การแยกแยะว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ สำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ผู้ที่ได้ติดตามการฟอร์มรัฐบาลใหม่ของพรรคการเมืองต่างๆ แล้ว หากเป็นผู้ที่รู้จักการเมืองของไทยดีก็คงเข้าใจว่า ประเทศที่มีการเมืองน้ำเน่ามากกว่าน้ำดีได้แค่ที่เห็นก็น่าจะพอใจแล้ว
แต่โดยส่วนตัวทั้งๆ ที่เข้าใจและเห็นใจพวกน้ำดี แต่ก็อดเป็นห่วงบ้านเมืองของเราไม่ได้ จึงใคร่ขอแสดงความเห็นในเรื่องแนวนโยบาย ที่จะนำพาประเทศไปข้างหน้าก่อนที่รัฐบาลที่ยังยืนโงนเงนอยู่ท่ามกลางฝุ่นตลบในขณะนี้จะลงมือทำงาน
ต่อไปนี้ ผมจึงใคร่ขออนุญาตเสนอแนวคิดเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจแต่ละระดับ เพื่อแยกแยะให้ทราบว่าสิ่งใดควรทำและสิ่งใดไม่ควรทำ สำหรับรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศในไม่กี่วันข้างหน้านี้
ในระดับประชาชนรากหญ้า
ระดับนี้นับตั้งแต่ประชาชนที่สามารถหารายได้เข้ามาเลี้ยงครอบครัวและตนเองได้แต่ดำเนินชีวิตไปอย่างกระเบียดกระเสียรมากคงมีอยู่ไม่น้อยกว่า 65 % ของประชากรทั้งประเทศ โดยในจำนวนนี้เป็นระดับเปราะบางจำนวนประมาณ 15 ล้านคน กลุ่มนี้จะตกอยู่ในวงจรหนี้ครัวเรือนแบบชักหน้าไม่ถึงหลังกันทั้งนั้น
หนี้ครัวเรือนที่สูงมากของไทยถึง 91 % ของ GDP ในขณะนี้ บอกได้คำเดียวว่าประชาชนสาหัสมากๆและยังบอกได้อีกว่ารัฐบาลไทยบริหารและแก้ปัญหานี้แย่กว่าใครเพื่อนมากด้วย
การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนตั้งแต่รัฐบาลจากยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมา แทนที่หนี้จะลดแต่กลับเพิ่ม อย่าคิดง่ายๆว่าเมื่อ GDP เพิ่ม หนี้ครัวเรือนจะลด เพราะประเทศนี้พูดได้เลยว่า GDP ที่อาจมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นพอควร แต่รายได้ที่เพิ่มส่วนใหญ่สำหรับประเทศนี้จะไม่มาตกแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางเลย
มีกูรูทางเศรษฐกิจและนักการเมืองบางท่านแนะว่า รัฐต้องเข้าไปแก้หนี้ของประชาชนเป็นอันดับแรก พูดง่ายไปครับ ที่ทำกันมาได้แค่ผิวเผินเพียงเล่นละครให้เห็นว่ารัฐบาลและธนาคารได้เข้าไปดูแลและช่วยเหลือแล้วเท่านั้น
หนี้ครัวเรือน 91 % ของ GDP เป็นเงินเท่าไหร่ท่านรู้ไหม ประมาณ 17 ล้านล้านบาทนะครับ
แนวทางที่แก้ไขด้วยการแจกเงินหาคะแนนนิยมนั้นได้ไม่คุ้มเสีย เรื่องที่ต้องทำคือ ต้องเน้นทำให้กลุ่มรากหญ้าขึ้นมามีรายได้สูงขึ้น คือ ต้องดูเรื่องการใช้แรงงานและการเกษตรก่อน
ตั้งแต่ไหนแต่ไรนานมาแล้ว ธกส. และออมสิน พยายามจัดมาตรการช่วยเรื่องปัจจัยการผลิตราคาถูก รัฐก็ได้เข้าไปช่วยส่งเสริมและพยุงราคาพืชผลเกษตรให้สูงขึ้น แต่ไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะบรรเทาปัญหาได้ แถมยังขาดความจริงจังและต่อเนื่อง
