'พีระพันธุ์' ชี้ระบบประเทศเลี้ยงคนไทยเป็นเด็ก ปูทางพลังงาน นำไทยโตยั่งยืน

'พีระพันธุ์' ชี้ระบบประเทศเลี้ยงคนไทยเป็นเด็ก ปูทางพลังงาน นำไทยโตยั่งยืน

"พีระพันธุ์" ชี้ระบบประเทศเลี้ยงคนไทยเป็นเด็ก 6 ขวบ ยอมรับประเทศไทยมีเขื่อนเยอะ แต่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำได้ เหตุต้องกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรเป็นหลัก เร่งแก้กฏหมายพลังงาน เอื้อคนไทยเติบโตยั่งยืน

KEY

POINTS

  • ความยั่งยืนด้านพลังงาน คือ ความยั่งยืนผู้ประกอบการ-ประชาชนที่ใช้พลังงาน ซึ่งความจริง ทั้งสองประเภทไปด้วยกันไม่ได้ เพราะความยั่งยืนผู้ประกอบการคือได้กำไร แต่ประชาชนคือราคาต้องต่ำ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ตรงกลางไปด้วยกันได้
  • ไทยเจอปัญหาต้นทุนไฟฟ้าสูง เกิดข้อด้อยการแข่งขันระหว่างประเทศ การดึงดูดลงทุนต่างชาติเข้ามาในไทย บางครั้งศักยภาพการแข่งขันไทยสู้ต่างประเทศอื่นไม่ได้ ต้องหาแรงจูงใจอื่น รัฐบาลต้องเน้นพลังงานสะอาดไปพร้อมกับทางรอดธุรกิจ
  • สำหรับประเทศไทย การผลิตพลังงานสะอาดแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. น้ำ 2. ลม และ 3. แสงแดด ซึ่งการผลิตจากลมมีบ้างแต่ไม่เยอะ ระบบกังหันหมุนเกิดไฟฟ้ามีข้อจำกัด และในทะเลอ่าวไทยไม่ค่อยมีลม จึงไม่เพียงพอ 
  • ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า ต้องช่วยประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เพื่อให้ธุรกิจสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายได้ 
  • การขออนุญาตยุ่งยาก ควรแค่บอกว่าให้ทำอย่างไร ทุกคนโตแล้ว สมัยเด็ก การจะออกข้างนอกต้องขออนุญาต ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่วันนี้อายุ 50-60 ปี เป็นเจ้าของกิจการต้องบอกทำไม ระบบประเทศไทยเลี้ยงประชาชนเหมือนเด็ก 6 ขวบ ไม่โตสักที 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา "พลังงานสะอาด ความยั่งยืน และทางรอดธุรกิจใหม่" จัดโดย "เดลินิวส์" ว่า ความยั่งยืนด้านพลังงาน คือ ความยั่งยืนผู้ประกอบการ หรือ ประชาชนที่ใช้พลังงาน ซึ่งไม่เคยมีใครใช้คำกลางด้านความยั่งยืน แต่ความจริง ทั้งสองประเภทไปด้วยกันไม่ได้ เพราะความยั่งยืนผู้ประกอบการคือได้กำไร แต่ประชาชนคือราคาต้องต่ำ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ตรงกลางไปด้วยกันได้

หลายบริษัททั่วโลกการลงทุนจะดูนโยบายประเทศนั้น ๆ โดยเฉพาะค่าไฟ ยิ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงขึ้นทุกวัน เป็นต้นทุนธุรกิจ ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าเยอะ ถ้าไม่ลดต้นทุนธุรกิจจะไปไม่รอด 

ทั้งนี้ หากดูประเทศเวียดนามที่ค่าไฟถูก เพราะต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำ โดยใช้ถ่านหินผลิตไฟ แม้ประเทศไทยจะยังใช้อยู่บ้าง แต่สัดส่วนใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลักเพราะสะอาด แต่ต้องแลกกับต้นทุนที่ไม่ได้มาฟรี ๆ จึงต้องได้อย่างเสียอย่าง เพราะพลังงานสะอาดต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่เช่นนั้นประเทศมีแต่มลพิษ พยายามให้ลดน้อยลงจึงเกิดค่าใช้จ่าย

"ประเทศไทยเจอปัญหาต้นทุนไฟฟ้าสูงขึ้น เกิดข้อด้อยการแข่งขันระหว่างประเทศ การดึงดูดลงทุนต่างชาติเข้ามาในไทย บางครั้งศักยภาพการแข่งขันไทยสู้ต่างประเทศไม่ได้ จึงต้องหาแรงจูงใจอื่น รัฐบาลต้องเน้นพลังงานสะอาด ยั่งยืน ไปพร้อมกับทางรอดธุรกิจ"

