'สรรพากร' ตั้งเป้าเก็บรายได้ปี 68 เพิ่ม 1 แสนล้าน เล็งขยายฐานภาษี ดึงเข้าระบบ

'สรรพากร' ตั้งเป้าเก็บรายได้ปี 68 เพิ่ม 1 แสนล้าน เล็งขยายฐานภาษี ดึงเข้าระบบ

"สรรพากร" เผยเป้าการจัดเก็บรายได้ปีงบ 68 เพิ่มขึ้น 4.2% เล็งขยายฐานภาษีใช้เทคโนโลยีดึงคนเข้าระบบเพิ่ม เตรียมพัฒนาระบบเก็บ VAT กับแพลฟอร์มสินค้านำเข้า รายได้เพิ่ม 1,500 ล้าน แก้กฎหมายเก็บภาษีตามหลักถิ่นที่อยู่

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2568 สรรพากร ประมาณเป้าการจัดเก็บรายได้ อยู่ที่ 2.3725 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน ตามกรอบวงเงินรายจ่ายงบประมาณปี 2568 ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรถือเป็นกว่า 80% ของการจัดเก็บภาษีทั้งหมด 

ทั้งนี้ กรมสรรพากรเดินหน้าสานต่อการขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ ตามนโยบาย “oneRD : ONE TEAM ONE SEAMLESS TAX ECOSYSTEM” เพื่ออำนวยความสะดวกทำให้การยื่นแบบภาษีง่ายและไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น สนับสนุนให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมาย 

โดยการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 จะเริ่มเปิดให้บริการ One Portal : My Tax ซึ่งเป็นระบบที่จะแสดงข้อมูลทางภาษีให้อย่างครบถ้วน ทั้งแบบ ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ และที่เพิ่มเติมคือ ภ.ง.ด.3 ซึ่งเป็นเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่นายจ้างมีการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้กับสรรพากร 

"โดยการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของนายจ้างหรือบริษัท ของเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จะทำให้เห็นข้อมูลของบุคคลที่ควรจะเสียภาษีเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษี และยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรการรัฐในการลดหย่อนภาษีอีกด้วย"

 

 

นอกจากนี้ กรมสรรพากร เตรียมเสนอแนะและจัดทำนโยบายทางภาษีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน รวมทั้งการปรับปรุงหลักเกณฑ์หรือกฎหมายการจัดเก็บภาษีให้มีความทันสมัย ซึ่งคาดว่าจะมีการบังคับใช้ในปีหน้า ประกอบด้วย

1.การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าสินค้า Low-Value Goods มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท โดยสรรพากรอยู่ระหว่างจะมีการพัฒนาระบบเพื่อให้แพลตฟอร์มที่มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นผู้นำส่ง VAT 7% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น โดยคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปีหน้า ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่าสรรพากรจะจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มราว 1,500 ล้านบาทต่อปี 

2.การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ตามหลักการ Pillar 2 ที่กำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่เสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษี ที่แท้จริงไม่น้อยกว่า 15% โดยกรมสรรพากรอยู่ระหว่างเร่งเสนอกฎหมายต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทันที เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม

3. การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักถิ่นที่อยู่ เมื่อพำนักในประเทศไทยเกิน 180 วัน มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามหลักของ Wolrd Wide Income เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้อยู่อาศัยในประเทศทุกคนที่มีหน้าที่ยื่นแบบภาษี ขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่างหลักการแก้กฎหมาย โดยตัดเงื่อนไขว่าจะต้องนำรายได้เข้ามาจึงจะต้องสำแดงและเสียภาษี

"การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่ได้โฟกัสแค่ชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในไทยเท่านั้น แต่รวมถึงคนไทยที่มีการลงทุนกองทุนส่วนตัวในต่างประเทศด้วย ทั้งนี้กรณีผู้ที่เสียภาษีแล้วในต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องเสียอีก แต่จะต้องมีการสำแดงให้ทราบด้วย"

11 เดือน จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้า

ในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566 - ส.ค.2567) กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้กว่า 1,963,205 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณฯ 8,482 ล้านบาทหรือ 0.4% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 47,911 ล้านบาทหรือกว่า 2.5% 

ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา อาทิ มาตรการ “Easy E-Receipt” ที่ช่วยเหลือประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice & e-Receipt) ซึ่งเป็นมาตรการภาษีสำหรับประชาชนที่ใช้บริการหรือซื้อสินค้าจากร้านค้าดังกล่าวสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2567

รวมทั้ง มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ ที่เป็นแรงส่งให้การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 7.7%

“การที่กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงการคลังได้มอบหมายไว้เป็นส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศเอาไว้ได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งคาดว่า GDP จะขยายตัวกว่า 3.2%”

ทั้งนี้ คาดการณ์ล่าสุดจากรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับลดแนวโน้ม GDP ปี 2567 ว่าจะขยายตัวเพียง 2.5% จากตัวเลข GDP ครึ่งปีที่ขยายตัวต่ำที่เพียง 1.9%