การแก้ปัญหาของประชาชนระดับรากหญ้านั้น รัฐจะเฉยเมยต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ รัฐจะต้องใช้แผนการเงินระยะยาวเข้าไปช่วยอย่างเต็มที่ให้สมน้ำสมเนื้อกับที่รัฐต้องจัดงบประมาณไปชดใช้หนี้จากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และวิกฤตรับจำนำข้าวเปลือกจึงจะแก้ไขได้
มาถึงวันนี้รัฐต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับระดับรากหญ้า ส่วนเรื่องจะหาเงินจากไหนมาทุ่มใส่ให้พอนั้น รัฐบาลถ้าตั้งใจทำจริงจะต้องคิดออก
ในระดับผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (SMEs)
ประเทศไทยได้มีการส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางเป็นกลุ่มที่แข็งแรงในการพัฒนาประเทศและในการผลิตสินค้าส่งออก และสินค้าทดแทนการนำเข้า
แต่ดูเสมือนว่า SMEs ของไทยได้หมดช่วงเวลาของการเติบโตและการเข้าไปแข่งขันกับต่างประเทศได้ค่อนข้างนานแล้ว ยิ่งกว่านั้นยังปล่อยให้ต่างประเทศทุ่มสินค้าพื้นฐานเข้ามาแย่งขายในประเทศอย่างสบายใจ
ทั้งนี้เพราะ SMEs ของไทยนอกจากจะขาดการสนับสนุนด้านการเงินจากภาครัฐและจากธนาคารอย่างถึงลูกถึงคนแล้ว เทคโนโลยีที่ทันสมัยและความสามารถในการผลิตเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็ยังด้อยกว่าใครอื่นมาก
ที่น่าหดหู่มากคือรัฐบาลไทยที่แล้วมาขาดวิสัยทัศน์และด้อยความสามารถในการส่งเสริม SMEs
ข่าวที่ประเทศจีนส่งสินค้ามาตีตลาดสินค้าไทยในบ้านที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันนั้นเป็นเรื่องจริงที่นับวันจะเพิ่มแรงกระทบต่อผู้ผลิตคนไทยทั้ง SMEs และผู้ผลิตรายใหญ่
ถ้าดูกันในเชิงลึกแล้วจะพบว่าสินค้าพื้นฐานที่จำเป็นต่างๆ ได้ถูกต่างชาติโดยเฉพาะจีนซึ่งอาศัยสัญญาการค้าเสรี (Free Trade Agreements) ส่งสินค้าแทบทุกประเภทเข้ามาบุกตลาดไทยและกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคอย่างง่ายดาย
จนปัจจุบันนี้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาก ตัวเลขปี 2523 ชี้ชัดว่าไทยขาดดุลการค้ากับจีนถึง 1.30 ล้านล้านบาท
ถ้ามองในเชิงลึกจะเห็นได้ชัดว่าการที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบ้านขนาดเล็กไปจนถึงคอนโดมิเนียมหรู ปรากฏว่าวัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าที่มีคุณภาพดี ราคาถูกกว่าที่ผลิตในเมืองไทยมากล้วนมาจากจีน ไม่ว่ากระเบื้อง อุปกรณ์ไฟฟ้า และสินค้าอื่นๆอีกมาก
ว่ากันตามข้อเท็จจริง ไม่น่าผิดที่จะกล่าวว่า SMEs ของไทยคงจะค่อยๆ ล้มหายตายจากไปอีกไม่น้อยกว่า 30 % ก่อนที่รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลชุดอื่นจะหมดวาระในอีก 3 ปีข้างหน้า ถ้ารัฐไม่ทุ่มเงินและความสามารถเข้าไปแก้ไขให้ถูกทางให้ครบวงจร อย่าหวังว่า SMEs ไทยจะสู้กับประเทศอาเซียนได้