สำหรับประเทศไทย การผลิตพลังงานสะอาดแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. น้ำ 2. ลม และ 3. แสงแดด ดังนั้น การผลิตจากลมมีบ้างแต่ไม่เยอะ ระบบกังหันหมุนเกิดไฟฟ้ามีข้อจำกัด และในทะเลอ่าวไทยไม่ค่อยมีลม จึงไม่เพียงพอ 

ส่วนน้ำ ไทยมีน้ำล้น น้ำท่วม แต่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากน้ำได้ แม้มีเขื่อนก็ไม่ได้ผลิตไฟฟ้า แต่กักเก็บน้ำเพื่อเกษตรกรในหน้าแล้ง และจะปล่อยช่วงน้ำแล้งเพราะเกษตรกรต้องการใช้น้ำ

ดังนั้น ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ คือ แสงแดด ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนได้ดีในอนาคต จึงได้มอบนโยบายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า หากผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ ต้นทุนก็จะสูง เพราะต้องนำเข้า LNG จากต่างประเทศ ที่มีต้นทุน และราคาผันผวน แม้จะมีก๊าซฯ ในอ่าวไทยแต่ก็ไม่เพียงพอ 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า ต้องช่วยประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เพื่อให้ธุรกิจสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายได้ 

ส่วนการที่ธุรกิจจะไปรอดอยู่ได้อย่างยั่งยืน ต้องใช้พลังงานสะอาด ในความเป็นจริงถ้าไทยควบคุมต้นทุนผลิตด้านไฟฟ้าได้ ลดมลภาวะ ลดต้นทุน ต้องช่วยกันผลิตไฟฟ้าเอง แต่ต้องยอมรับว่า ในประเทศไทยยาก เพราะทุกอย่างห้ามหมด ต้องขออนุญาต และใช้เวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี ดังนั้น เรื่องพลังงานสะอาดเพื่อความความยั่งยืน และทางรอดธุรกิจจะรอดได้อย่างไร เพราะแต่ละหน่วยราชการ หลายกระทรวงออกกฎ กติกา ระเบียบหลายด้านถือเป็นข้อจำกัดในไทย

“ถ้าปล่อยให้อยู่แบบบนี้ ไม่มีใครรอด รัฐบาลก็ไปไม่รอด จึงจำเป็นต้อง รื้อ ลด ปลดสร้างตลอดเวลาที่ตนทำคือรื้อทั้งหมด กฎเกณฑ์ไม่เป็นธรรม ในฐานะรองนายกฯ ดูกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้แก้กฎกระทรวงอุตฯ ตอนนี้รอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เช่น การขอติดตั้งโซลาร์โดยไม่ต้องขอใบรง.4 สำหรับใช้ไฟฟ้าในบ้านและสถานประกอบการ แต่กฎกระทรวงไม่แน่นอน เพราะเปลี่ยนรัฐมนตรีก็เปลี่ยนกฎได้”

ทั้งนี้ การจะขออนุญาตทำไมต้องยุ่งยาก ต้องขอทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กทม.ฯ กฟภ. กฟน. ควรแค่ให้ทำอย่างไรก็บอกและมาตรวจสอบว่าทำตามนี้หรือไม่ ทุกคนโตกันแล้ว เพราะตอนสมัยเด็ก การจะออกข้างนอกก็ต้องขออนุญาตถือเป็นเรื่องธรรมดาเพราะยังเด็ก แต่วันนี้อายุ 50-60 ปี และเป็นเจ้าของกิจการจำเป็นต้องบอกหรือไม่ ทำไมระบบประเทศไทยเลี้ยงประชาชนเหมือนเด็ก 6 ขวบ ไม่โตสักที 

อย่างไรก็ตาม การรื้อ ลด ปลด สร้าง จะต้องรื้อระบบ สร้างกฎหมายใหม่ เพื่อทำให้ประชาชน ผู้บริโภค ผู้ประกอบการมีความยั่งยืน และที่สำคัญ คือ ปัจจุบันมีการนำไฟฟ้าเข้ามาใช้ในชีวิตเยอะมาก ตัวอย่าง ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ปัจจุบันยอดขายหลักแสนคัน อีกไม่นานจะเป็นล้านคัน ถ้าไม่เร่งแก้ไขปัญหาผลิตไฟฟ้าได้เอง จะเป็นภาระหลักประเทศ

ดังนั้น ทางรอดของธุรกิจและประชาชน คือ ต้องปรับรื้อระบบ กฎหมาย และวางระบบที่ถูกต้อง เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ใช้ไฟฟ้าและผลิตไฟฟ้าใช้ทั้งภาคประชาชน ธุรกิจ ไม่ต้องพึ่งทุก 4 เดือน