'ศักยภาพปราการน้ำ จังหวัดเชียงราย' เปิดโปรเจกต์มีแผนแต่ยังไม่ได้สร้าง
สถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือปีนี้ต้องยอมรับว่าหนัก ทั้ง จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ และน่าน ปริมาณน้ำสูงสุดในรอบ 20 ปี ฉะนั้นแผนบริหารจัดการน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ
กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในจังหวัดเชียงราย ว่า จากอิทธิพลพายุยางิ ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากโดยวัดปริมาณฝนสะสม 3 วันในระหว่างวันที่ 6-11 ก.ย. 2567 ที่สถานีวัดน้ำฝนอำเภอแม่สายวัดได้ 254.4 มิลลิเมตร อำเภอเมืองวัดได้ 155.5 มิลลิเมตร อำเภอเมืองแม่จันวัดได้ 153.5 มิลลิเมตร ทำให้น้ำในลำน้ำแม่สาย ลำน้ำกกและลำน้ำแม่จัน ล้นตลิ่ง
ปัจจุบันในพื้นที่ฝนหยุดตกแล้ว ปริมาณน้ำในลำน้ำแม่สายลำน้ำแม่จัน ลำน้ำกก แนวโน้มทรงตัว มีพื้นที่ประสบ อุทกภัยจำนวน 10 ตำบล 6 อำเภอและมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 1,200 ไร่ 613 ครัวเรือน
ข้อมูลแนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำแม่โขงเหนือ จังหวัดเชียงราย บ่งชี้ว่า ยังมีโครงการเพื่อการพัฒนาและรับมือกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ที่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างมากกว่า 10โครงการ ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำแม่คำ ต.แม่ฟ้าหลวง 2.อ่างเก็บน้ำแม่แสลบ ต.แม่ฟ้าหลวง.3.อ่างเก็บน้ำแม่โป่งขม ต.ป่าตึง ทั้ง 3 โครงการตั้งขนานไปกับ น้ำแม่คำ 4.ประตูระบายน้ำบ้านสันธาตุ ต. โยนก ศักยภาพ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) 5.ประตูระบายน้ำบ้านป่าแดงผ่านศึก ต. ปงน้อย ศักยภาพ 4 ล้านลบ.ม.6.ประตูระบายน้ำบ้านปงเศียน ต. มหาวัน ศักยภาพ 0.9 ล้าน ลบ.ม. ทั้ง 3 โครงการน้ำตั้งบนทางน้ำน้ำกก
7.ประตูระบายน้ำบ้านทุ่งซาง ต. ศรีดอนชัย ศักยภาพ 14.820 ล้าน ลบ.ม. 8. ประตูระบายน้ำบ้านเวียงสัก ต. แม่ต๋ำ ศักยภาพ 2.514 ล้าน ลบ.ม. 9. ประตูระบายน้ำหนองสามัคคี ต. ห้อวยซ้อ ศักยภาพ 2.540 ล้านลบ.ม. ทั้ง 3 โครงการน้ำอยู่บนทางน้ำ“ น้ำอิง” 10. สถานีสูบน้ำฯบ้านร่องริว ต. เวียง ตั้งอยู่จุดจัดระหว่าง น้ำอิง กับ น้ำแม่หงาว และ 11. อ่างเก็บน้ำแม่หงาว ต. ตับเต่า ศักยภาพ 25.470 ล้าน ลบ. ม.
นอกจากนี่้ยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกันคือ อ่างเก็บน้ำแม่ลาว ต. แม่ลาว จ. พะเยา ศักยภาพ 11.670 ล้าน ลบ.ม. ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง ต.ป่าแดด จ.เชียงราย ศักยภาพ 32 ล้านลบ.ม. สถานุ เริ่มดำเนินการ ประตูระบายน้ำบ้านดอยอิสาน ต. อ่างทอง จ.พะเยา ศักยภาพ 1 ล้านลบ.ม. สถานะ ก้าวหน้า 83.69%
ดังนั้น จ.เชียงรายที่กำลังเผชิญอุทกภัยอย่างมากขณะนี้ จึงมีเพียง โครงการที่สามารถจัดการน้ำได้ในขณะนี้ได้แก่ โครงการชลประทานเชียงราย โครงการหนองหลวง ต.เวียงชัย ,โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ลาว เขื่อนแม่สรวย ต. แม่สรวย , โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ลาว ฝายแม่ลาว ต. ธารทอง,ประตูระบายน้ำแม่ห่างแและร่องลึก ต. เวียงเหนือ ,ประตูระบายน้ำน้ำอิงร่องริว ต.เวียง ,กว๊านพะเยา ต.เวียง จ.พะเยา
รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังระบุอีกว่า ด้านสถานการณ์น้ำท่าส่วนใหญ่ปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝน ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า พายุไต้ฝุ่น ยางิ ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 13 -15 ก.ย.นี้ ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มาก ให้พิจารณาพร่องน้ำตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ พร้อมทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยจากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา หลายพื้นที่สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยังคงเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวม 10 จังหวัด กรมชลประทาน ยังคงให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำในอัตรา 1,399 ลบ.ม.ต่อวินาที เนื่องจากระดับน้ำทางตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจะควบคุมการระบายน้ำในอัตรานี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 14 -22 ก.ย. 67 จะเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจจะส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ยกตัวสูงขึ้น จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเฝ้าระวังระดับน้ำในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 49,885 ล้าน ลบ.ม. 65% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 26,452 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 15,142 ล้าน ลบ.ม. 61% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 9,729 ล้าน ลบ.ม.
ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ10,000ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่เกิดน้ำท่วมใน8จังหวัด เช่น แพร่ น่าน ฯลฯ และคาดไว้ว่าจะเกิดความเสียหาย6,000-8,000ล้านบาท
“ความเสียหายระดับหมื่นล้านบาท จะไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย เพราะจะมีเงินจากโครงการดิจิทัล วอลเล็ตอีกประมาณ150,000ล้านบาท ที่รัฐบาลจะแจกให้กับกลุ่มเปราะบางก่อนกว่า14.5ล้านคนภายในเดือนก.ย.นี้ เข้ามาชดเชย และคาดว่า เงินดิจิทัล จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตได้2.6-2.8%และโน้มมาทาง2.8%ได้”
อย่างไรก็ตาม ปีนี้ ไม่น่าเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี2554 เพราะดูจากข้อมูลปริมาณน้ำฝนของปีนี้ยังน้อยกว่าปี2554พายุที่จะพัดเข้ามาก็น้อยกว่า อีกทั้งอัตราการระบายน้ำออกจากเขื่อนต่อวินาที หรือการพร่องน้ำยังไม่เร็วมากนัก รวมทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ยังมีน้อย และมีความจุอ่างที่ยังรองรับน้ำได้อีกมาก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อปีหน้าที่จะมีน้ำสำรองไว้ใช้ปริมาณมาก