ครม.รับรายงานเสียหายน้ำท่วมเบื้องต้น 1.5 หมื่นล้าน นายกฯสั่งเร่งเยียวยา

ครม.รับรายงานเสียหายน้ำท่วมเบื้องต้น 1.5 หมื่นล้าน นายกฯสั่งเร่งเยียวยา

ครม.รับทราบความเสียหายน้ำท่วมเบื้องต้น 31 จังหวัด กระทบธุรกิจ-ภาคท่องเที่ยว ความเสียหายประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท นายกฯสั่งติดตามความเสียหายต่อเนื่อง อนุมัติงบกลางฯเยียวยาส่วนแรก 3.04 พันล้านบาท

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (17 ก.ย.) ได้รับทราบความเสียหายจากผลกระทบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานบางส่วน โดยเป็นข้อมูลจากการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นที่กระทบธุรกิจ และภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ 31 จังหวัด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

ส่วนความเสียหายบ้านเรือนของประชาชนอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะทำให้มูลค่าความเสียหายที่จะรายงานให้ ครม.ทราบในระยะต่อไปเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้ ครม.ยังรับทราบข้อมูลในการประเมินความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้ว่าจะมีความเสียหายมากขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่เป็นอยู่อาศัยของประชาชนเกิดขึ้นอย่างมาก ซึ่งในส่วนนี้จะต้องมีการประเมินอย่างต่อเนื่องซึ่งนายแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้มีการติดตามความเสียหายอย่างต่อเนื่อง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้(17 ก.ย. 67) ได้มีมติอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,045.519 ล้านบาท  เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทุกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567   ซึ่งการจ่ายเงินจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีจ่ายเงินช่วยเหลือตามที่ ครม. อนุมัติในวันนี้ด้วยเช่นกัน

โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จะเป็นหน่วยรับงบประมาณและดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยผ่านธนาคารออมสิน ซึ่งทางธนาคาร จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัยที่มีสิทธิโดยตรงผ่านระบบพร้อมเพย์ต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือ จะต้องเป็นอุทกภัยที่เกิดในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 67 ทั้งกรณีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำลันตลิ่ง รวมถึงการระบายน้ำจนส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ ที่อยู่อาศัยนั้นต้องเป็นบ้านอยู่อาศัยเป็นประจำใน อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือ พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ใน 57 จังหวัด 

 ส่วนเงื่อนไขนั้นจะต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และ มีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ และ ผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย และผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ และ จังหวัด นอกจากนี้ หาเป็นกรณีประสบภัยหลายครั้งจะได้รับความช่วยเหลือครั้งเดียว

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือจะแยกเป็นแต่ละกรณี ดังนี้ 1)กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือ ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วันให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท

2) กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท และ 3) กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 60 วัน ขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 9,000 บาท

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือครั้งนี้จะทำให้ ครัวเรือนผู้ประสบภัยจำนวน 338,391 ครัวเรือนใน 57 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ, พื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย, พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง และสามารถดำรงชีวิตเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

 

สำหรับ  57 จังหวัด ได้แก่  จังหวัดกระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นนทบุรี นครนายก นครปฐม นครพนม นครสวรรค์ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์ และจังหวัดอุบลราชธานี

 

"การดำเนินการของกระทรวงมหาดไทยหลังจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ กับผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธาธารณภัยจังหวัด นายอำเภอกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จัดทำแนวทางการปฏิบัติงานให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ในระดับอำเภอ แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบในแต่ละหมู่บ้าน สำรวจข้อมูลรายละเอียดของผู้ประสบภัยรวมทั้งแจ้งผู้ประสบภัยให้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ผูกบัญชีธนาคารกับเลขประจำตัวประชาชนให้พร้อมรับการโอนเงินจากธนาคารออมสินให้เรียบร้อยต่อไป" น.ส.ไตรศุลี กล่าว