กระตุ้นเศรษฐกิจต้องทั่วถึงและเป็นธรรม
แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธาร คือ ความจำเป็นเร่งด่วน ท่ามกลางปัจจัยลบมากมาย ยังไม่นับสถานการณ์อุทกภัย ที่รัฐบาลต้องใช้เงินเยียวยามหาศาล ทั้งการฟื้นฟูบ้านเรือน ประชาชน ถนนหนทาง เยียวยาจิตใจประชาชน ให้กลับคืนสู่สภาพปกติให้เร็วที่สุด
รัฐบาลแพทองธาร ยังต้องเร่งหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ด้วย การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในภาวะที่มีความท้าทาย และความไม่แน่นอนสูงนั้น จำเป็นต้องมีแนวทางที่ยืดหยุ่นและครอบคลุมหลายมิติ
สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลอย่าลืมเมื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ นั่นคือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ที่จะเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศในระยะยาว ให้สอดรับกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การลงทุนพลังงานสะอาด และการส่งเสริมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การลงทุนเหล่านี้ไม่เพียงสร้างงานในระยะสั้น แต่เป็นการวางรากฐานสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคตด้วย
ขณะที่การสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะวันนี้ธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศไทย คือ เอสเอ็มอี รัฐบาลควรพิจารณามาตรการช่วยเหลือทางการเงิน เช่น ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การค้ำประกันเงินกู้ หรือลดหย่อนภาษี รวมไปถึงการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เอื้อต่อธุรกิจในประเทศ ผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยก้าวไปสู่การแข่งขันในระดับโลกให้ได้
สิ่งสำคัญ คือ อย่าลืมพัฒนา “คน” การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นกุญแจสำคัญในการรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก รัฐบาลควรลงทุนในการศึกษาและการฝึกอบรมทักษะใหม่ให้แรงงานอยู่ตลอดเวลา เน้นทักษะที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ การวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีสะอาด ควรส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้แรงงานปรับตัวได้อย่างต่อเนื่อง
รวมถึงเร่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและการค้าเสรี แม้จะมีแนวโน้มของการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้นบางภูมิภาค แต่การเปิดประเทศและการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับประเทศขนาดกลางและเล็ก การเข้าร่วมในข้อตกลงการค้าเสรีและการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและกระจายความเสี่ยงในยามที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน
การกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางปัจจัยลบมากมาย รัฐต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง รักษาสมดุลระหว่างการกระตุ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจและการควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น พิจารณาผลกระทบระยะยาวของมาตรการกระตุ้นต่างๆ โดยเฉพาะ หนี้สาธารณะ และเสถียรภาพทางการเงิน ที่ต้องระวัง คือ การกระจายผลประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ไม่เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง...