'สรรพากร' เร่งเก็บภาษี 'GMT' ด้าน 'WHA' ฃี้นโยบายไม่กระทบต่างชาติลงทุนไทย

'สรรพากร' เร่งเก็บภาษี 'GMT' ด้าน 'WHA' ฃี้นโยบายไม่กระทบต่างชาติลงทุนไทย

การกำหนดภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax: GMT) ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) เข้ามาตั้งฐานการผลิตและส่งออก สร้างการจ้างงาน และพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ

KEY

POINTS

  • แนวทางการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ (Pillar Two) กำหนดให้บริษัทข้ามชาติเสียภาษีเงินได้ไม่น้อยกว่า 15% ในประเทศที่ไปลงทุน ซึ่งจะทำให้ประเทศที่ต้องการดึง FDI ต้องหาเครื่องมืออื่น นอกจากการแข่งขันด้านภาษี
  • "WHA" มองว่านโยบายดังกล่าวจะยิ่งลดข้อได้เปรียบของประเทศอื่น และช่วยลดคู่แข่งที่อยากจะแย่งส่วนแบ่งไป แต่ไม่กระทบกับไทย 
  • มองเทรนด์การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตคาดว่าจะยังเกิดขึ้นไปอีก 3-5 ปี

การกำหนดภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax: GMT) ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) เข้ามาตั้งฐานการผลิตและส่งออก สร้างการจ้างงาน และพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรจะเร่งเสนอร่างพ.ร.บ.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ.... ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทันที เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (GMT) ตามหลักการ Pillar 2 ตามข้อตกลงการเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่กำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่เสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษี ที่แท้จริงไม่น้อยกว่า 15% 

"ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ภาษีส่วนเพิ่ม ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญแล้ว และพร้อมจะเสนอต่อครม. ทันที เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ภายในปีหน้า"

นายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาหัวข้อ “Game-Changing Opportunities in Thailand: The Rise of New Industries and Investment Relocation” ในงาน “Thailand Focus 2024: Adapting to a Changing World” จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2567 ว่า การบังคับใช้ภาษี GMT เป็นมาตรการหนึ่งที่สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของประเทศที่ต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (FDI Destinations) 

ซึ่งที่ผ่านมาประเทศเหล่านี้ใช้มาตรการทางภาษีเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างแรงดึงดูดนักลงทุน และแม้ว่าจะมีการเก็บภาษี GMT แล้ว ก็เชื่อว่าทุกประเทศจะมีแนวทางในการชดเชย อุดหนุน หรือสนับสนุนบริษัทข้ามชาติในวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาตรการภาษีโดยตรง 

"ในทางกลับกัน การเก็บภาษี GMT ในมุมมองของผม คิดว่าจะทำให้ประเทศอื่นๆ ที่อยากเข้ามาแย่งส่วนแบ่ง FDI จากไทยและเวียดนาม ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากไม่มีมาตรการภาษีแล้ว"

ในขณะที่ข้อดีของไทยที่เราตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ มีโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และดิจิทัล นอกจากนั้นยังมีความแข็งแกร่งของระบบการเงิน โรงพยาบาล โรงเรียนนานาชาติ องค์ประกอบเหล่านี้เองล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ผนวกกับความร่วมมือทั้งของภาครัฐ เอกชน ทำให้เราเห็นผลสำเร็จในการดึงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยแล้วในปัจจุบัน

ยอดขายที่ดินยังทำสถิติสูงสุดใหม่

ทั้งนี้ แนวโน้มการลงทุนจากกระแสการเคลื่อนย้ายฐานทุนและแรงกดดันของภูมิรัฐศาสตร์ยังคงปักหมุดมาในภูมิภาคนี้ รวมทั้งประเทศไทย โดยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมซึ่งไทยมีซัพพลายเชน เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และคอนซูเมอร์ และในช่วง 2-3 ปีนี้เริ่มเห็นอุตสาหกรรมใหม่ที่เข้ามามากขึ้น เช่น อีวีและชิ้นส่วนประกอบ ดาต้าเซ็นเตอร์ และยังมีอีกมากในกลุ่มนี้ที่อยู่ระหว่างการเจรจา 

โดยสะท้อนให้เห็นจากยอดขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิบเอชเอภายหลังสถานการณ์โควิดเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า จากเดิมอยู่ที่ระดับ 1,000 ไร่ ต่อปีและหลังโควิดยอดขายเพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,800-2,000 ไร่ต่อปี  ซึ่งดับบลิวเอชเอยังคงมองเห็นตัวเลขยอดขายที่ดินสูงเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในปีนี้ 

"เราเชื่อว่าวัฏจักรการเคลื่อนย้ายฐานทุนจะยังเกิดขึ้นในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งมองเห็นกลุ่มนักลงทุนที่กลับเข้ามา ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐ และช่วงที่ผ่านมามีนักลงทุนจากจีนที่เข้ามาในสัดส่วนที่มากขึ้นและเป็นอันดับ 2 ในพอร์ตของเรา อย่างไรก็ตามนักลงทุนญี่ปุ่นยังมีจำนวนมากที่สุด"

นายณัฐพรรษ กล่าวว่า ในช่วงเวลาเดียวกันแม้จะเห็นว่ามีการย้ายฐานผลิตออกไปจากไทย ในกรณีค่ายรถญี่ปุ่นบางแห่งที่ปิดโรงงาน เนื่องจากมีปริมาณการผลิตที่น้อยลง แต่ว่าการเข้ามาของอุตสาหกรรมอีวีจีน ก็ทำให้โดยภาพรวมยังคงส่งผลบวกต่อยอดการผลิตรถยนต์โดยรวมในประเทศ ซึ่งในขณะนี้อาจยังเห็นตัวเลขการผลิตรถยนต์ในประเทศไม่ชัดเจน เนื่องจากยังเป็นช่วงที่มีการสนับสนุนการนำเข้า แต่ในอีก 1-2 ปีนี้ จะเริ่มเห็นจำนวนการผลิตที่เพิ่มขึ้น

BOI เตรียมมาตรการรองรับ

รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีบริษัทข้ามชาติที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 15% ประมาณ 1,200 บริษัท ทำให้บริษัทที่เคยได้รับการยกเว้นภาษีตามสิทธิประโยชน์ของบีโอไอที่อยู่ในเกณฑ์นี้จะไม่ได้รับยกเว้นภาษี 

อย่างไรก็ตาม บีโอไอเตรียมพร้อมทั้งมาตรการการเงิน ซึ่งจะให้ทั้งบริษัทรายเดิมที่ได้สิทธิประโยชน์ และบริษัทใหม่ที่จะยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน เลือกขอลดหย่อนแทนยกเว้นได้ แต่ระยะเวลาได้สิทธิประโยชน์จะนานขึ้น โดยบริษัทต้องจ่ายภาษีให้ภาครัฐเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ และมีภาระจ่ายภาษีเพิ่มไม่มากนักในแต่ละปี 

รวมทั้งบีโอไอเตรียมมาตรการการเงิน โดยใช้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อช่วยลงทุนของบริษัทชั้นนำ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเงินกองทุนจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน ขณะที่บริษัทเอกชนต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น แต่จะได้เงินกองทุนเป็นค่าใช้ในการลงทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาบุคลากร