หอการค้าไทยแนะรัฐบาล”แพทองธาร”เพิ่ม5 มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

หอการค้าไทยแนะรัฐบาล”แพทองธาร”เพิ่ม5 มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

หอการค้าไทย เผย นโยบายด้านเศรษฐกิจ ตรงกับนโยบายหอฯตลอบคลุมเศรษฐกิจและสังคม แนะเพิ่ม 5 มาตราการเร่งด่วนระยสั้นฟื้นเศรษฐกิจ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วน ทั้ง 10 ข้อ ของรัฐบาลที่ออกมาวันนี้ ก็เรียกว่าครอบคลุมทั้งประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมุมมองของหอการค้าฯ เห็นด้วยกับหลายนโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจที่ออกมา ก็ตรงกับแนวนโยบายที่หอการค้าฯ ได้เคยเสนอไว้ต่อรัฐบาลในช่วงก่อนหน้านี้ อาทิ การผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติการออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภครวมถึงปรับโครงสร้างราคาพลังงานการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ตลอดจนนโยบายยกระดับการเกษตรดั้งเดิมให้ทันสมัยซึ่งอยากให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญว่ามาตรการใดสามารถทำได้ทันทีเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้

ทั้งนี้ หอการค้าฯมีมุมมองเสริมเพิ่มเติมไปยังรัฐบาล เพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น ดังนี้

1.การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ให้กระจายไปทุกภูมิภาค ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างเด่นชัด และควรเร่งจัดทำงบประมาณปี 68 ให้เสร็จสิ้นตามกระบวนการหรือในกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ยืดเยื้อในปีที่ผ่านมา

2.หอการค้าฯ เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มีความชัดเจนในกลุ่มเปราะบางแล้วว่าน่าจะแจกได้ทันทีภายในเดือนกันยายน 2567 คาดใช้เม็ดเงินประมาณ 1.45 แสนล้านบาทหอการค้าฯมองว่าส่วนใหญ่ประชาชนกลุ่มเปราะบางน่าจะใช้เงินทันที และจะมีพฤติกรรมการใช้จ่ายภายในจังหวัดที่อาศัยหรือจังหวัดใกล้เคียงเป็นหลัก ซึ่งสินค้าที่ผลิตในประเทศน่าจะได้รับอนิสงค์มากขึ้น จึงประเมินเบื้องต้นว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะช่วยเพิ่ม GDP ได้อีก 0.2 – 0.3%

3.การแก้ไขปัญหาสินค้าไม่ได้คุณภาพทะลักเข้ามาตีตลาดไทย รัฐบาลไทยต้อง หารือกับทางการจีนในประเด็นการควบคุมมาตรฐานของสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารโดยเฉพาะมาตรฐานของฝั่งไทย ทั้งมอก. อย. โดยทางการจีนจะต้องมีส่วนสำคัญในการช่วยคัดกรองสินค้าก่อนที่จะส่งออกมายังประเทศไทย 

กรมศุลกากรต้องเข้มงวดในการตรวจสอบและสกัดสินค้าจากต่างประเทศที่นำเข้ามาอย่างละเอียด ขณะเดียวกันสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่หลุดลอดมาแล้ว รัฐบาลจำเป็นต้องใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีมาตรการที่บังคับให้แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ต่างชาติจำเป็นต้องเสียภาษีทั้ง VATและภาษีรายได้ (จากยอดขาย ไม่ใช่กำไร) เพื่อทำให้สามารถจัดเก็บรายได้เข้าภาครัฐตามที่ควรจะเป็น การตรวจสอบการใช้ระบบชำระเงินPaymentต่างชาติซึ่งที่ผ่านมาเม็ดเงินจำนวนมากไหลออกนอกประเทศจากระบบชำระเงินของต่างชาติ ซึ่งต้องบังคับให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้องและอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย

มาตรการที่ให้นักลงทุนจำเป็นต้องใช้Local Content ของประเทศไทยในสัดส่วนที่มากที่สุดขณะเดียวกันในอนาคตก็เป็นการป้องกันปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เป็นการหลีกเลี่ยงข้อกังวลในการใช้ไทย เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกและควรพิจารณามาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(Anti-dumping: AD) รวมถึงอาจกำหนดราคาต้นทุนสินค้า เพื่อไม่ให้สินค้าที่นำเข้ามาในราคาถูกตีตลาดสินค้าในประเทศจนไม่สามารถแข่งขันได้ ภายใต้การรักษาซึ่งผลประโยชน์ทางการค้าของ 2 ประเทศร่วมกันไว้เป็นสำคัญ

 

4. การรักษาโมเมนตัมภาคการท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 3 ล้านคน ส่วนนี้อยากให้มีการผลักดันและอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการเพื่อให้นักท่องเที่ยวปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 36-37 ล้านคน ขณะเดียวกันควรณรงค์“เมืองน่าเที่ยว”อย่างต่อเนื่องเพื่อให้การท่องเที่ยวโดดเด่นและเกิดการกระจายตัว กระจายรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวเมืองหลักไปสู่เมืองน่าเที่ยว รวมถึงเดินหน้าแผนการกระจายการลงทุนไปจังหวัดนำร่อง 10 จังหวัด ที่หอการค้าฯได้ทำร่วมมาช่วงก่อนหน้านี้ต่อ

และ 5.การส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าไทยมีความพร้อมที่จะยกระดับภาคเกษตรไปสู่มูลค่าสูงได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการส่งเสริมบทบาทของเกษตรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดและขยายผลไปในแต่ละจังหวัด ขณะเดียวกันรัฐบาลควรเร่งศึกษาโมเดลตัวอย่างเช่นทจีน และ เนเธอร์แลนด์ ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรนำไปสู่การยกระดับรายให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนแหล่งเงินทุน มาตรการลดต้นทุนภาคการเกษตร และการบริหารจัดการน้ำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม - น้ำแล้ง ซ้ำซาก อย่างเป็นระบบ ซึ่งในอนาคตหากสามารถยกระดับการทำเกษตรสมัยใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม เกษตรกรกว่า 7.7 ล้านครัวเรือน จะมีรายได้ที่สูงขึ้นเกิดการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและสามารถลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง

“ที่ผ่านมาประเทศไทยมีจีดีพีเติบโตเฉลี่ย 2%ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพและไม่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น ในระยะกลางและระยะยาว เป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลต้องวางกลยุทธ์สำหรับประเทศ เพื่อทำให้จีดีพีของไทยในปีนี้เติบโตได้5%ต่อปี”นายสนั่น กล่าว