กฎหมาย MoCRA โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทยในตลาดสหรัฐ

กฎหมาย MoCRA  โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทยในตลาดสหรัฐ

สหรัฐ ประกาศใช้กฎหมายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใหม่ (MoCRA) เพิ่มความเข้มงวดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัย ด้าน สคต.ชิคาโก เผย MoCRA เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทยในการเจาะตลาดสหรัฐ

KEY

POINTS

Key Point

  • กฎหมายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใหม่  MoCRA   ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567
  • กฎหมาย MoCRA มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วยการกำหนดมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นสำหรับผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องสำอาง
  • ตลาดเครื่องสำอางสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงและมีแนวโน้มเติบโต คาดปี 2571 ขยายตัวเป็น10.38  % ของมูลค่าตลาด
  • ไทยมีศักยภาพในการผลิตเครื่องสำอางจากสมุนไพรธรรมชาติเจาะตลาดสหรัฐ

เว็ปไซต์จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศณ นครชิคาโก (สคต.) ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่า  เมื่อไม่นานมานี้ องค์กรอาหารและยาของสหรัฐฯ (Food and Drug Administration หรือ FDA) ได้ประกาศปรับปรุงกฎระเบียบข้อปฏิบัติสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่นำเข้าหรือวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมาย Modernization of Cosmetics Regulation Act of 2022 หรือ MoCRA ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นมา โดยการปรับปรุงดังกล่าวมีจุดประสงค์หลักเพื่อเพิ่มความเข้มงวดการผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้เทียบเท่ากับกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม วัสดุอุปกรณ์การแพทย์ และอาหาร ให้มีความปลอดภัยในการใช้สำหรับผู้บริโภคในตลาด

โดยกฎหมาย MoCra ได้ปรับปรุงกฎระเบียบข้อปฏิบัติเพิ่มเติมจากกฎหมาย Food, Drug and Cosmetic Act หรือ FD&C Act ที่ใช้สำหรับสินค้าอาหาร ยา และเครื่องสำอาง โดยได้เพิ่มรายละเอียดครอบคลุมการจดทะเบียนแหล่งผลิต การรายงานเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง (Serious Adverse Event Reporting) การแสดงรายการสินค้า (Product Listing) และการเพิ่มระบบตรวจสอบและปรับปรุงการแสดงฉลากสินค้าสำหรับการรายงานความปลอดภัยสินค้า ซึ่งภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับของกฎหมายใหม่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมทั้งผู้ผลิตและผู้ทำตลาดจะต้องเลือกแหล่งผลิตสินค้าที่สามารถปฎิบัติได้ตามข้อบังคับของกฎหมายใหม่

 

ทั้งนี้ เจตนาของการใช้งาน (Intended Use) เป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้จำแนกระหว่างสินค้าเครื่องสำอางและยา แม้ว่าสินค้าดังกล่าวจะติดฉลากเป็นเครื่องสำอาง เช่น ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้น น้ำหอม หรือ เครื่องสำอางก็ตาม แต่หากเจตนาของการใช้งานต้องการให้ส่งผลต่อโครงสร้างหรือการทำงานของร่างกายก็จะถือว่าเป็นยา (หรือทั้งยาและเครื่องสำอาง)

นางสุปรารถนา กมลเวชช ผู้อำนวยการส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก ผอ.สคต.ชิคาโก ให้ความเห็นว่า  เครื่องสำอางเป็นสินค้าที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการดำรงชีวิตของผู้บริโภคชาวอเมริกันในชีวิตประจำวันเป็นวงกว้างทำให้มีมูลค่าตลาดค่อนข้างสูง โดยในปี 2566 อุตสาหกรรมสินค้าเครื่องสำอางในตลาดสหรัฐฯ มีมูลค่าประมาณ 6.30 หมื่นล้านดอลลาร์  อีกทั้ง ยังคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นมูลค่า 9.50 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2573 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ย  6.1% ต่อปี (Compound Average Growth Rate หรือ CAGR)

 โดยเฉลี่ยชาวอเมริกันมียอดใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าเครื่องสำอางประมาณ 57.13 ดอลลาร์ ต่อคนต่อปี โดยสินค้าเครื่องสำอางสำหรับผิวหน้ามีสัดส่วนตลาดสูงสุด  36.72  %   รองลงมา ได้แก่ ตา  25.89 %    ปาก  19.78 %   และ เล็บ  8.61 % 

 ทั้งนี้ พบว่าปัจจุบันผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดมีความสนใจเลือกบริโภคสินค้าเครื่องสำอางที่เป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพสูงและมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางของตลาดปัจจุบัน โดยพบว่าตลาดสินค้าเครื่องสำอางจากวัตถุดิบธรรมชาติสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีสัดส่วนตลาดราว 9.00%    และมีแนวโน้มขยายตัวเป็น 10.38  %   ของมูลค่าตลาดทั้งหมดในปี 2571

 

ในระหว่างเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2567 สหรัฐฯ มีมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางทั้งสิ้นประมาณ 4.34 พันล้านดอลลาร์โดยนำเข้าจากเกาหลี  21.17 %   ฝรั่งเศส  17.65  %   แคนาดา  13.49 %    อิตาลี   12.05  %   และจีน   8.29 %  ในส่วนไทยนั้นมีมูลค่าการส่งออกไม่มากนักเป็นมูลค่าเพียง 14.05 ล้านดอลลาร์  (อันดับที่ 23) ขยายตัวเพิ่มขึ้น  7.26 %  เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

อุปสรรคหลักสำคัญของสินค้าเครื่องสำอางไทยคือคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าที่ไม่เข้มงวดมากนักเมื่อเทียบกับมาตรฐานของสหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรที่จะปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับมาตรฐานสินค้าเครื่องสำอางของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ประเทศไทยเองค่อนข้างมีข้อได้เปรียบในด้านของพืชสมุนไพรธรรมชาติที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงสุขภาพหลายรายการซึ่งน่าจะเหมาะกับการทำตลาดกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในปัจจุบันที่สนใจเลือกซื้อสินค้าธรรมชาติมากขึ้น ดังนั้น การสนับสนุนการศึกษา วิจัยทางวิทยาศาสตร์ และผลักดันการผลิตเครื่องสำอางด้วยพืชสมุนไพรไทยน่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดสินค้าเครื่องสำอางไทยในสหรัฐฯ ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ การผลักดันการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำแคมเปญตลาด T-Beauty ในลักษณะ K-Beauty ของเกาหลียังน่าจะช่วยขยายตลาดสินค้าเครื่องสำอางไทยในสหรัฐฯ ได้อย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย