'จีน' หลุดโผประเทศรายได้สูง รายได้ประชาชาติลดครั้งแรกในรอบ 29 ปี
จีนตกชั้น 'กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง' ตามเกณฑ์ World Bank เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่รายได้ประชาชาติ (GNI) ลดลงครั้งแรกในรอบ 29 ปี ปัจจัยเศรษฐกิจโตต่ำ-วิกฤติอสังหาฯ-เงินหยวนอ่อนค่า
รัฐบาลจีนเปิดเผยข้อมูลในวันพฤหัสบดี (29 ก.พ.) ระบุว่า รายได้ประชาชาติ (GNI) เฉลี่ยต่อคนของจีนในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐปี 2566 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 29 ปี ทำให้จีนหลุดจากการเป็น "กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง" ตามเกณฑ์ของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียระบุว่า รายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อคนของจีนลดลง 0.1% สู่ระดับ 12,597 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 4.52 แสนบาท) ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและเงินหยวนอ่อนค่าลง
ทั้งนี้ ในการจัดหมวดหมู่รายได้ประจำปีของธนาคารโลกในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมานั้น ธนาคารโลกได้เพิ่มตัวเลข GNI เฉลี่ยต่อคนขั้นต่ำที่เข้าเกณฑ์การเป็นประเทศรายได้สูงอีก 5% สู่ระดับ 13,846 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
การปรับเกณฑ์ครั้งนี้ทำให้ตัวเลข GNI ของจีนนั้นต่ำกว่าระดับดังกล่าวถึง 9% หลังจากที่เคยต่ำกว่าระดับดังกล่าวเพียง 1% เศษเท่านั้นในปี 2564
ทว่าหากคำนวณเป็นสกุลเงินหยวน ตัวเลข GNI เฉลี่ยต่อคนของจีนในปี 2566 ปรับตัวขึ้น 4.7% แต่ก็ยังคงต่ำกว่าในปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นได้เฉลี่ย 5%
นิกเกอิเอเชียรายงานว่า แม้จีนได้ยกเลิกการบังคับใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ไปตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจจีนยังคงถูกฉุดรั้งอย่างต่อเนื่องจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำเรื้อรัง รวมถึงกำไรผู้ประกอบการและรายได้ภาคครัวเรือนทรุดตัวลง
นอกจากนี้ "ตลาดงานจีน" ยังฟื้นตัวช้าด้วยเช่นกัน โดย ณ สิ้นปี 2566 มีประชากรจีนเข้าเกณฑ์รับสวัสดิการคนว่างงานทั้งสิ้นถึง 3.52 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 550,000 รายจากปีก่อนหน้า และยังถือเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาอีกด้วย
ทางด้าน "ค่าเงินหยวน" ที่อ่อนค่าลง เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ฉุดค่า GNI ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยสกุลเงินหยวนอ่อนค่าลงเฉลี่ย 4.5% ในปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปี 2565 สู่ระดับ 7.0467 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นในสหรัฐ และเศรษฐกิจซบเซาในจีน