'เหล็กไทย' แบกต้นทุนสต็อก จี้รัฐตั้งกำแพงภาษี-ปิดตายสินค้านำเข้า 

'เหล็กไทย' แบกต้นทุนสต็อก จี้รัฐตั้งกำแพงภาษี-ปิดตายสินค้านำเข้า 

อุตสาหกรรมเหล็กไทย" ขาดทุนยับ แบกต้นทุนสต๊อกเก่า แต่ต้องผลิตขายราคาถูก จี้รัฐบาลตั้งกำแพงภาษี-ปิดตายสินค้านำเข้า 

KEY

POINTS

  • อุตสาหกรรมเหล็กปีนี้เหนื่อย เพราะดีมานด์เหล็กในประเทศไทยลดลง ปีที่แล้วจากประเทศไทยใช้เหล็กปีละประมาณเกือบ 20 ล้านตัน ในช่วง7-8 ปีหลัง ปีที่แล้วลดลงเหลือประมาณ 16.9 ล้านตัน ปีนี้น่าจะเหลือแค่ 16 ล้านตันต้น ๆ 
  • การเข้ามาของสินค้าทุ่มตลาดจากต่างชาติเป็นปัจจัยเชิงลบต่ออุตสาหกรรมเหล็ก ส่งผลให้ราคาเหล็กเริ่มตกต่ำมาก ในช่วง 2-3 เดือนหลังนี้จะทำให้บริษัทเหล็กที่ส่วนใหญ่มีวัตถุดิบไว้ขาดทุนจากสต็อกไว้
  • หวังว่าธรรมชาติของอุตสาหกรรเหล็กจะดีขึ้น โดยงบภาครัฐที่อนุมัติจะเข้ามาช่วยได้บ้าง และก็ดีใจที่ภาครัฐ โดยนายกรัฐมนตรี จะดูแลปกกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ 

นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า  ตอนนี้อุตสาหกรรมเหล็กถือเป็นปีที่เหนื่อยมาด โดยมีปัจจัยมาจาก 1. ดีมานด์เหล็กในประเทศไทยลดลง ปีที่แล้วจากประเทศไทยใช้เหล็กปีละประมาณเกือบ 20 ล้านตัน ในช่วง7-8 ปีหลัง ปีที่แล้วลดลงเหลือประมาณ 16.9 ล้านตัน ปีนี้น่าจะเหลือแค่ 16 ล้านตันต้น ๆ เท่านั้น

2. การเข้ามาของสินค้าทุ่มตลาดจากต่างชาติในปริมาณมาก ๆ ถือเป็นปัจจัยเชิงลบตัวที่ 2 และ 3. ราคาเหล็กเริ่มตกต่ำมากในช่วง 2-3 เดือนหลังนี้จะทำให้บริษัทเหล็กที่ส่วนใหญ่มีวัตถุดิบไว้ขาดทุนจากสต็อกไว้ ถือว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่เหนื่อยมาก 

อย่างไรก็ตาม หวังว่าธรรมชาติของอุตสาหกรรเหล็กจะดีขึ้น โดยงบภาครัฐที่อนุมัติการลงทุุนในโครงการต่าง ๆ จะเข้ามาช่วยได้บ้าง และก็ดีใจที่ภาครัฐ โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะดูแลปกกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ โดยได้ประสานความร่วมมือกับรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้ให้นโยบายที่จะดูแลอุตสาหกรรมในประเทศ  

"เราเชื่อว่ามาตรการภาครัฐที่ใช้อยู่ ยังต้องอาศัยการใช้มาตรการต่าง ๆ ในแง่การตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ผ่านสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือการมาตรการตอบโต้สินค้าจากต่างชาติได้รวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น และหวังว่าทิศทางของอุตสาหกรรมเหล็กน่าจะดีขึ้น และไม่ควรจะแย่กว่านี้อีกแล้ว" นายนาวา กล่าว

สำหรับเหล็กต่างชาติที่เข้ามากินส่วนแบ่งในประเทศไทย บริษัทฯ เองในฐานะผู้ประกอบการในไทย ต้องยอมรับว่าการทำตลาดไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน จากหลายภูมิภาคในโลกได้ใช้มาตรการเซฟการ์ด คือ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กจากต่างประเทศในอัตรา 25% ดังนั้น แม้ว่าบริษัทฯ จะพยายามหาโอกาสการส่งออกไปสหรัฐ หรือยุโรป ก็ต้องระมัดระวังเรื่องของเซฟการ์ด และถ้าเราส่งออกไปเกินสัดส่วน 3% เมื่อไหร่ก็จะโดนอากรเซฟการ์ดถึง 25% ดังนั้น การหาตลาดต่างประเทศตอนนี้ก็ไม่ง่าย เพราะกำแพงหรือประตู่ที่ประเทศใหญ่ ๆ ใช้กันนั้น ไม่ได้ใช้กันแค่ประเทศจีนเจ้าเดียว แต่โดนประเทศอื่น ๆ ที่จะนำเข้าด้วย

