GDP กับ 3 โครงการยักษ์: ตัวชี้วัดที่ทำให้เข้าใจผิด

พักนี้นักเศรษฐศาสตร์และผู้บริหารประเทศ ออกมาพูดกันมากว่าเศรษฐกิจไทยสู้ประเทศอื่นไม่ได้ แม้กระทั่งประเทศในอาเซียนด้วยกัน โดยอ้างถึงตัวเลข GDP ว่าต่ำกว่าของคนอื่นเขามาก  จึงต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ 

ที่พูดถึงกันมากขณะนี้มีอยู่สามโครงการยักษ์ คือ

1) แลนด์บริดจ์ที่จะเชื่อมสองมหาสมุทรทั้งฝั่งซ้ายและขวาของประเทศไทยเข้าด้วยกัน ใช้งบลงทุนถึง 1,000,000 ล้านบาท

2) เอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ที่จะใช้งบประมาณ 300,000 ถึง 500,000 ล้านบาท เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่เป็นมิกซ์ยูส มีสถานบันเทิงและคาสิโนเป็นหลัก อันจะทำให้เกิดปัญหาทางสังคมขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

3) โครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทย โดยการถมทะเลขึ้นเป็นเกาะอัจฉริยะ(ที่คำจำกัดความยังคลุมเครือมาก) 9 แห่ง มีเขื่อนยาว 100 กิโลเมตรเชื่อมระหว่าง 9 เกาะนี้เพื่อกันน้ำทะเล

จุดประสงค์หลักคือจะแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งและน้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งแน่นอนจะมีผลกระทบอย่างน้อยก็ต่อระบบนิเวศทั้ง 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม นอกจากผลกระทบรุนแรงอื่นๆอีกโดยเฉพาะอย่างน้อยด้านสังคมของชุมชนท้องถิ่นบริเวณปากแม่น้ำ

GDP กับ 3 โครงการยักษ์: ตัวชี้วัดที่ทำให้เข้าใจผิด

 เราเห็นระดับความเสี่ยงของ 3 โครงการยักษ์นี้แล้วก็ให้เป็นห่วงประเทศเพราะผู้สนับสนุนโครงการดูจะเน้นแค่การขยายของตัวเลข GDP  ทั้งที่ตัวเลขนี้เป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเท่านั้น  ไม่ใช่ตัวชี้วัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development, SD) ที่ต้องตรวจวัดกันทั้ง 3 ขาหรือ TBL (Triple Bottom Line) คือทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ซึ่งจะทำเช่นว่านี้ได้ก็ต้องตอบ 17 เป้าหมายของ Sustinable Development Goals (SDGs) ที่องค์การสหประชาติกำหนดไว้และนานาประเทศรวมทั้งไทยได้รับมาปฏิบัติ ให้ได้เสียก่อน

จะศึกษาอย่างไรจึงจะตอบ 17 เป้าหมายนั้นได้  คำตอบคือต้องใช้มาตรการใหม่ที่ทั่วโลกได้นำมาใช้กันเป็นการทั่วไปแล้ว  นั่นคือ การประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment, SEA) ที่ไม่ใช่การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือ EIA แบบเดิมๆซึ่งแคบเกินไป  

กระบวนการ SEA จะมองทั้งศักยภาพและขีดจำกัดของทั้งตัวโครงการเองและพื้นที่ในรูปแบบมหภาค  จึงซับซ้อนกว่า แต่ก็รอบคอบกว่าและลดความเสี่ยงของผลเสียที่จะตามมาแบบคาดไม่ถึงได้มากกว่า 

แล้วจะให้องค์กรใดทำ SEA นี้ มีคนทำเป็นไหม มีผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ ต้องยอมรับว่าประสบการณ์ของเราในเรื่องนี้ยังไม่มากเท่ากับความชำนาญด้าน EIA ที่เราได้ทำมาถึงกว่า 50 ปี  เราจึงอาจต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศบ้างในบางส่วน

 แต่ส่วนงานทั่วไปอื่นๆ เช่น การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์เนื้อหา การบูรณาการ 3 มิติ การกำหนดฉากทัศน์และเปรียบเทียบ ฯลฯ เราทำได้เองอยู่แล้ว

GDP กับ 3 โครงการยักษ์: ตัวชี้วัดที่ทำให้เข้าใจผิด  

โดยเฉพาะเมื่อเรามีสำนักงานคณะกรรมการสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.; https://sea.nesdc.go.th/sea3/) ที่ได้เตรียมตัวเรื่อง SEA มากว่า 5-6 ปีแล้ว  ไทยเราจึงไม่ได้เริ่มที่ศูนย์อย่างที่หลายคนอาจจะกลัว

ถึงแม้เรายังต้องพึ่งต่างชาติอยู่บ้างในเรื่องของความเชี่ยวชาญด้าน SEA  มันก็ไม่แปลกอะไรหากมองว่าสามโครงการยักษ์ที่ว่านั้นก็ยังต้องพึ่งความชำนาญจากต่างประเทศเช่นกัน  จึงไม่ได้ดีหรือด้อยไปกว่ากันแต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม เรากังวลว่ารัฐบาลจะพยายามอย่างสุดๆที่จะไม่ทำ SEA เพราะการทำเช่นนั้นต้องคุยกับทุกภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งทางบวกและลบ ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปี ในขณะที่รองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งออกมาพูดย้ำว่าเป็นโครงการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รอช้าไม่ได้

 ก็ต้องขออนุญาตเรียนถามกลับว่าโครงการยักษ์ขนาดนี้ ใช้เงินมากขนาดนี้ ใช้เวลาดำเนินการยาวนานนับเป็น 10-20 ปีแบบนี้ มีความเสี่ยงใน 3 มิติของ TBL ขนาดนี้ และตอบโจทย์ได้เพียงมิติทางเศรษฐกิจอย่างเดียวเช่นนี้  การที่จะใช้เวลาอีกเล็กน้อย เพียง 1 ปี เพื่อความรอบคอบมากขึ้น ลดความเสี่ยงขนาดมหึมานี้ให้น้อยลงได้ดีขึ้น มีความคุ้มทั้ง 3 มิติมากขึ้น  มันจะไม่ใช่คำตอบที่ดีกว่าดอกหรือ

ขอยกตัวอย่างเรื่องผลกระทบที่มองแต่มุม GDP อย่างเดียวโดยยกจากการท่องเที่ยวที่ ณ วันนี้การท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สูงสุดในแง่ของ GDP สำหรับประเทศไทย แต่ถ้าเราทุกคนหันกลับไปดูสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมต่างๆ

เช่น พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต ว่าสภาพเดิมเป็นอย่างไร มาถึงวันนี้มีคนท้องถิ่นเดิมที่ถูกขับให้ต้องออกจากพื้นที่เพราะสู้กับนายทุนจากต่างถิ่นไม่ได้ มากน้อยเพียงใด  และสภาพสังคมเดิมได้เปลี่ยนไปในทางที่ด้อยลงอย่างไร หรือทางกายภาพก็เช่นกัน

จะเห็นว่าเกิดการขาดแคลนน้ำสะอาดกันทั่ว มีอุบัติเหตุทางถนนจนเสียชีวิตและสูญเสียทางเศรษฐกิจมากขึ้น เกิดปัญหาขยะท่วมเมืองทั้งขยะพลาสติกและขยะพิษ ฯลฯ

นี่เป็นราคาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ทั้งธรรมชาติและคนเราต้องจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่าปัจจุบันตัวเลข GDP ไม่ได้เอา damage cost หรือค่าความเสียหายที่เสียไป หรือ externality พวกนั้นมาคิดด้วยเลย  ตัวเลข GDP จึงเป็นตัวชี้วัดที่ทำให้เข้าใจผิดเมื่อมองในมุมของ SD

GDP กับ 3 โครงการยักษ์: ตัวชี้วัดที่ทำให้เข้าใจผิด

ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่งในระดับนานาชาติให้ฟัง  ในปี 2015 ได้มีข้อตกลงนานาชาติว่าด้วย Paris Agreement ที่กำหนดให้ทุกชาติจัดให้มีระบบการเงินแบบ green finance

โดยธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจใดๆ ได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจนัันเอาตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปของ Carbon Footprint Organisation และ Carbon Footprint Product มาแจงรายละเอียดให้ชัดเจนเสียก่อน

 นั่นคือ ภาคเศรษฐกิจเองก็เล็งเห็นแล้วว่าจะมองเพียงในมุมเศรษฐศาสตร์หรือการเงินแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่จะต้องคิดแบบ SD กันให้ชัดๆได้แล้ว

สมมติว่าถ้าเราทำ 3 โครงการยักษ์นั้นได้สำเร็จและ GDP เพิ่มขึ้นชัดเจน แต่ขณะเดียวกันสภาพสังคมเลวลง สภาพทางสิ่งแวดล้อมเสียหาย แล้วราคาของ externality พวกนั้นเราไม่เอามาคิดร่วมด้วยเลย เราคงต้องร่วมกันวิเคราะห์ละว่ามันเป็นการคิดที่ถูกต้องและรอบคอบสำหรับบ้านนี้เมืองนี้แล้วหรือไร

ขอฝากไว้ให้คิดนะครับ