เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเจอ 'ทศวรรษสูญเปล่า' รอบ 2 ปิดโอกาสก้าวสู่ประเทศรายได้สูง
เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าหลังจากวิกฤติโควิด ใช้เวลากว่า 4 ปีกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาสู่ระดับเดิม ดัชนีที่ใช้วัดความคืบหน้าในการยกระดับการพัฒนาเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงลดลงต่ำเหมือนช่วงหลังปี 40 จนน่ากังวลว่าไทยจะเข้าสู่ทศวรรษที่สาบสูญเป็นรอบที่ 2
KEY
POINTS
- เปิดข้อมูลเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ามากหลังจากวิกฤติโควิด ใช้เวลากว่า 4 ปีกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาสู่ระดับเดิม
- รายได้เฉลี่ยประชากรไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐฯยังต่ำกว่าช่วงโควิด-19
- ขณะที่ดัชนีที่ใช้วัดความคืบหน้าในการยกระดับการพัฒนาเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงลดลงต่ำคล้านช่วงหลังปี 40
- จนน่ากังวลว่าไทยจะเข้าสู่ทศวรรษที่สาบสูญเป็นรอบที่ 2 และเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ไทยขาดโอกาสการก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้
หากพิจารณาตัวเลข GDP ที่จัดทำและเผยแพร่ครั้งล่าสุดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)จะพบสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความคืบหน้าของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเข้าเป็นประเทศรายได้สูงอย่างน้อย 5 ประการ
เศรษฐกิจไทยใช้เวลากว่า 4 ปี ฟื้นตัวจากโควิด19
ประการแรก ในรูปด้านบนจะแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจะทำให้มูลค่า GDP ณ ราคาตลาด (GDP at Current Market Price : GDP CMP) (เส้นสีแดง) กลับเข้าสู่ระดับเดียวกับก่อนโควิดมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2565 ก็ตาม แต่ระดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่วัดโดย GDP Chain Volume Measure หรือ GDP CVM (เส้นสีน้ำเงิน) ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดขีดความสามารถของเศรษฐกิจอย่างแท้จริงนั้น เพิ่งจะเริ่มกลับสู่ระดับก่อนโควิดเป็นครั้งแรกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 และต่อเนื่องมายัง 2 ไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งหมายความว่าเราใช้เวลาประมาณ 4 ปีหลังการระบาดของโควิดก่อนที่ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับสู่ที่เดิม
รายเฉลี่ยคนไทยในรูปดอลลาร์ต่ำกว่าช่วงโควิด19
ประการที่สอง จากรูปด้านบนนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าการปรับตัวดีขึ้นของ GDP ณ ราคาตลาดจะทำให้รายได้ต่อหัวในรูปเงินบาทของคนไทย (กราฟแท่ง) สามารถกลับสู่ระดับก่อนช่วงโควิดได้ภายในปี 2565 แต่รายได้ต่อหัวในรูปเงินดอลลาร์ (เส้นสีแดง) ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 7,848 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปีในปี 2562 (ปีก่อนที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด 19) อย่างชัดเจนและยังไม่มีแนวโน้มที่จะกลับสู่ระดับก่อนการระบาดของ Covid ได้ภายในปี 2567
ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขการคาดการณ์รายได้ต่อหัวของ สศช.ล่าสุดว่าในปี 2567 รายได้ต่อหัวของของคนไทยในรูปเงินดอลลาร์จะยังอยู่ที่ 7,345 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปีเท่านั้น
นอกจากนั้นรูปนี้ยังแสดงให้เห็นว่า GNI per-capita PPP Atlas Method ของไทย (เส้นสีเขียว) ซึ่งธนาคารโลกใช้ในการจัดกลุ่มประเทศออกเป็นประเทศรายได้ต่ำ ประเทศรายได้ปานกลาง และประเทศรายได้สูง นั้นมีการเคลื่อนไหวสอดคล้องกับรายได้ต่อหัวในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (เส้นสีแดง)
ดังนั้นการปรับตัวลดลงของรายได้ต่อหัวในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเป็นสัญญาณว่าประเทศไทยจะมีความล่าช้าในการที่จะยกระดับการพัฒนาประเทศเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงออกไปอีก
ประการที่สาม จากรูปด้านบนเป็นดัชนีที่ใช้ชี้วัดความคืบหน้าของประเทศไทยในการยกระดับการพัฒนาเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงที่คิดคำนวณโดยใช้ GNI per-capita PPP Atlas Method ของประเทศไทยเทียบกับเกณฑ์การเป็นประเทศรายได้สูงที่กำหนดโดยธนาคารโลก
หากดัชนีมีค่าเท่ากับ 100 ก็จะหมายความว่าประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการประเทศรายได้สูงได้อย่างสมบูรณ์ ( GNI per-capita PPP Atlas Method ของประเทศไทยมีค่าเท่ากับเกณฑ์การเป็นประเทศรายได้สูง)
นอกจากนั้น หากเส้นดัชนีมีความชันมากขึ้น ก็จะเป็นเครื่องชี้ว่าประเทศไทยสามารถยกระดับการเป็นประเทศรายได้สูงได้เร็วขึ้น
ดัชนีในรูปนี้แสดงให้เห็นว่าในช่วงก่อนปี 2540 ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการยกระดับการพัฒนาประเทศเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของเส้นดัชนี
ทศวรรษแห่งการสูญเปล่ายกระดับรายได้คนไทย
อย่างไรก็ตาม วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้ดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลงและใช้ระยะเวลาถึง 10 ปีกว่าดัชนีดังกล่าวจะสามารถกลับเข้าสู่ระดับเดิม หรือเป็น 10 ปีแห่งการสูญเปล่าในการยกระดับการพัฒนาประเทศ ( The Loss decade) ก่อนที่จะกลับมาสามารถยกระดับการพัฒนาประเทศได้อีกครั้งสอดคล้องกับการ กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีดังกล่าวอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การสูญเปล่าในการยกระดับการพัฒนาประเทศเป็นระยะเวลาถึง 10 ปีในช่วงหลังจากวิกฤติ 2540 ดังกล่าวก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีการยกระดับการพัฒนาเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้ล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ
ประการที่สี่แม้ว่าในช่วงก่อนการระบาดโควิดเศรษฐกิจไทยจะมีการขยายตัวต่ำจนหลายฝ่ายออกมาบอกว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำสุดในอาเซียนและให้ความเห็นเชิงลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย แต่ในช่วงก่อนการระบาดของโควิดนั้นดัชนีในรูปที่ 3 มีค่าความชันมากขึ้นแสดงให้เห็นว่าในช่วงดังกล่าวประเทศไทยสามารถยกระดับเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้เร็วขึ้น และเร็วกว่าในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการขยายสูงร้อยละ 8-10
หลังโควิดดัชนีการยกระดับรายได้ปรับลดลง
ประการที่ห้า หลังการระบาดของโควิดในปี 2562 เส้นดัชนีในรูปที่ 3 ปรับตัวลดลงอีกครั้ง และยังไม่แน่ชัดว่าจะสามารถกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดได้เมื่อใด และจะกลายเป็น10 ปีแห่งการสูญเปล่าในการยกระดับการพัฒนาประเทศครั้งที่สองหรือไม่
ผู้เขียนบทความไม่สามารถบอกได้แน่ชัด แต่สิ่งที่ผู้เขียนบทความพอจะบอกได้ในขณะนี้คือ
รูปในข้อที่ 2 แสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของดัชนีในรูปในข้อที่ 3 นั้นไม่เพียงแต่จะถูกกำหนดโดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายพุ่งเป้าให้ความสำคัญเท่านั้นแต่ยังถูกกำหนดโดยค่าของเงินบาท
เงินบาทอ่อนตัวสะท้อนความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ
การปรับตัวลดลงของดัชนีในรูปในข้อที่ 3 มีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการอ่อนค่าของเงินบาทที่ไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นเพราะส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนในประเทศกับต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นเพราะการลดลงของความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ทั้งภาครัฐ เอกชน และธุรกิจ คลอดจนแนวโน้มการลดลงของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และการขาดความชัดเจนของการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยาว
การปรับตัวลดลงของดัชนี้ที่เห็นในข้อที่ 3 ในช่วงหลังปี 2562 ทำให้ประเทศไทยแทบจะไม่มีโอกาสในการที่จะสามารถยกระดับเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติได้เลย
"การบริหารเศรษฐกิจมหภาคในระยะต่อไปจะมีความท้าทายมากขึ้นในการที่จะต้องสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจควบคู่กับการสร้างความแข็งแกร่งด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อค่าเงินบาท และป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งหากเกิดขึ้นผู้เขียนเชื่อว่าจะปิดโอกาสของประเทศไทยในการการยกระดับการพัฒนาเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงลงอย่างสิ้นเชิง"
ขอบคุณข้อมูลจากคุณ "S. Blacklake"