FED ลดดอกเบี้ยกดดันแบงก์ชาติ ‘หอการค้า - ส.อ.ท.’ ชี้ถึงเวลาแล้ว

FED ลดดอกเบี้ยกดดันแบงก์ชาติ ‘หอการค้า - ส.อ.ท.’ ชี้ถึงเวลาแล้ว

หลายชาติเอเชียลดดอกเบี้ย 0.5% ตามเฟดใช้ยาแรง “ส.อ.ท.- หอการค้า” หวัง กนง.ลดดอกเบี้ยตามเฟด “เคเคพี” ชี้ กนง.เผชิญแรงกดดันลดดอกเบี้ยมากขึ้น “ทีทีบี” ระบุ เงินบาทแข็งค่าเป็นจุดเปลี่ยนเร่งไทยลดดอกเบี้ย “ซีไอเอ็มบีไทย” คาดประชุม กนง.เดือนหน้ายังไม่ลดดอกเบี้ย

หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลง 0.5% เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2567 ถือเป็นการเริ่มต้นวัฏจักรของการลดดอกเบี้ยอย่าง “เข้มข้น” โดยการลดดอกเบี้ยถึง “ครึ่งเปอร์เซ็นต์” แทนที่การลดดอกเบี้ย 0.25% ตามปกติ เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของตลาดแรงงานสหรัฐที่ส่งสัญญาณอ่อนลง

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ลงมติ 11 ต่อ 1 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 4.75-5.0% หลังจากคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษมาเป็นเวลากว่า 1 ปี

เฟดระบุในแถลงการณ์ว่า “คณะกรรมการมั่นใจมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อจะเคลื่อนตัวไปสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน และเห็นว่าความเสี่ยงในการบรรลุเป้าหมายด้านการจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สมดุล” และเสริมว่าเจ้าหน้าที่ “มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการจ้างงานสูงสุด” นอกเหนือจากการผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้กลับไปสู่เป้าหมาย"

ขณะที่ผลการคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐในระยะยาว (Dot Plot) แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ 10 คนจาก 19 คน “สนับสนุนให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.5% ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปี 2024”

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1.00% ในปี 2568 และลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในปี 2569 โดยรวมแล้ว Dot Plot บ่งชี้ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2.00% นี้

ทั้งนี้ เฟดลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุดปี 2563 (2020) ลดไป 0.50% เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2567 และอีก 1.00% วันที่ 15 มี.ค.2567 โดยลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 0-0.25% ยาวต่อเนื่องก่อนเข้าวัฏจักรขาขึ้นในปี 2565-2566

FED ลดดอกเบี้ยกดดันแบงก์ชาติ ‘หอการค้า - ส.อ.ท.’ ชี้ถึงเวลาแล้ว

 

นอกจากการลดดอกเบี้ยแล้วได้ “ปรับลด” คาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐปี 2567 ลงเหลือ 2% โดยประมาณการว่าจีดีพีสหรัฐโต 2.0% ทุกปี ตั้งแต่ปี 2567-2570 หลังจากเดือนมิ.ย.คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.1%, 2.0% และ 2.0% ในปี 2567, 2568 และ 2569 ตามลำดับ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าผลการประชุมของเฟดยังสร้างแรงกดดันไปยังธนาคารกลางอื่นทั่วเอเชียให้อาจพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยตามในปีนี้ และปีหน้า

ธนาคารกลางอินโดนีเซีย เป็นแบงก์ชาติรายแรกที่ลดดอกเบี้ยก่อนทราบผลการประชุมเฟด โดยลดลง 0.25% สู่ระดับ 6.0% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.พ.2021

สำหรับธนาคารกลางประเทศอื่นในเอเชียแปซิฟิกที่บลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยภายในปี 2567 ได้แก่ อินเดีย เกาหลีใต้ ไทย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ขณะที่ญี่ปุ่นคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ แต่ยังไม่ใช่รอบการประชุมวันที่ 20 ก.ย.2567

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะจุดชนวนให้เกิดวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปทั่วโลก แต่อาจไม่ส่งผลทันทีถึงบางประเทศ “เอเชีย” มากนัก เพราะธนาคารกลางภูมิภาคนี้หันมาให้ความสำคัญกับเสถียรภาพการเงิน และความเสี่ยงอื่นมากขึ้น

ธนาคารกลางไต้หวันคงอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมหลักในระดับ 2.00% ในการประชุมวันที่ 19 ก.ย.67 เพราะสถานการณ์เงินเฟ้อยังคุมได้ไม่แน่นอน หลังจากเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

หลายชาติเอเชียลดดอกเบี้ย 0.5% ตามเฟด

เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2567 ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% มาอยู่ที่ 5.25% เป็นการลดครั้งแรกรอบ 4 ปี และจะช่วยผ่อนคลายการกู้ยืมในศูนย์กลางทางการเงินเอเชียแห่งนี้มากขึ้น ภายหลังเฟดลดดอกเบี้ยแรง 0.5%

ก่อนการปรับลดครั้งนี้ ฮ่องกงมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.75% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 ขณะที่ฮ่องกงใช้ระบบผูกค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงกับดอลลาร์ จึงทำให้ฮ่องกง และประเทศอื่นที่ผูกค่าเงินกับดอลลาร์ มักปรับอัตราดอกเบี้ยทิศทางเดียวกับเฟดทุกครั้ง

นอกจากฮ่องกงแล้วยังมีธนาคารกลางในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) อีก 5 ประเทศที่ใช้ระบบผูกค่าเงินกับดอลลาร์สหรัฐ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามมาเช่นกัน ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์, ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต, กาตาร์ และบาห์เรน

สำนักข่าวรอยเตอร์สเปิดเผยผลสำรวจนักวิเคราะห์ 39 รายในสัปดาห์นี้ พบว่า 69% เชื่อว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจลดอัตราดอกเบี้ยลงในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ภายหลังจากที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแรง 0.5% ซึ่งช่วยบรรเทาความเสี่ยงเรื่องค่าเงินหยวนที่อ่อนลงได้

ผลสำรวจระบุว่า นักวิเคราะห์ 27 รายคาดการณ์ว่าแบงก์ชาติจีนอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี LPR ทั้งระยะ 1 ปี และ 5 ปีลงมา ส่วนอีก 12 รายคาดการณ์ว่าแบงก์ชาติจีนอาจปรับลดเฉพาะดอกเบี้ย LPR ระยะ 5 ปีเท่านั้น และนักวิเคราะห์อีก 10 รายเชื่อว่า จะไม่มีการลดดอกเบี้ยใดๆ ทั้งสิ้น

 

“ส.อ.ท.- หอการค้า” หวังลดดอกเบี้ยตามเฟด

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงดอกเบี้ยขาลง โดยยุโรปลดอัตราดอกเบี้ยมาก่อนหน้านี้ ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยลง จากที่หลายคนบอกว่าจะลดครั้งละ 0.25% แต่ครั้งนี้ใช้ยาแรงลดถึง 0.50% และยังมีแนวโน้มลดลงอีก 0.50% ถือเป็นการส่งสัญญาณค่อนข้างดี

ดังนั้น จะเกิดค่าเงินบาทที่เห็นชัดเมื่อเทียบเงินดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทไทยแข็งค่าจะได้รับผลกระทบต่ออุปสรรคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบตามมาด้วย ดังนั้น ธปท.ควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพราะที่ผ่านมานโยบาย กนง.ปรับขึ้นลงตามอัตราดอกเบี้ยตามเฟด จึงต้องจับตาว่า ธปท. จะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยลงเท่าไร

 

“ในอดีตเฟดขึ้นเราก็ขึ้น เมื่อเฟดลงเราก็ลดจึงหวังว่า ธปท.จะลดดอกเบี้ยตาม เพราะหากลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระให้ผู้กู้ยืมเงินมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ส่วนภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี จะมีสภาพคล่องต้นทุนทางการเงินดีขึ้น” นายเกรียงไกร กล่าว

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เฟดตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกลงแบบเร็ว และแรง 0.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ยลงจาก 5.25-5.50% สู่อัตรา 4.75-5.00% 

ทั้งนี้ หอการค้าเห็นว่าถึงเวลาที่ กนง.ควรพิจารณาลดดอกเบี้ยให้อยู่ระดับที่เหมาะสม เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ส่งออกและภาคท่องเที่ยวแข่งขันได้ดีขึ้น

กนง.เผชิญแรงกดดันลดดอกเบี้ยมากขึ้น

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การตัดสินใจลดดอกเบี้ยของเฟดสร้างแรงกดดันต่อนโยบายการเงินของหลายประเทศเช่นเดียวกับไทยที่อาจเผชิญแรงกดดันหนักขึ้น โดยล่าสุดอินโดนีเซียลดดอกเบี้ยลง 0.25% ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนมองว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยอาจตามอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคหรือไม่

ทั้งนี้หากสถานการณ์ข้างหน้า โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ธปท.อาจเผชิญแรงกดดันหนักขึ้นว่าอาจเป็นสาเหตุให้เงินบาทแข็งค่า

แต่ในมุมเกียรตินาคินภัทรมองว่า กนง.อาจไม่เร่งลดดอกเบี้ยตามเฟดหรือประเทศในภูมิภาค เพราะส่วนใหญ่ กนง.ดูปัจจัยในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่เห็นต่อเนื่อง โดยเฉพาะไตรมาส 4 คาดว่ามีโอกาสเห็นการโตของจีดีพี 4% จากการเร่งกระตุ้นภาครัฐ ดังนั้นความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอาจมีน้อยลง

ดังนั้นการลดดอกเบี้ยอาจถูกดีเลย์ได้จากเดิมที่มองว่า กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งสุดท้ายปีนี้ในเดือนธ.ค.ที่ 0.25% หากเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง

 

เงินบาทแข็งค่าเป็นจุดเปลี่ยนเร่งลดดอกเบี้ย

นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics (Chief Data and Analytics Group) และผู้บริหารศูนย์วิจัยทีทีบี กล่าวว่า จากการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟด และหลายประเทศสะท้อนว่า อัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ทิศทางขาลงหรือวัฏจักรขาลงแล้ว แต่อัตราดอกเบี้ยไทยถือว่าต่ำกว่าภูมิภาค และเงินเฟ้อไทยอยู่ระดับต่ำหากเทียบภูมิภาค แต่มีความเสี่ยงว่าเงินเฟ้ออาจเร่งตัวระยะข้างหน้า หากเศรษฐกิจหรือมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี

ทั้งนี้ กนง.เผชิญแรงกดดันการลดดอกเบี้ยมากขึ้น จากอัตราแลกเปลี่ยนหากอยู่ทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง หรือกลับไปแตะ 32 บาทต่อดอลลาร์ หรือต่ำกว่านั้น ที่อาจเป็นตัวที่ กนง.อาจต้องทบทวนการลดดอกเบี้ย อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยหักเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ถือว่าสูงหากเทียบภูมิภาค

“มองว่า กนง.ไม่รีบลดดอกเบี้ยถึง ธ.ค.เลย เพราะเชื่อว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยผ่านไปแล้ว ยกเว้นเงินบาทแข็งค่าเกินไปจนกระทบส่งออกมากจึงจะเป็นประเด็นทำให้ กนง.เร่งลดดอกเบี้ย”

จับตารัฐหั่น FIDF เอื้อ กนง.ไม่ต้องลดดอกเบี้ย

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า แม้เฟดจะลดดอกเบี้ยแรง แต่เชื่อว่า กนง.จะไม่เร่งลดดอกเบี้ย แม้มีปัจจัยให้ลดดอกเบี้ยมากขึ้น จากสถานการณ์น้ำท่วมที่กระทบต่อเศรษฐกิจระดับหนึ่ง และเชื่อว่าการแจกเงินก็อาจจะไม่เพียงพอ หากดูทิศทางเศรษฐกิจไทยข้างหน้า ยังเผชิญกับความเสี่ยงขาลงมากขึ้น

ทั้งนี้ 3 ปัจจัยที่มองว่า กนง.อาจไม่ได้ลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมครั้งหน้า คือ กนง.รอสัญญาณเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจน โดยเฉพาะตัวเลขไตรมาส 3 ถัดมา คือ การติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่มีผลต่อเศรษฐกิจ และสุดท้ายรอดูนโยบายเฟดในครั้งถัดไป ดังนั้นมองว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.หลังสถานการณ์ชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ตาม แต่หากกระทรวงการคลัง หรือภาครัฐ มีการออกนโยบายโดยสั่งให้ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินหรือ FIDF เหลือ 0.23%จาก 0.46% ส่วนนี้มองว่า กนง.อาจไม่จำเป็นลดดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.นี้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์