'คลัง' ดัน 5 แผนการออมประชาชน รับสังคมสูงอายุ วัยเกษียณมีเงินใช้
“คลัง” เร่งแผนออมรับสังคมสูงอายุ เปิด 5 แผนการออมภาคประชาชน เร่งแก้กฎหมาย กอช.ดันหวยเกษียณ เร่งศึกษาบัญชีออมส่วนบุคคลเพื่อเกษียณระยะยาว หรือ IRA ให้สิทธิเว้นภาษีดอกเบี้ย - กำไรจากการลงทุน หวังลดภาระการคลังในอนาคต
การออมภาคบังคับพื้นฐานของประเทศยังไม่ครอบคลุมการดำรงชีพของผู้สูงอายุทุกกลุ่ม โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ 19.6 ล้านคน คิดเป็น 52% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในภาคเกษตรกว่าครึ่ง และคาดว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีการออมเพียงพอต่อการยังชีพในวัยหลังเกษียณ ซึ่งจะเป็นภาระแก่รัฐบาลในอนาคตได้
นโยบายรัฐบาลที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะแถลงต่อรัฐสภาวันที่ 12-13 ก.ย.2567 มีนโยบายส่งเสริมการออมของประชาชน ซึ่งระบุในนโยบายแรกของรัฐบาลที่จะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้าน และรถ และช่วยลูกหนี้ในระบบ และนอกระบบภายใต้ปรัชญาไม่ขัดต่อวินัยการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard)
สำหรับแนวทางที่รัฐบาลวางไว้จะดำเนินการควบคู่การเพิ่มความรู้ทางการเงิน และส่งเสริมการออมรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องวิถีชีวิตคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งนโยบายนี้สอดคล้องกฎหมายในรัฐธรรมนูญมาตรา 74 ที่กำหนดให้รัฐเพิ่มความรู้ทางการเงิน และส่งเสริมการออมรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องวิถีชีวิตคนไทย
นอกจากนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” ระบุในการเผยแพร่รายงาน “หลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ : เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” โดยระบุว่าไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Completely Aged Society) ในปี 2566 และสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในปี 2576
ขณะที่การออมในผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิต จากการศึกษาพบว่าเงินออมที่พึงมีหลังจากอายุ 60 ปีไปแล้ว ผู้อยู่อาศัยในเขตเมือง ต้องมีเงินออมอย่างน้อย 4 ล้านบาท เพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อหลังเกษียณ ส่วนในชนบทต้องมีเงินออม 2.8 ล้านบาท
ส่วนระบบบำนาญของไทยพบว่าผู้มีรายได้เพียงพอหลังเกษียณไปแล้วอยู่ระดับไม่ค่อยดีนัก และหากไม่ทำอะไรในอนาคตจะมีคน 14 ล้านคน ที่จะอยู่ได้หรือมีรายได้จากเบี้ยผู้สูงอายุเท่านั้น จึงต้องทำให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการออมมากขึ้นมีแนวทาง ดังนี้
1.การส่งเสริมการออมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ให้ผู้สูงอายุโดยการสร้างการรับรู้ และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงหลักประกันให้สะดวก และรวดเร็ว ทั้งการสมัคร และการขอรับสิทธิประโยชน์ และทบทวนฐานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบประกันสังคม และปรับอัตราการออมเพื่อให้แรงงานออมได้มากขึ้น ขณะที่ภาคประชาชนสามารถเตรียมความพร้อมโดยการเก็บออมได้อีกทางหนึ่งด้วย