ในระดับผู้ประกอบการขนาดใหญ่
นอกจากสมาคมหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมตราสารหนี้ไทย หน่วยงานอื่นคงไม่รู้ว่าในปัจจุบันนี้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ต่างก็ประสบปัญหาแทบจะเอาตัวไม่รอดกันเป็นจำนวนมาก
พวกเราที่เป็นชาวบ้านก็คงได้ยินข่าวของการฉ้อโกงในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งพฤติกรรมที่ส่ออาการล้มละลายของธุรกิจใหญ่ๆ เกิดบ่อยครั้งขึ้น
สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น ถ้าปล่อยให้เศรษฐกิจของประเทศต้องถดถอยต่อไปอีก ก็คงจะเห็นการทยอยล้มของธุรกิจใหญ่ๆของไทยแน่ แล้วที่คาดหวังว่าจะให้ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยออกไปแข่งขันในต่างประเทศนั้น คิดถูกแล้วหรือ
ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยเป็นตัวที่เสียภาษีเป็นกอบเป็นกำให้แก่รัฐ จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องดูแลด้วยความเป็นธรรมและไม่เลือกข้าง มาตรการต่างๆที่จะออกมาใช้ต้องผ่านการกลั่นกรองด้วยความรอบคอบและรวดเร็ว ยิ่งธุรกิจขนาดใหญ่แข็งแรงเท่าใด ความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะยิ่งสูงมากเท่านั้น
ในระดับรัฐบาล
รัฐบาลไทยก็เช่นเดียวกับรัฐบาลอื่น นอกจากมีหน้าที่หารายได้ด้วยการเก็บภาษีอากรและหารายได้จากช่องทางอื่น เช่น จากค่าสัมปทานด้านต่างๆ แต่รัฐบาลก็ต้องกู้เงินมาใช้ในการบริหารประเทศเหมือนกับเอกชน
ในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินมากจนเกินตัว ซึ่งในปัจจุบันนี้ข้อมูลตัวเลขก็บอกไว้ชัดเจนแล้วว่ากำลังเกินตัวอยู่แล้ว จนต้องกู้เงินชนเพดานที่กฎหมายกำหนดมาตั้งแต่โควิด-19 ระบาด
ในปีงบประมาณ 2567 นี้มียอดขาดดุลงบประมาณที่รัฐบาลต้องกู้เงินสูงถึง 805,000 ล้านบาท เกือบเท่ารายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทีเดียว หรือสูงถึง 22.35 % ของงบประมาณทั้งหมด ยอดนี้ถือว่าสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่ในปีงบประมาณ 2568 ยอดขาดดุลจะชนเพดานสูงขึ้นไปอีกถึง 23% ของงบประมาณทั้งปี
ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณที่สูงอย่างนี้ เป็นประเด็นที่การประชุมพิจารณางบประมาณ 2568 ในสภาฯ กล่าวถึงด้วยความเป็นห่วงอย่างมาก แต่รัฐมนตรีที่รับผิดชอบก็ยังบอกว่าสามารถจัดการได้อยู่
ผมคิดว่าท่านไม่รู้หรือว่า การกู้เงินเพื่อสร้างหนี้เพิ่มของภาครัฐสมัยนี้นอกจากกู้มาเพื่อชดเชยงบขาดดุลจำนวนมากแล้ว ยังมีการกู้เงินมาใช้หนี้เก่าที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณนั้น (Refinancing) มากไม่น้อยกว่าด้วย
