ศึกชิง ‘เซมิคอนดักเตอร์’ ระอุ ‘ไทย-เวียดนาม’ เร่งแข่งดึงการลงทุน
ชาติอาเซียนประกาศแผนดึงลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ หลังมาเลเซียนำหน้ายุทธศาสตร์ศูนย์กลางผลิตชิประดับโลก “เวียดนาม” เตรียมคลอดสิทธิประโยชน์ ลดหย่อนภาษี 150 ปี เช่าที่ฟรี 10 ปี "ไทย" สะดุดการเมือง “บีโอไอ” รอชงแพทองธาร ตั้งเซมิคอนดักเตอร์บอร์ด สิงคโปร์ ผนึก "อินเดีย" ลงทุนด้วย
อุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญ และมีผลต่อซัพพลายเชนโลกในขณะนี้ คือ เซมิคอนดักเตอร์ โดยหลายประเทศในเอเชียพยายามช่วงชิงการลงในบนสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์
ที่ผ่านมา “มาเลเซีย” ได้ประกาศยุทธศาสตร์ศูนย์กลางผลิตชิประดับโลก โดยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเกือบ 2 แสนล้านบาท เพื่อฝึกอบรมวิศวกรทักษะสูง 60,000 คน พร้อมตั้งเป้าดึงดูดการลงทุนเกือบ 4 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังตั้งคณะกรรมการระดับชาติ “เซมิคอนดักเตอร์บอร์ด” เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นแนวทางดำเนินการที่วางไว้ตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอจะเสนอรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีดึงการลงทุนเชิงรุกที่เน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นฐานการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมต้นน้ำสำคัญ 2 สาขา คือ เซมิคอนดักเตอร์ และแบตเตอรี่
สำหรับการเสนอตั้ง “เซมิคอนดักเตอร์บอร์ด” จะขับเคลื่อนการดึงลงทุนได้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยปัจจุบันมีหลายบริษัทยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมาแล้ว ซึ่งเป็นบริษัทจากสหรัฐ และยุโรป รวมทั้งมีบริษัทที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งการผลิตชิปต้นน้ำ และการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่สุดในไทย ซึ่งมีงบประมาณในการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท และจะเกิดขึ้นจริงช่วง 1-2 ปีนี้
ส่วนความเคลื่อนไหวของเวียดนามได้ประกาศตัวชัดเจนในการชิงการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์เช่นกัน โดยเตรียมออกสิทธิประโยชน์การลงทุนครั้งสำคัญ
สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานว่า เวียดนามกำลังร่างกฎหมายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลฉบับใหม่ (DTI) ซึ่งมาพร้อมสิทธิประโยชน์มากมาย เพื่อดึงบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ระดับโลกเข้าไปลงทุน อาทิ
“อินวิเดีย” (Nvidia) ผู้ผลิตชิปจากสหรัฐรายใหญ่ที่ร่วมมือกับ FPT บริษัทเทคโนโลยีใหญ่สุดในเวียดนามในการสร้างโรงงานสำหรับส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี AI และ “เบซี่” (Besi) ผู้ผลิตอุปกรณ์ชิปจากเนเธอร์แลนด์ซึ่งได้ลงทุนเบื้องต้น 4.9 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ (ราว 164 ล้านดอลลาร์)
เวียดนามอัดสิทธิประโยชน์ลงทุน
สำหรับร่างกฎหมาย DTI เวียดนามได้เตรียมสิทธิประโยชน์ เช่น ลดหย่อนภาษีสูงสุด 150% สำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัย และพัฒนา เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการลงทุน อนุมัติวีซ่าแบบฟาสต์แทรกเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงานในโครงการ และการใช้ที่ดินฟรีเป็นเวลา 10 ปี
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 160 ล้านดอลลาร์ (ราว 5 พันล้านบาท) ขึ้นไป โดยให้พิจารณาเอกสารอนุมัติเร่งด่วน และยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับวัตถุดิบ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ รวมถึงการยกเว้นภาษีรายได้ส่วนบุคคลสำหรับผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
