เปิดผลสำรวจดัชนีเศรษฐกิจชุมชนฐานรากปี 67 รายได้ไม่พอรายจ่าย
สนค.เปิดผลสำรวจดัชนีเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ปี 67 พบ ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ทั้งกลุ่มสมาชิกชุมชนและผู้นำชุมชน แต่ยังต้องเผชิญความท้าทายจากปัญหารายได้ไม่พอ ค่าครองชีพสูง เผย ประชาชนต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น การลดค่าไฟฟ้า ค่าสินค้า การเพิ่มค่าจ้าง
KEY
POINTS
Key Point
- ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 66
- ปัญหาหลักของชุมชนฐานราก คือ รายได้ไม่เพียงพอ มีหนี้สิน และค่าครองชีพสูงายได้ครัวเรือนไม่เพียงพอ
- ชุมชนต้องการความช่วยเหลือจากรัฐในด้านการเงินเป็นหลัก
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ สำรวจข้อมูลเศรษฐกิจฐานราก ปีงบประมาณ 2567 โดย ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ดำเนินโครงการสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจชุมชนฐานราก จากผู้นำชุมชนและสมาชิกในชุมชน จำนวน 28,413 ตัวอย่าง จากกว่า 7,000 ตำบลทั่วประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนและสภาองค์กรชุมชน ซึ่งผลการสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจฐานรากประกอบด้วยดัชนีเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ปัญหาและความต้องการของชุมชน และประเด็นอื่นๆที่น่าสนใจ
สำหรับผลการสำรวจดัชนีเศรษฐกิจชุมชนฐานรากของกลุ่มสมาชิกในชุมชนภาพรวม ปี 2567 พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 53.8 ซึ่งอยู่ในช่วงเชื่อมั่น และปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 47.7 ในปี 2566 โดยเป็นการวัดใน 3 มิติ คือ 1. สถานะทางการเงิน 2.ศักยภาพในการประกอบอาชีพ และ 3. ภาวะเศรษฐกิจ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีอยู่ในช่วงเชื่อมั่นมาจาก ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าหากได้รับโอกาสที่ดีขึ้นจะสามารถใช้โอกาสดังกล่าวในการสร้างรายได้หรืออาชีพให้ดีขึ้นได้ สำหรับกลุ่มผู้นำชุมชนภาพรวมปี 2567 มีระดับความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 54.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในระดับ 54.0 เนื่องจากมีระดับความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความเชื่อมั่นต่อศักยภาพในการประกอบอาชีพ และสถานะทางการเงินลดลงเล็กน้อย
เมื่อจำแนกกลุ่มสมาชิกในชุมชนตามภาค พบว่า ประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีระดับความเชื่อมั่นสูงที่สุดอยู่ในระดับ 61.7 รองมา คือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 55.8 54.6 53.8 และ 52.6 ตามลำดับ
สำหรับกลุ่มอาชีพ พบว่า ประชาชนในทุกกลุ่มอาชีพมีความเชื่อมั่นในภาพรวม โดยกลุ่มพนักงานของรัฐมีระดับความเชื่อมั่นมากที่สุดในระดับ 60.1 รองลงมา คือ กลุ่มพนักงานเอกชน กลุ่มค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว กลุ่มเกษตรกร กลุ่มรับจ้าง และกลุ่มไม่ได้ทำงาน อยู่ในระดับ 55.5 54.9 52.5 52.4 และ 51.0 ตามลำดับ
ส่วนผลสำรวจประเด็นปัญหาและความต้องการความช่วยเหลือในมุมมองของกลุ่มสมาชิกในชุมชนและผู้นำชุมชุม พบว่ามีความสอดคล้องกัน โดยเรื่องที่มีระดับของปัญหามากที่สุดต่อเนื่องในทุกปี คือ ด้านรายได้และการประกอบอาชีพ และด้านค่าครองชีพ สำหรับเรื่องอี่น ๆ ไม่พบปัญหาอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ปัญหาในแต่ละภูมิภาคมีความคล้ายคลึงกัน สำหรับประเด็นที่ต้องการความช่วยเหลือ 3 อันดับในมุมมองของสมาชิกในชุมชน ได้แก่ การลดราคาค่าไฟฟ้า/ประปา การลดราคาค่าสินค้าและบริการ และการเพิ่มค่าจ้าง/ค่าตอบแทน สอดคล้องกับความต้องการของผู้นำชุมชน
ขณะที่ประเด็นอื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ ประเด็นรายได้ครัวเรือนต่อเดือน พบว่า 85.1 % มีมุมมองว่ารายได้ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ โดย 41.1 %ต้องการรายได้เพิ่มมากกว่า 5,000 บาทต่อเดือนจึงจะเพียงพอ ประเด็นการออม 59.3% ของครัวเรือนมีการออมเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 54.7% ส่วนที่เหลือไม่มีการออม โดยมีสาเหตุจากรายได้ไม่เพียงพอและมีภาระหนี้สิน ขณะที่พนักงานของรัฐเป็นกลุ่มอาชีพที่มีการออมมากที่สุด ด้านหนี้สิน 65.3% มีหนี้สิน โดยเป็นหนี้ในระบบ 69.5% หนี้นอกระบบ 7.0 % และหนี้ทั้งในและนอกระบบ 23.5 %
ทั้งนี้เรื่องที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือ จากภาครัฐมากที่สุด คือ การเงิน 30.5 %รองลงมา คือ โอกาสในอาชีพ 29.0 % เมื่อสอบถามความเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ด้านรายได้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ 51.3 %เห็นว่าในปี 2568 จะมีรายได้คงเดิม ด้านการใช้จ่าย ครัวเรือนส่วนใหญ่ 62.2 %เห็นว่ารายจ่ายจะเพิ่มขึ้น และด้านหนี้สิน ครัวเรือนส่วนใหญ่ 29.5% เห็นว่าหนี้สินจะเพิ่มขึ้น และด้านความมั่นคงในรายได้/อาชีพ ครัวเรือนส่วนใหญ่ 48.8 %เห็นว่ารายได้ อาชีพ ในปีหน้าจะไม่แน่นอน
“วิชานัน นิวาตจินดา “ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนและฝังรากลึกมาเป็นเวลานาน ชุมชนหลายแห่งขาดการพัฒนาทั้งที่เกิดจากปัญหาศักยภาพและการขาดโอกาส ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข ผลการศึกษาจากโครงการนี้ จะช่วยชี้ประเด็นของแต่ละชุมชน เพื่อให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์ และนำไปพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างตรงจุด ซึ่งน่าจะช่วยร่นระยะเวลาการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำรับการสำรวจข้อมูลชุมชนในระดับฐานรากในทุกชุมชนทั่วประเทศต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐาน สภาพความเป็นอยู่ ปัญหา และความต้องการ รวมทั้งจัดทำดัชนีเศรษฐกิจชุมชนฐานรากของประชาชนกลุ่มฐานรากในแต่ละพื้นที่ เพื่อใช้ติดตามสถานะปัญหาและความต้องการของประชาชนฐานราก และนำไปสู่ข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่มีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการให้มากที่สุด