ในปีงบประมาณ 2567 ที่กำลังจะผ่านไปมีการกู้ใหม่เพื่อใช้หนี้เก่าที่ครบกำหนดชำระถึงประมาณ 810,000 ล้านบาท จำนวนใกล้เคียงกับยอดการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ
และเชื่อได้ว่างบประมาณปี 2568 ที่กำลังอภิปรายอยู่ในสภาฯ วันนี้จะมียอดกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 865,700 ล้านบาท และจะมียอดกู้ใหม่เพื่อมาใช้หนี้เก่าที่ครบกำหนดชำระอีกประมาณ 850,000 ล้านบาท
แต่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติในสภาฯ ส่วนใหญ่อาจไม่รู้ เพราะยอดเงินกู้นี้จะไม่รวมอยู่ใน พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีที่ท่านกำลังพิจารณาอยู่ การกู้ 2 ยอดนี้รวมกันประมาณ 1.72 ล้านล้านบาท เท่ากับ 60 % ของประมาณการรายได้ 1.89 ล้านล้านบาท
เห็นหรือยังครับว่า ปีหน้านี้โครงสร้างการคลังภาครัฐได้ส่อให้เห็นภาวะวิกฤตการคลังอย่างชัดแจ้งแล้ว
น่าเป็นห่วงและน่ากลัวไหมครับ เชื่อได้เลยว่าจากนี้ไปยิ่งโครงการแจกเงินทั้งด้วยเงินสดหรือด้วยดิจิทัลวอลเล็ตเดินหน้าให้นานาชาติได้เห็น รับรองได้ว่าความเชื่อมั่นของต่างชาติในด้านการคลังของไทยจะยิ่งลดลงไปอีกอย่างไม่ต้องสงสัย
ตลอดเวลาการบริหารประเทศของรัฐบาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยได้ยินเลยว่ารัฐบาลไหนได้คิดที่จะทำในเรื่องบวกให้กับการคลังของประเทศแม้แต่นิดเดียว แต่กลับทำในทางตรงกันข้าม เช่น ทำการลดหย่อนภาษีในเรื่องต่างๆเพื่อดึงดูดการลงทุนจากเอกชนและต่างประเทศในโครงการที่นักการเมืองจะคิดฝันขึ้นมา
ตัวอย่างเช่นโครงการที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการเงิน (Financial Hub) ขึ้นในประเทศ ซึ่งทราบกันว่าโครงการนี้ได้รับการอนุมัติในหลักการจาก ครม. ชุดที่แล้ว
แล้วก็มีข่าวมาจากระดับรัฐมนตรีว่า การจะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นมาได้ จำเป็นที่รัฐบาลไทยจะต้องใช้สิ่งจูงใจด้วยการลดทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มาลงทุน
ผมไม่อยากจะรู้ว่าใครผู้ใด เด็กหรือผู้อาวุโสที่เป็นคนคิดโครงการศูนย์กลางด้านการเงินนี้จะมาจากไหน
แต่อยากจะถามว่าผู้คิดรู้หรือไม่ว่านักลงทุนต่างประเทศที่จะมาลงทุนเขาคิดอะไรกันบ้าง เขาอยากเห็นอะไรในเมืองไทยที่ต้องพร้อมก่อนที่เขาจะตัดสินใจมาลงทุนบ้าง
เอาง่ายๆ ถามว่าระบบที่เป็นพื้นฐานด้านการเงินเราพร้อมแค่ไหน ถามว่ากฎหมายยุ่งยากซับซ้อนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเงินของไทยมากมายหลายเรื่องที่เราต้องแก้ไขให้เอื้อต่อธุรกิจด้านนี้จะทำกี่ปีจึงจะเสร็จ
