'เวียดนาม' ไม่แพ้ไทย ทุ่มจ่ายเงินซื้อ 'ลาบูบู้' เปย์ไม่อั้น

'เวียดนาม' ไม่แพ้ไทย ทุ่มจ่ายเงินซื้อ 'ลาบูบู้' เปย์ไม่อั้น

ชาวเวียดนาม นิยมซื้อ ”ตุ๊กตาลาบูบู้ ” เผยไตรมาส 2 มียอดจำหน่ายตุ๊กตาลาบูบู้  200,000 ดอลลาร์ ชี้ ชนชั้นกลางเพิ่มส่งผลต่อรายได้ ทำให้ยอมจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยได้  HTF Market Intelligence คาดว่า ปี 2573คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.26%  จนมีมูลค่าสูงถึง 10,938.96 ล้านดอลลาร์

KEY

POINTS

Key Point

  • HTF Market Intelligence  เผย  มูลค่าตลาดอาร์ตทอยของโลกในปี 2566 อยู่ที่ 8,517.81 ล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.26%  จนมีมูลค่าสูงถึง 10,938.96 ล้านดอลลาร์ในปี 2573
  • นีลเส็น ประเทศไทย เผย ไทยเป็นประเทศที่มีการพูดถึง "ลาบูบู้" มากที่สุดในโลก
  • ไตรมาสที่ 2 ปี 2567 มียอดจำหน่ายตุ๊กตาลาบูบู้ในเวียดนาม 5,000 ล้านเวียดนามด่ง หรือประมาณ 200,000 ดอลลาร์
  • จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นประเทศในทวีปเอเชียที่เป็นศูนย์กลางของการผลิตและสะสมอาร์ตทอย

อาร์ตทอย (Art Toy) เป็นสินค้าของเล่นของสะสมประเภทหนึ่งที่กำลังอยู่ในกระแสนิยม ซึ่งอาร์ตทอยเป็นของเล่นที่ถูกออกแบบจากศิลปินหรือนักออกแบบ โดยเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะสมัยใหม่กับของเล่นแบบเดิม ทำมาจากวัสดุหลากหลายชนิด อาทิ พลาสติก ไวนิล ไม้ เหล็ก ผ้ากำมะหยี่และเรซิน

จุดเด่นอาร์ตทอย จะเน้นการสร้างสรรค์ตัวละครแบบไม่ต้องมีเนื้อเรื่อง แต่มีรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่ ผลิตในจำนวนที่จำกัด ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อการครอบครอง และหากเป็นผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงหรือกำลังอยู่ในกระแส ความต้องการยิ่งเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

"ตุ๊กตาลาบูบู้ (Labubu)" ถือเป็นสินค้า Art Toy ที่มาแรงมากที่สุดในช่วงนี้โดยเฉพาะประเทศไทย  ซึ่งนีลเส็น ประเทศไทย เผยข้อมูลเทรนด์ผู้บริโภคคนไทย พบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีการพูดถึง "ลาบูบู้" มากที่สุดในโลก

ยิ่งคนดังอย่าง ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ได้ถ่ายรูปคู่กับลาบูบู้ รุ่นมาการอง ก็ยิ่งตอกย้ำความนิยมชมชอบ และโด่งดังมากขึ้นในชั่วข้ามคืน  จนกระทั่ง”ตุ๊กตาลาบูบู้ในไทยถึงกับขาดตลาด ซึ่งไม่แต่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ตลาดอาเซียนก็โด่งดังและมีความต้องการครอบครอง ”ตุ๊กตาลาบูบู้” ไว้กับตัว โดยเฉพาะผู้บริโภคชาวเวียดนาม

ข้อมูลจากเว็ปไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม รายงานว่า แนวโน้มผู้บริโภคเวียดนามที่นิยมสินค้า Art Toy จากบริษัท Pop Mart มากขึ้น โดยเฉพาะ ตุ๊กตาลาบูบู้ (Labubu) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 มียอดจำหน่ายตุ๊กตาลาบูบู้ในเวียดนาม 5,000 ล้านเวียดนามด่ง หรือประมาณ 200,000 ดอลลาร์

\'เวียดนาม\' ไม่แพ้ไทย ทุ่มจ่ายเงินซื้อ \'ลาบูบู้\' เปย์ไม่อั้น

ตามข้อมูลของบริษัท Metric ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลอีคอมเมิร์ซ ยอดขายสินค้าทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ Labubu บนแพลตฟอร์ม Shopee แพลตฟอร์ม Lazada และแพลตฟอร์ม TikTok Shop รวมกันมีมูลค่า 5,200 ล้านเวียดนามด่งในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 เพิ่มขึ้นมากกว่า 6 เท่าจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2567

เนื่องจาก Art Toy ดังกล่าวได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตุ๊กตา Labubu และสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น เสื้อ พวงกุญแจ และฝาครอบสมาร์ทโฟน ขายทางออนไลน์ในราคาระหว่าง 700,000 เวียดนามด่ง ถึง 2 ล้านเวียดนามด่ง แต่ Labubu ที่หายากจะมีราคามากกว่า 10 ล้านเวียดนามด่ง

โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ตุ๊กตา Labubu ขายบนแพลตฟอร์ม TikTok Shop มากกว่า 145,100 รายการ และขายบนแพลตฟอร์ม Shopee รวมกับแพลตฟอร์ม Lazada ได้ 19,500 รายการ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขยอดขายดังกล่าวยังไม่รวมตัวเลขของบริษัท Pop Mart ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่าย Art Toy Labubu อย่างเป็นทางการในเวียดนาม โดยมีร้านค้า 2 แห่งในนครดานัง และนครโฮจิมินห์

นอกจากนี้ ยังมีผู้ค้าที่นําเข้า Art Toy Labubu จากประเทศอื่น ๆ เช่น คุณ Nguyen Dang Khang ผู้จัดจําหน่าย Art Toy จากบริษัท Toystory9 ได้สั่งซื้อ Art Toy Labubu จากประเทศจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น มีลูกค้าประมาณ 200 รายที่สั่งซื้อสินค้ามากกว่า 300 รายการต่อเดือน และกําลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในเวียดนาม

ความนิยม Labubu สูงขึ้นเนื่องจากอิทธิพลของซูเปอร์สตาร์ระดับโลกอย่าง ลิซ่า ลลิษา มโนบาล ที่ทำให้ใคร ๆ ก็อยากได้ Labubu มาครอบครอง ศิลปินและผู้สร้างคอนเทนต์เวียดนาม (Content Creator) หลายคนยังสะสมของเล่น Labubu และพูดคุยบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งส่งผลให้มีความต้องการ Art Toy ดังกล่าวมากขึ้น

ลูกค้าจำนวนมากยอมจ่ายเงิน 3-5 ล้านเวียดนามด่งสําหรับ Labubu blind set ซึ่งมี Characters 6 ตัวที่มีสไตล์แตกต่างกัน ลูกค้าต้องซื้อหลายชุดเพื่อต้องการเป็นเจ้าของ Characters ที่หายาก ซึ่งบางตัวขายได้สูงในราคาที่ 5 ล้านเวียดนามด่ง

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของ Art Toy Labubu เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มประชากรรายได้ระดับปานกลางในเวียดนามเพิ่มขึ้นและมีความสามารถในการซื้อสินค้าที่ไม่จําเป็นเพิ่มขึ้น

บริษัทที่ปรึกษา McKinsey คาดการณ์ว่า ในปี 2578 ครึ่งหนึ่งของประชากรเวียดนามจะเป็นกลุ่มประชากรรายได้ระดับปานกลาง ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคในเวียดนามเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ แนวโน้มความนิยม Art Toy Labubu ในเวียดนามแสดงให้เห็นว่าความสามารถของผู้บริโภคเวียดนามในการชำระเงินเพื่อซื้อ Art toy และความหลงใหลในการสะสมเพิ่มขึ้นจากเดิม เนื่องจากชนชั้นกลางในเวียดนามมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คาดว่าการเติบโตของกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 % ภายในปี 2578 ซึ่งสะท้อนแนวโน้มความสามารถในการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยได้มากขึ้นของตลาดเวียดนาม

“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ “ ผู้อำนวยการนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า  ตลาดอาร์ตทอยมีการเติบโตอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากเดิมเป็นเพียงสินค้าที่นิยมเฉพาะกลุ่ม จนขยายวงกว้างเป็นปรากฎการณ์ที่นิยมในปัจจุบัน โดยกลุ่มลูกค้าหลักเป็นกลุ่ม Gen Z (กลุ่มคนที่เกิดตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นไป) กลุ่มพนักงานออฟฟิศ (White-Collar) ที่มีอายุระหว่าง 15-40 ปี และกว่า 70 %  เป็นผู้หญิง เนื่องจากมีความหลงใหลชื่นชอบสินค้าที่มีรูปแบบน่ารักและน่าสะสม

ข้อมูลจาก HTF Market Intelligence ที่เป็นบริษัทวิจัยตลาดชั้นนำของโลก ระบุว่าในปี 2566 มูลค่าตลาดอาร์ตทอยของโลกอยู่ที่ 8,517.81 ล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.26%  จนมีมูลค่าสูงถึง 10,938.96 ล้านดอลลาร์ในปี 2573 ซึ่งตลาดอาร์ตทอยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ในทวีปเอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป ตามลำดับ

ประเทศในทวีปเอเชียที่เป็นศูนย์กลางของการผลิตและสะสมอาร์ตทอย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะจีน ที่มีตลาดและฐานการผลิตอาร์ตทอยขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เห็นได้จาก บริษัท ป๊อปมาร์ท (POP MART) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาร์ตทอยชั้นนำของจีน มีร้านค้าปลีกมากกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศจีน และกระจายไปกว่า 100 แห่งทั่วโลกรวมถึงไทย

จากข้อมูลของสำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานว่า มากกว่า 80 %ของอาร์ตทอยทั่วโลกถูกผลิตในจีน โดยหนึ่งในสามผลิตในเมืองตงก่วน มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งในปี 2565 มีบริษัทขนาดใหญ่กว่า 87 แห่งในเมืองตงก่วน ผลิตของเล่นประเภทอาร์ตทอย และสร้างมูลค่าผลผลิตทางอุตสาหกรรมกว่า 16,660 ล้านหยวน (2,479 ล้านดอลลาร์) ขยายตัวจากปีก่อนหน้า 29.80 %