ทั้งนี้ ในการทำธุรกิจในประเทศไทย จะต้องเตรียมพร้อมตั้งรับ ปรับตัวอย่างมาก เมื่อประเทศอื่น ๆ สร้างรั้วสูงกำแพงหนาเยอะ ซึ่งแม้ไทยจะมีการสร้างกำแพงบ้างแล้ว แต่ก็ไม่หนามากเท่าประเทศอื่น สิ่งที่ควรทำหากเปรียบวิกฤติน้ำท่วม หากน้ำท่วมที่อื่นจะมีเขื่อนกั้นน้ำ แต่เขื่อนกั้นน้ำในไทยยังน้อยหรือเตี้ย น้ำก็ไหลมาท่วมบ้านเรา ดังนั้น เราควรสร้างเขื่อนกั้นน้ำไม่ว่าจะเป็นอัตราอากรทุกตลาด หรือกล้าใช้มาตรการตอบโต้สินค้านำเข้าเพื่อเซฟการ์ด ซึ่งต้องกล้าใช้ ไม่อย่างนั้นก็เหมือนน้ำท่วม จึงวิงวอนภาครัฐให้ใช้มาตรการนี้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ปรับตัวการทำธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง อย่างปัจจุบันทั่วโลกมุ่งไปกรีนมากขึ้น บริษัทฯ ได้มีการลงทุนและปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการควบคุมมาตรฐานของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโรงงานเหล็กด้วย ที่มีมาตรการในการควบคุมเรื่องการปล่อยมลพิษประเภทต่าง ๆ ที่เข้มงวดอยู่แล้ว ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กเป็นกลุ่มที่โดนมาตรการที่เข้มข้น จึงมีการเดินหน้าปรับปรุงอยู่แล้ว โดยเริ่มจากโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม และตอนนี้โรงงานที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมด้วย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตั้งเป้าหมายว่าปี 2568 จะต้องปรับปรุงในเรื่องของการควบคุมมลพิษให้ได้ตามเกณฑ์ของนโยบายกรีน ซึ่งตอนนี้บริษัทเหล็กในหลายโรงงานสามารถสมัครเป็น "กรีน อินดัสทรี" กับกระทรวงอุตสาหกรรมได้แล้ว ซึ่งบริษัทฯ ก็พยายามปรับตัวและมีการปรับตัวในระดับเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เช่น ในเรื่องของการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งต้องอาศัยภาครัฐสนับสนุนด้วย เช่น ไฟฟ้าในประเทศไทยส่วนมากมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเกินกำลังโรงงานเหล็ก เพราะโรงงานเหล็กหลายโรงงานก็ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดังนั้น ก็จะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐด้วย

สำหรับแนวคิดปลดล็อกโซลาร์ของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเร่งแก้กฎหมายการติดตั้งโซลาร์ที่ง่ายต่อการขอใบอนุญาต ส่วนตัวมองว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดี จึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วโรงงานเหล็กได้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปเยอะแล้ว โดยในกลุ่มบริษัทฯ ก็ได้ทดลองติดตั้งไปบ้างแล้ว แต่ต้องยอมรับว่ามีขั้นตอนของกฎหมายค่อนข้างหยุมหยิมที่ต้องไปขออนุมัติหลายขั้นตอน ซึ่งหากทำให้ง่ายขึ้นเชื่อว่าทุกโรงงานก็จะยินดีที่จะติดตั้งมากขึ้น 

ทั้งนี้ มองว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ส.อ.ท. เสนอภาครัฐปลายปีนี้น่าจะชัดเจนมากขึ้น ซึ่งนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คือมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลางและยาวซึ่งเห็นรัฐมนตรีหลายกระทรวงแถลงนโยบายด้านนี้ จึงเชื่อมั่นว่าน่าจะดีขึ้น ซึ่งปีหน้าจะเห็นชัดเจนในการลดต้นทุน หวังว่า หากรัฐบาลจะช่วยมาตรการลดต้นทุน พลังงาน การปกป้องอุตสาหกรรม คิดว่าหลายอุตสาหกรรมหลายโรงงานหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐก็จะไปไม่รอด ก็หวังว่ารัฐบาลจะทำได้

"เมื่อเราปรับตัวในการลดต้นทุน ปรับสินค้าตอบรับเทรนด์โลก และหากมาตรการภาครัฐเกิดขึ้นและเห็นผลจะทำให้ปีหน้าภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งยอมรับว่าปีนี้ยังเหนื่อยเพราะดีมานด์ในประเทศไทยลดลง หวังว่าปีหน้าภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้น และมาตรการการสกัดเหล็กทุ่มตลาดน่าจะเข้มงวดยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องของมารตฐานอุตสาหกรรม ก็หวังว่าปีหน้าควรจะฟิ้นตัวขึ้น ตอนนี้อุตสาหกรรมเหล็กพยายามประคองตัวให้รอดจนถึงปีหน้า"