ทั้งนี้ เวียดนามกำลังนำเสนอกฎระเบียบใหม่เพื่อคว้าโอกาสจากสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งได้ผลักดันให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ และบริษัทอื่นต้องกระจายห่วงโซ่อุปทานของตน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนามต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามาตรการจูงใจทางภาษีที่นำเสนอนั้น สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ภาษีขั้นต่ำระดับโลกที่นานาชาติกำลังผลักดันหรือไม่
เจิ่นแมงฮุง จากเบเคอร์ แม็คเคนซี มองว่า ร่างกฎหมายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเวียดนามจริงจังแค่ไหนในการดึงดูดบริษัทชิป
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารด้านชิปของสหรัฐ ตั้งแต่ "แพท เกลซิงเกอร์” ของอินเทล (Intel) ไปจนถึง “เจนเซน หวง” ของอินวิเดีย เดินทางเยือนกรุงฮานอย ได้จุดกระแสความสนใจจากสื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่เข้าเวียดนาม
นอกจากนี้ กระทรวงสารสนเทศของเวียดนาม กำลังประชุมหน่วยงานอื่น และตัวแทนภาคเอกชน เพื่อให้ข้อมูลการสรุปกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะเสนอรัฐสภาเดือนต.ค.2567 และมีผลบังคับใช้ช่วงกลางปี 2568
หวังยึดผู้นำลงทุนระดับโลก
สิทธิประโยชน์เหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อเร่งให้เวียดนามก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านพลังงาน และการฝึกอบรม ที่เวียดนามยังด้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีอุตสาหกรรมขั้นสูงกว่า
อุตสาหกรรมชิปของเวียดนามยาวนานเกือบ 20 ปี แต่ได้เข้าสู่ยุคทองในปี 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดทางเทคโนโลยีทั่วโลกได้ผลักดันให้เวียดนามกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้กับแบรนด์ชั้นนำอย่างซัมซุง (Samsung) ไปจนถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ออกแบบชิปให้กับบริษัทระดับโลก เช่น อินฟินีออน ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และบริษัทออกแบบชิป ไซนอปซิส
เวียดนามกำลังเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวเข้ากับมาตรฐานภาษีใหม่ของโลก โดยต้องบาลานซ์ระหว่างการดึงดูดนักลงทุนด้วยมาตรการจูงใจต่างๆ กับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ภาษีขั้นต่ำ 15% ที่องค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) และกว่า 140 ประเทศทั่วโลกให้การสนับสนุน ซึ่งหมายถึงการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีบางส่วนที่เคยใช้เป็นเครื่องมือดึงดูดนักลงทุนในอดีต แม้ว่าภาคธุรกิจจะพยายามผลักดันให้มีมาตรการชดเชย เช่น เงินอุดหนุนหรือเครดิตภาษีก็ตาม
และความท้าทายด้านงบประมาณก่อนหน้านี้ อินเทลได้เรียกร้องให้เวียดนามปรับปรุงนโยบายจูงใจเพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งรายเดิม และรายใหม่ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่นักลงทุนย่อมส่งผลกระทบต่องบประมาณของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“สิงคโปร์-อินเดีย”ลุยเซมิคอนดักเตอร์
เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีของอินเดีย พบกับ “ลอว์เรนซ์ หว่อง” นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในวันที่ 5 ก.ย.2567 ในระหว่างการเยือนสิงคโปร์เป็นเวลา 2 วัน ซึ่งได้ลงนามในข้อตกลงหลายฉบับ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในด้านเซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล
สำหรับความเห็นของโมดีในระหว่างพบปะกับหว่อง โมดี กล่าวว่า “สิงคโปร์ไม่ใช่เพียงหุ้นส่วน แต่เป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกประเทศที่กำลังพัฒนา เราต้องการสร้างสิงคโปร์หลายแห่งในอินเดีย และผมยินดีที่เรากำลังพยายามร่วมมือกันในทิศทางนี้”
ทั้งสองประเทศลงนามบันทึกความเข้าใจสี่ฉบับเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาทักษะ และการดูแลสุขภาพ ตามที่รัฐบาลอินเดียระบุ
ในด้านการผลิตชิปสิงคโปร์ จะสนับสนุนอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตของอินเดียในขณะที่อินเดียจะส่งเสริมการเข้ามาของบริษัทสิงคโปร์ และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในตลาดขนาดใหญ่ของตน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์