“พิชัย” เผยนโยบายเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนท่องเที่ยว แก้หนี้ ปฏิรูปภาษี

“พิชัย” เผยนโยบายเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนท่องเที่ยว แก้หนี้ ปฏิรูปภาษี

“พิชัย” เผยนโยบายควิกวินรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ บูสการท่องเที่ยวทาร์เก็ตกลุ่มใช้จ่ายสูง จัดอีเวนต์รับนักท่องเที่ยว เร่งแก้หนี้ ยืดเวลาผ่อน ลดภาระ ลดค่าใช้จ่าย เล็งบูรณาการภาษีทั้งระบบ จัดสรรรายได้คนรวยให้คนรายได้น้อย

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวตอนหนึ่งในช่วงปาฐกถาพิเศษในงาน AMCA Business Forum 2024 หัวข้อ “Shaping Tomorrow: Exploring the Intersections of Aging Society on Human Security and Social Development” เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2567 ว่า  สิ่งที่รัฐบาลจะทำต่อไปนี้ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติประชากรในประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ และมีอัตราการเกิดต่ำ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารส่วนที่ต้องรีบทำก่อนได้คือ เร็วที่สุด (Quick Win) คือ การผลักดันภาคส่วนที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้วให้ดีต่อเนื่อง ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว โดยให้เลือกกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูงแทนที่จะเน้นปริมาณมาก รวมทั้งมีการจัดอีเวนต์รองรับ และดึงดูดกลุ่มที่จะเข้ามา

ขณะเดียวกัน ต้องแก้ปัญหาการบริโภคในประเทศโดยการแก้หนี้ให้ประชาชน โดยเฉพาะหนี้ที่อยู่อาศัย ซึ่งได้มีมาตรการนำร่องไปแล้ว ให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ยืดระยะเวลาการผ่อนได้นานขึ้นเพื่อลดภาระรายจ่ายต่อเดือน ขณะที่ในส่วนของหนี้รถยนต์ที่หลายคนกังวล ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ผลิต ผู้ขาย และสถาบันการเงิน 

"แม้สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับหนี้รถยนต์จะเป็นธนาคารพาณิชย์ แต่เชื่อว่าแบงก์ทราบดีว่าจะต้องช่วยเหลือลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็นคนไทยกว่า 90% หากลูกค้ากลับมาฟื้นตัวได้ก็เป็นเรื่องวิน-วิน สำหรับแบงก์ นอกจากนี้โครงสร้างการเงินของแบงก์ที่เข้มแข็งภายใต้เหตุการณ์ปัจจุบัน หากลูกหนี้แย่ลงแบงก์ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน"

นายพิชัย กล่าวต่อว่า นอกจากแก้หนี้แล้วต้องช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน โดยให้มีการบูรณาการภาษีทั้งระบบ ในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล เพื่อลดช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวย และคนจนที่มีแนวโน้มจะยิ่งห่างกันมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากอัตราภาษีเงินได้สูงเกินไปก็จะทำให้แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ไม่ได้ และทำให้คนไม่อยากเข้ามาอยู่ในไทย 

สำหรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มีการเก็บภาษีในอัตราเดียว ไม่ได้แยกเก็บไม่ว่าจะเป็นคนรวยคนจน ใครที่บริโภคมากก็จ่ายภาษีมาก แต่ว่าจะต้องให้มีการจัดสรรภาษีดังกล่าวส่วนหนึ่งไปสู่คนที่มีรายได้น้อย

นอกจากนี้ ต้องลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการในประเทศ โดยการเป็นเจ้าของแหล่งทรัพยากร การผลัดกันเรื่องปุ๋ยในประเทศ และการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางพลังงานระหว่าง ไทย-กัมพูชา (OCA) เพื่อนำก๊าซธรรมชาติที่ยังมีอยู่มาใช้ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนไปได้อีก 20 ปี 

ส่วนในระยะยาวต้องปรับเชิงโครงสร้าง ได้แก่ การจัดการน้ำ ระบบโลจิสติกส์ ให้ไทยไม่ต้องแข่งกับจีน แต่อยู่กับจีน และเอ็นจอยกับจีน การเชื่อมแลนด์บริดจ์

สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป บางเรื่องกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน ขณะที่บางเรื่องคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว เช่น สถานการณ์ตลาดทุนไทยที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ รัฐบาลจะยังคงเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยในเฟสแรกให้กับกลุ่มเร่งด่วน กลุ่มเปราะบาง และผู้พิการ จำนวนประมาณ 14.5 ล้านคน ให้เริ่มใช้จ่ายก่อน 30 ก.ย. นี้ 

อย่างไรก็ตาม ต้องรอความชัดเจนหลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 12-13 ก.ย.2567 เบื้องต้นประเมินว่าจะเริ่มโครงการได้ราวช่วงหลังวันที่ 20 ก.ย.67 เป็นต้นไป

ขณะที่ Volume Trade ช่วงที่ผ่านมา เข้ามาในตลาดหุ้นไทยเกือบ 1 แสนล้านบาทนั้น มองว่าเกิดจากปัจจัยความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการจัดตั้งรัฐบาลที่ดำเนินการได้รวดเร็ว รวมทั้งจะมีการแถลงนโยบายในเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกัน ยังมีการปรับกติกาการลงทุน เช่น การชอร์ตเซล รวมทั้งยังมีความชัดเจนในเรื่องการลงทุนกองทุนรวมวายุภักษ์ ที่จะเปิดให้รายย่อยเข้ามาซื้อได้กลางเดือนก.ย.นี้ แล้วจะเข้าเทรดในตลาดหุ้นวันที่ 1 ต.ค.2567

"อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้วอลุ่มเข้ามาในตลาดหุ้นไทย ยังมาจากนักลงทุนมองเห็นแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง จึงเข้ามาลงทุน ซึ่งวอลุ่มการเข้ามาลงทุน 80,000 ล้านบาทนั้น ก็เป็นปริมาณวงเงินเดิมที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยในอดีต ซึ่งการที่จะให้วอลุ่มเหล่านั้นอยู่กับเราต่อไปก็ต้องสร้างความเชื่อมั่น"

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์