4.หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการประยุกต์ใช้ โดยนำเสนอถึงหลักปรัชญาที่ได้น้อมนำมาจากพระอัจฉริยภาพในด้านการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้  ซึ่งยังสอดคล้องกับหลักของพระพุทธศาสนา ได้แก่ อิทธิบาท 4 ทั้งในการดำเนินชีวิต การประยุกต์ใช้ในภาคเอกชน อาทิ การประกอบธุรกิจที่คำนึงถึงสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีคุณธรรม การประยุกต์ใช้กับชุมชน ยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนแว้ง จังหวัดนราธิวาส

เช่น การใช้ข้อมูล ความรู้และเทคโนโลยีในการยกระดับศักยภาพชุมชน มุ่งเน้นการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกมิติ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและปรับแนวทางการพัฒนาที่เข้ากับบริบทสังคมอิสลามของชุมชน รวมถึงการส่งต่อแนวคิดการพัฒนาสู่เด็กและเยาวชน เพื่อสร้างความยั่งยืน และสุดท้ายเน้นย้ำถึง หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเป็นหลักคิดและแนวทางปฏิบัติที่สำคัญในการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งหากทุกคนร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความยั่งยืนแล้ว ความเสี่ยงโลก ที่คาดการณ์ไว้ก็จะไม่เกิดขึ้น