เปิดแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบ 68 ก่อหนี้ใหม่ 1.05 ล้านล้าน หนี้สาธารณะแตะ 66%

เปิดแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบ 68 ก่อหนี้ใหม่ 1.05 ล้านล้าน หนี้สาธารณะแตะ 66%

"คลัง" เผยแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบฯ 2568 ก่อหนี้ใหม่ 1.05 ล้านล้านบาท ดันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีพุ่ง 66% ชี้ความเสี่ยงดอกเบี้ยลดลงตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลง ลุ้นออกดอลลาร์บอนด์ต้นปีหน้า

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คนน.) เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2567 ว่า ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2568 คาดว่าระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ จะอยู่ที่ 66% ต่อจีดีพี ตามคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3% ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่ากรอบวินัยการคลังที่รัฐบาลกำหนดไว้ไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี 

ทั้งนี้ ตามแผนการคลังระยะปานกลาง ในช่วงปี 2568-2571 คาดการณ์ว่า ระดับหนี้สาธารณะของปี 2569 จะเริ่มอยู่นิ่ง และเริ่มปรับตัวลดลงในปี 2570 ภายใต้สมมุติฐานว่า เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง 
 

สำหรับกรอบการบริหารหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2568 จะอยู่ที่ประมาณ 2.586 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการก่อหนี้ใหม่ 1.05 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลของรัฐบาล ในวงเงิน 8.65 แสนล้านบาท และปรับโครงสร้างหนี้ 1.529 ล้านล้านบาท  

ทั้งนี้ ปัจจัยกดดันการบริหารหนี้สาธารณะในปีหน้าลดลง เนื่องจากความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมีไม่มากด้วยส่วนส่วนเงินกู้จากต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ในช่วงขาลงเช่นกัน 
 

จ่อออกดอลลาร์บอนด์ Q1 ปี 68 

สำหรับแนวคิดการออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ หรือ Dollar Bond นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาแต่ยังไม่มีมติที่แน่ชัด ซึ่งขณะนี้เองมีเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามา รวมทั้งกลุ่มนักลงทุน Non Residential ที่นำเงินดอลลาร์เข้ามาแลกเป็นเงินบาทและลงทุนในไทย ซึ่งในมุมมองของรัฐบาลควรจะต้องสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Benchmark) ให้กับภาคเอกชนที่จะออกไประดมทุนในต่างประเทศ

"ต่างชาติเองก็เรียกร้องมากนานให้ไทยออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งจะต้องพิจารณาจังหวะและบรรยากาศที่ดี เศรษฐกิจที่ทำท่าจะดีขึ้น ประกอบกับเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ของโลกที่ลดลง คาดว่าอย่างเร็วที่สุดคงจะออกดอลลาร์บอนได้ในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า"

รายงานจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า สบน. ได้รับนโยบายไปศึกษาหลักการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Bond: FCY) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความหลากหลายในการระดมทุนจากกองทุนทั่วโลก และเป็นแหล่งเงินของรัฐบาล  

ซึ่งการออกบอนด์สกุลต่างประเทศจะเป็นการลดผลกระทบการแย่งเงินลงทุนในประเทศของภาครัฐกับภาคเอกชน (Crowding Out Effect) รวมทั้งใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยให้กับภาคเอกชนไทยในการระดมทุนต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเอกชนจะใช้เครดิตของตัวเอง และถูกหักส่วนลด โดยเบื้องต้นจะมีวงเงินอยู่ที่ 500-1,500 ล้านดอลลาร์ 

นายพิชัย กล่าวว่า ปัจจุบัน อันดับความน่าเชื่อถือไทย (Credit Rating) อยู่ที่ระดับ BBB+ ถ้าสถานการณ์ในภาพรวมดีขึ้นก็มีสิทธิจะได้ปรับเป็น A- จากปัจจัยเรื่องการเมืองที่นิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ได้ A- ไทยก็ไม่ต่างกัน