2.การเพิ่มรายได้โดยส่งเสริมการมีรายได้หลังเกษียณ และความรู้ทางการเงิน การประกอบอาชีพตามความสามารถของผู้สูงวัย และเพิ่มความรู้ในการบริหารจัดการ การเงิน (Financial literacy)
“คลัง” เร่งแก้กฎหมายดัน “หวยเกษียณ”
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การสร้างพฤติกรรมการออมให้กับเยาวชนมีความจำเป็น โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน ที่ควรมีความเข้าใจว่าเงินลงทุนหรือเงินออมส่วนตัวเป็นอย่างไร ซึ่งกระทรวงการคลังมีการพัฒนานวัตกรรมการออม และการลงทุนเพื่อความมั่นคงทางการเงินของคนไทย ประกอบด้วย
1.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นกลไกการออมภาคสมัครใจ โดยเป็นกองทุนเพื่อการออมสำหรับแรงงานไทยที่ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ สำหรับผู้ออมอายุตั้งแต่ 15-60 ปี ออมขั้นต่ำ 50 บาท/เดือน สูงสุด 30,000 บาท/ปี รัฐสมทบสูงสุด 1,800 บาท/ปี โดยผู้ออมจะได้บำนาญรายเดือนเมื่ออายุครบ 60 ปี สูงสุดถึง 12,000 บาท/เดือน และเงินออมในกองทุนฯ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
2.สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ (หวยเกษียณ) เป็นผลิตภัณฑ์การออมรูปแบบใหม่ผสมผสานการออม และสลาก โดยกำหนดราคาจำหน่ายใบละ 50 บาท ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน และจะออกรางวัลทุกวันศุกร์ แบ่งเป็น รางวัลที่ 1 มูลค่า 1,000,000 บาท 5 รางวัล และรางวัลที่ 2 มูลค่า 1,000 บาท 10,000 รางวัล
ส่วนเงินที่ใช้ซื้อสลากจะถูกเก็บเป็นเงินออมในบัญชี กอช.และจะถอนเงินส่วนนี้ออกมาใช้ได้เมื่ออายุ 60 ปี
ขณะนี้การดำเนินการอยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ โดยคาดว่าเสนอร่างกฎหมายกลับเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เร็วๆ นี้ และเข้าสู่กระบวนการแก้ไขกฎหมายในรัฐสภา ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2568 และเริ่มจำหน่ายได้ครั้งแรกหลังจากนั้น
3.กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) ส่งเสริมการออม ควบคู่กับสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยลงทุนในหุ้น และตราสารหนี้ของบริษัทไทยที่มีความโดดเด่นด้านความยั่งยืน ผู้ลงทุนได้สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุด 30% ของเงินได้ไม่เกิน 300,000 บาท/ปี ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี คาดว่าจะมีกำลังซื้อมากขึ้นในช่วงปลายปี เพื่อรับสิทธิในการลดหย่อนภาษี
“วายุภักษ์” หนุนประชาชนลงทุนระยะยาว
4.กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นรัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนชั้นนำของไทย เปิดขายวันที่ 16-20 ก.ย.2567 สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. วงเงิน 150,000 ล้านบาท นักลงทุนทั่วไป ที่ราคาหน่วยละ 10 บาท เริ่มต้นที่ 1,000 หน่วย หรือเท่ากับ 10,000 บาท โดยจะได้รับเงินปันผลตอบแทนตามจริง แต่ไม่น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% และไม่เกินอัตราผลตอบแทนขั้นสูง 9%
ทั้งนี้มีการเสนอขายผ่านบริษัทจัดการ และธนาคาร 6 แห่ง โดยจะมีการจัดสรรด้วยวิธี Small Lot First เพื่อกระจายหน่วยลงทุนอย่างเท่าเทียม และคาดว่าจะนำหน่วยลงทุนประเภท ก. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในเดือนต.ค.นี้
5.โครงการบัญชีการออมส่วนบุคคลเพื่อการเกษียณ หรือ Individual Retirement Account (IRA) ซึ่งจะเป็นบัญชีการออมรายบุคคลที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการออม และการลงทุนระยะยาว โดยอยู่ระหว่างการศึกษา
ทั้งนี้ อาจลงทุนได้หลากหลายรูปแบบ เช่น เงินฝาก หุ้นพันธบัตร โดยให้มีการบูรณาการ การออมในทุกผลิตภัณฑ์เข้าด้วยกันในบัญชี อีกทั้งเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การยกเว้นภาษีดอกเบี้ย หรือกำไรจากการลงทุน
TDRI ชี้ IRA เครื่องมือใหม่การออม
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ระบบบัญชีเพื่อการเกษียณส่วนบุคคล ที่กระทรวงการคลังกำลังศึกษามีความแตกต่างจากระบบการออมในปัจจุบันที่มีแต่ละคนมีระบบการออมเพื่อการเกษียณอยู่ในบัญชีที่เป็นบัญชีเพื่อการเกษียณ (retirement account)
แต่ส่วนใหญ่เป็นบัญชีแบบถัวเฉลี่ยทุกคน เช่น การออมในกองทุนประกันสังคม บางส่วนเป็นของส่วนบุคคลคือ พวกกองทุนที่มีการตั้งขึ้นที่มีเป้าหมายสำหรับการออมเงินเพื่อการเกษียณ เช่น LTF , RMF , SSF และประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นต้น
“ระบบของ IRA จริงๆ เป็นสิ่งที่ดีเพราะวางอยู่บนพื้นฐานการออมในรูปแบบของเงินใครเงินมัน ถ้ามีการออมเงินมากก็สบายตอนแก่ ออมน้อยก็มีความสุขตอนนี้ แล้วแต่คนจะเลือก ส่วนภาครัฐก็เข้ามาสนับสนุนจูงใจให้คนมองไกลๆ เพราะโดยมากคนไทยจะไม่ค่อยออมเงินกัน” นายนณริฏ กล่าว
คนไทยออมน้อยลงเพราะมีเงินเก็บน้อย
ทั้งนี้ปัญหาการออมเงินน้อยอาจมาจากปัญหาคนที่มีมีเงินเดือนน้อย รายได้ไม่แน่นอนก็ออมได้ยาก จึงต้องมีแนวถัวเฉลี่ยมาเติมให้มันได้ประโยชน์แบบเท่าเทียมกัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ
ส่วนประเด็นที่รัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยออมประชาชนเพิ่มขึ้น เห็นว่าหัวใจสำคัญคือ ต้นทุนการเรียนรู้แพงมากในการลงทุน จึงต้องการให้รัฐนำมืออาชีพมาช่วยบริหาร การันตีผลตอบแทนแบบกองทุนวายุภักษ์ แต่บังคับให้ทุกคนออมเท่ากันแล้วธุรกิจเติมให้แรงงานได้มีการออมเงินเพื่อวัยเกษียณได้มากขึ้น โดยเรื่องนี้เอาตรงนี้มาเสริมกลไกเดิมที่มีอยู่
ไทยเสี่ยงระบบสวัสดิการล้มละลาย
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปาฐกถาพิเศษ “กำหนดทิศทางผลกระทบของสังคมสูงวัย ต่อความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาสังคม” ในงานการประชุมธุรกิจของสมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน (ACMA Business Forum 2024) ว่า ภาวะเจริญพันธุ์ลดต่ำลงอย่างต่อเรื่อง และลดสู่ระดับต่ำมาก ปี 2538-2539 อัตราเจริญพันธุ์รวมที่ 2.02 ลดลงต่อเนื่องจนปี 2566 อยู่ที่ 1.1
ขณะนี้มีเด็กเกิดใหม่เพียงปีละ 5.18 แสนคน แต่มีผู้สูงอายุถึง 13 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ โดยจะทำให้ประชากรไทยลดลงในปี 2576 และเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด โดยจะส่งผลกระทบต่อประเทศ 3 เรื่อง คือ
1.ระบบสวัสดิการ และหลักประกันของรัฐมีแนวโน้มล้มละลาย 2.ครอบครัวไทยกำลังเลือนหาย 3.ประชากรวัยเด็ก และแรงงานน้อยลง และผลิตภาพของประชากรยังอยู่ระดับต่ำ เด็กน้อย แรงงานน้อย ด้อยคุณภาพ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์