‘เศรษฐกิจไทย’ กระอักน้ำท่วม ซ้ำเติมหนี้ครัวเรือน - กำลังซื้อประชาชน
เอกชน - นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ ผลกระทบน้ำท่วม "ซีไอเอ็มบีไทย” ห่วงซ้ำหนี้ครัวเรือน ฉุดเศรษฐกิจ 2 แสนล้านบาท “กรุงศรี” มองร้ายแรงสุด น้ำท่วมลาม 11 ไร่ กระทบจีดีพี 0.34% ส.อ.ท. เผยแค่ภาคเหนือกระทบ 2.7 หมื่นล้าน นายกฯ ตั้ง ศปช. เร่งเยียวยา ของบกลาง 3 พันล้านบาท เว้นค่าไฟ - ค่าน้ำ
สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ขยายวงกว้างครอบคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง โดยกรมชลประทานได้สรุปสถานการณ์น้ำท่วมวันที่ 16 ก.ย.2567 มีพื้นที่น้ำท่วม 13 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย พิจิตร สกลนคร เลย หนองคาย อุดรธานี นครพนม สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และสตูล
สำหรับพื้นที่น้ำท่วมวงกว้างมีหลายจังหวัด เช่น เชียงราย 17,785 ไร่, หนองคาย 78,732 ไร่ , อุดรธานี 4,600 ไร่ และนครพนม 5,200 ไร่ และล่าสุดหลายหน่วยงานได้ออกมาประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทั้งพื้นที่ ที่อยู่อาศัย เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และภาคบริการ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ประชุมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย และจังหวัดภาคเหนือตอนบน ประเมินน้ำท่วมสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และผู้ประกอบการในภาคเหนือตอนบน 25,000-27,000 ล้านบาท
สำหรับข้อมูลปริมาณน้ำที่ท่วมเกิดจากน้ำป่าที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ และน้ำที่ไหลทะลักมาจากประเทศเมียนมา ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเหมือนกับประเทศไทย ทำให้มีมวลน้ำรวมกันประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้านลบ.ม.) เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงในรอบ 80 ปี ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรทั้งไร่ นา สวนพืชเกษตรของไทยได้รับความเสียหายที่รุนแรง
ทั้งนี้ มีสมาชิก ส.อ.ท.ที่จังหวัดเชียงราย ได้รับความเสียหาย 60 บริษัท จากน้ำท่วมโรงงาน เครื่องจักร รถยนต์ อุปกรณ์สำนักงาน ซึ่งได้ประเมินมูลค่าความเสียหายที่ชัดเจนเพื่อที่ ส.อ.ท.จะหามาตรการเยียวยาในเบื้องต้นสัปดาห์นี้
หวั่นกระทบเศรษฐกิจ 2 แสนล้าน
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ผลกระทบน้ำท่วมภาคเหนือ และพื้นที่อื่นที่กำลังเกิดขึ้นประเมินว่าไม่รุนแรงเท่าปี 2554 แม้ปัจจุบันอยู่วงจำกัด แต่ความเสี่ยงจากการระบายน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน และพายุที่อาจเกิดขึ้นเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ทำให้น้ำท่วมขยายวงกว้างขึ้น ทำให้สถานการณ์อาจไม่ได้สามารถแก้ได้เร็วเหมือนที่คาด
ทั้งนี้ประเมินผลกระทบน้ำท่วมจะอยู่ที่ 0.1-0.3%ต่อจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 2 แสนล้านบาท ภายใต้การคาดการณ์คลี่คลายใน 1-3 เดือน โดยสาเหตุที่มองผลกระทบยังไม่มากเพราะผลกระทบยังไม่ลามไปพื้นที่ท่องเที่ยว หรือภาคอุตสาหกรรม โดยมีพื้นที่บางเกษตรบางแห่งเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ
รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันไม่หนักเท่าอดีต แต่ครัวเรือนไทยกระทบหนักกว่าน้ำท่วมปี 2554 เพราะอดีตแม้น้ำท่วมแต่จีดีพีขยายตัวได้ แต่ปัจจุบันภายใต้หนี้ครัวเรือนสูง คนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะเป็นหนี้ มีหนี้ครัวเรือนสูงกว่าเดิมมาก รายได้คนไม่ฟื้นเหมือนปี 2554 ดังนั้นแม้ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจะไม่มาก แต่คนในพื้นที่ได้รับผลกระทบมากกว่าอดีต
ดังนั้นจำเป็นที่คนกลุ่มนี้ต้องเร่งเข้าไปช่วยเร่งด่วนทั้งการฟื้นฟู การแจกเงิน แต่มองว่าแม้จะแจกเงินอาจไม่ชดเชยผลกระทบได้
คาดเสียหายรุนแรงท่วม 11 ล้านไร่
นางสาวพิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่โดยเฉพาะ 4 เดือนสุดท้ายของปี มองว่าจะไม่รุนแรงเท่าน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 โดยวิจัยกรุงศรีฯ จำลองสถานการณ์น้ำท่วม 3 กรณี คือ ต่ำสุดมีผลกระทบต่อพื้นที่ 6.2 ล้านไร่ สร้างความเสียหายภาคเกษตร 3.1 หมื่นล้านบาท และสร้างผลกระทบ 3.3 หมื่นล้านบาท หรือ 0.19% ต่อจีดีพี
ส่วนกรณีฐาน มองว่าความเสียหายจากน้ำท่วม จะมีผลกระทบที่ 8.6 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมที่ 4.65 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นผลกระทบต่อเชิงเศรษฐกิจราว 0.27%
แต่กรณีร้ายแรงสุดมองว่า ผลกระทบลามพื้นที่ 11 ล้านไร่ มีโอกาสเป็นไปได้ 30% โดยสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน 4 พันล้านบาท ต่อทรัพย์สิน และพื้นที่เกษตร 5.5 หมื่นล้านบาท โดยคิดเป็นความเสียหายรวม 5.9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.34% ต่อจีดีพี
พิษน้ำท่วมฉุดอสังหาฯ เชียงรายซึมยาว
นายชินะ สุทธาธนโชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงราย กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือหนักสุดรอบ 70 ปี กระทบเชิงจิตวิทยาต่อภาคธุรกิจ 3-6 เดือน โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์เชียงราย คาดว่าปี 2568 จะอยู่ภาวะทรงตัว และฟื้นตัวปี 2569
"เชียงรายเป็นเมืองรองมีขนาดเศรษฐกิจเล็กที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวและเกษตรกรรม เมื่อเศรษฐกิจซบเซาทำให้คนขาดความเชื่อมั่นไม่กล้าเป็นหนี้ระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มบ้านระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และเริ่มลุกลามไปยังกลุ่มบ้านระดับราคา 4-5 ล้านบาท”
ทั้งนี้ 8 เดือนแรก (ม.ค.- ส.ค.) ที่ผ่านมา จำนวน และมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ในจังหวัดเชียงราย ลดลง 20-25% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา และยอดการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินสูงถึง 70-80%
รับกระทบเชิงจิตวิทยาชะลอซื้อ
นายปรีชา กุลไพศาลธรรม นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์นนทบุรี กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือทำให้เริ่มวิตกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลอาจเผชิญปัญหาน้ำท่วมใหญ่เช่นเดียวกับปี 2554 หรือไม่นั้น หากดูมวลน้ำเทียบปี 2554 มีปริมาณน้อยกว่า
ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาหมู่บ้านจัดสรรหลังปี 2554 ได้ถมที่ดินในโครงการบ้านไม่ต่ำกว่าปี 2554 ยิ่งไปกว่านั้นภาคราชการที่ดูแลการขออนุญาตจัดสรรที่ดินให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ดังนั้นเมื่อพิจารณามวลน้ำในปัจจุบันไม่มากกว่าปี 2554 จึงไม่น่ากังวลว่าน้ำจะเข้าท่วมหมู่บ้าน
“หากน้ำท่วมจริงจะกระทบการเดินมากว่า แต่ไม่น่าจะรุนแรงเท่าปี 2554 แต่ถือเป็นปัจจัยลบทำให้คนไม่มีอารมณ์ซื้อ และชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยออกไปอีก โดยเฉพาะโซนที่มีน้ำท่วม ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องระมัดระวังกระแสเงินสด และสภาพคล่องให้ดี”
ค้าปลีกหวังรัฐเร่งฟื้นฟู-เยียวยาน้ำท่วม
นายพิทยา จิตมาเส ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี และการเงิน บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกค้าส่งธนพิริยะ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ธนพิริยะ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมรวม 4 สาขา โดย 1 สาขาใน อ.แม่สาย ได้รับผลกระทบหนัก ยังไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ อยู่ระหว่างการฟื้นฟู อีก 3 สาขา สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติแล้ว ขณะที่ภาพรวมสินค้าอุปโภคบริโภคในพื้นที่ ยังจำหน่ายได้ตามปกติ
“หากภาครัฐจะสามารถเร่งนโยบายฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่หากมาตรการช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างช้า ต้องมีการประเมิสถานการณ์โดยรวมใหม่อีกครั้ง”
ลดราคาสินค้าช่วยคนไทยยามวิกฤติ
นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์โสตร์ จำกัด จากจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่งทั่วประเทศ จับตาน้ำท่วมใกล้ชิด และไม่อยากให้ลุกลามไปในหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะกำลังซื้อหดตัวลงหนักเมื่อเทียบกับภาคอื่น และผู้ประกอบการหลายรายมียอดขายลดลง 20% นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันยังไม่มีทิศทางฟื้นตัว
ทั้งนี้ สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย มีความร่วมมือในกลุ่มผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีกทั่วประเทศ 92 ราย จัดลดราคาสินค้าเป็นกรณีพิเศษ หรือ “โลคอล โลว์ คอสต์” เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.67 จนถึง 10 ต.ค.67 นี้ โดยมีการปรับลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคลง 10-20% เพื่อให้คนไทยได้เลือกซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง เป็นการช่วยเหลือในเรื่องค่าครองชีพ
นายกฯ ตั้งศูนย์แก้ปัญหาน้ำท่วม
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) ครั้งที่ 1/2567 ได้หารือรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น และมีประชาชนได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน
สำหรับมาตรการที่จะช่วยเหลือเร่งด่วนในเดือนก.ย.นี้ได้มีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าให้มีการยกเว้นค่าน้ำ-ค่าไฟ ในเดือนก.ย.เฉพาะพื้นที่ ที่ประสบอุทกภัย และในเดือนต.ค.ให้ลดได้ 30% แต่ถ้าเหตุการณ์น้ำท่วมยาวนานกว่านั้นก็สามารถที่จะเพิ่มระยะเวลาได้ ซึ่งจะมีการเยียวยาให้รวดเร็วมากที่สุด
ตั้งงบกลางช่วยค่าน้ำค่าไฟ 3 พันล้าน
ส่วนการซ่อมบ้านเรือนให้กับประชาชน ได้ประสานไปยังกองทัพซึ่งจะมีการช่วยเหลือเต็มที่แต่ว่าก็มีกำลังคนไม่พอ จึงมีการประสานงานไปยังกระทรวงศึกษาที่ให้เอาทีมนักศึกษาอาชีวะในจังหวัดต่างๆ มาช่วยกันให้ได้เร็วมากที่สุด
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า กรอบเยียวยากรณีบ้านเสียหายทั้งหลังยังคงยึดกรอบเดิมคือ 2.3 แสนบาท แต่จะเยียวยาหลายหมวด และมีงบกลางที่เราสำรองไว้สำหรับเรื่องน้ำท่วมโดยเฉพาะแล้ว เมื่อถามว่า การเยียวยากรณีมีผู้เสียชีวิต จะปรับเปลี่ยนหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า อันนั้นต่างหากเดี๋ยวต้องไปดูกรอบอีกที
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า น.ส.แพทองธาร ได้รับฟังข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนือ และอีสาน จึงมีความเห็นว่ารัฐบาลจะจัดสรรงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วน ปี 2566 วงเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อเร่งเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด โดยให้กระทรวงมหาดไทย เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 17 ก.ย.2567
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังเน้นระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า และการซักซ้อม โดยเฉพาะระบบ Cell Broadcast Service (CBS) หรือระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน เพื่อให้การเตือนภัยมีผลดีและถึงประชาชนโดยตรง ซึ่งจะให้คณะกรรมการ คอส. และ ศปช.เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ทำงานร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นกรรมการทุกคน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเป็นรูปธรรม เพื่อให้การทำงานช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างทันท่วงที
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์