และที่สำคัญด้านธรรมาภิบาลภาครัฐที่รัฐบาลไม่เคยสนใจจะเติมเต็มนั้น มีใครคิดจะทำกันบ้างไหม การที่ฝ่ายตุลาการต้องเล่นงานผู้นำประเทศไทยจนต้องออกไปถึง 4 คน ในช่วง 12 ปีนั้น ได้บ่งบอกถึงการขาดธรรมาภิบาลของรัฐบาลไทยชัดมากอยู่แล้ว รีบปิดแฟ้มโครงการนี้เสียเถอะครับ
5. บทสรุป
ท้ายที่สุดนี้ ขอเรียนว่าผมเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของกูรูของประเทศบางท่านในหลายมาตรการ แต่ยังไม่เห็นรัฐบาลไหนเข้าไปแตะต้องมาตรการด้านภาษีในเชิงบวกต่อประเทศชาติเลย
ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลใหม่ของไทยจะต้องกล้าที่จะทำมาตรการด้านภาษีที่เป็นบวกก่อนที่จะสายเกินแก้ จะต้องทำการปรับระบบภาษีของไทยเป็นสีเขียว (Green Fiscal Policy) ให้ได้
ถ้าให้เข้าใกล้ประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ต้องเพิ่มการเก็บภาษีจากคนรวยให้มีสัดส่วนสูงขึ้น แต่จากรูปแบบของการเมืองไทยที่มีนายทุนหนุนในปัจจุบัน เห็นท่าจะยาก
ในขั้นต้นนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) ให้เพิ่มขึ้น 1 % จาก 7 % เป็น 8 % โดยควรเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 พร้อมกับประกาศแผนให้ปรับอีกครั้ง 1 %
ในอีก 2 ปีข้างหน้า ไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว ปีหน้านักท่องเที่ยวจะเข้ามาไม่น้อยกว่า 30 ล้านคน พวกเขาจะช่วยจ่าย VAT ที่เพิ่มให้สรรพากรได้อีกมาก
ถ้าภาษี VAT เพิ่มขึ้น 1 % เมื่อเทียบกับข้อมูลภาษี VAT ที่สรรพากรเก็บได้ในช่วง 2 ปีที่แล้ว จะได้เงินภาษี VAT เพิ่มขึ้นปีละ 130,000 ล้านบาท การขึ้นภาษี VAT นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศใช้ในช่วงที่การระบาดของโควิด-19 ยังไม่หมด และรัฐบาลสิงคโปร์ก็ได้ประกาศเพิ่ม VAT ในช่วงเวลาใกล้ๆกับญี่ปุ่นด้วย
นี่จะเป็นมาตรการทางการคลังอันเดียวที่ควรนำมาใช้ก่อน ถ้าจะคอยให้ประชาชนลืมตาอ้าปากแล้วค่อยปรับภาษีนี้เหมือนที่นักการเมืองทั้งหลายคิดกัน ก็ต้องรอชาติหน้าตอนบ่ายๆ
แต่ถ้าเราไม่ทำนอกจากการคลังของประเทศจะทรุดหนักต่อไปแล้ว ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในด้านการคลังก็จะไม่เกิดขึ้นเลย ไม่ต้องไปวิเคราะห์กันมาก นักลงทุนต่างชาติเขารู้กันดีว่าประเทศไทยนั้นมีฐานะการคลังภาครัฐอ่อนล้า มีสัญญาณชีพต่ำ แถมทั้งนักการเมืองและข้าราชการก็ทำไม่รู้ไม่ชี้เอาแต่คิดโกงกินกันร่ำไป
ที่นำเสนอเรื่องการปรับ VAT มาทั้งๆที่รู้อยู่ดีว่ารัฐบาลที่บริหารประเทศโดยการเมืองน้ำเน่าที่ยังไม่พ้นน้ำเลยนั้นยากที่จะรับได้ ก็เพราะเห็นชัดว่าการคลังภาครัฐถึงทางตันแล้ว การจะฝืนก่อหนี้ของรัฐบาลต่อจากนี้มีแต่จะเร่งก่อให้เกิดความหายนะทางเศรษฐกิจ และจะทำให้ความเชื่อมั่นจากนานาประเทศยิ่งลดน้อยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย.