'แอควานซ์ เทค'ไขข้อข้องใจ ทำไม ’อุตฯอิเล็กทรอนิกส์ไทย‘ ตามไม่ทันคู่แข่ง

'แอควานซ์ เทค'ไขข้อข้องใจ ทำไม ’อุตฯอิเล็กทรอนิกส์ไทย‘ ตามไม่ทันคู่แข่ง

แอดวานซ์เทค คอร์ปอเรชั่น ทำไมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยก้าวไม่ทันคู่แข่งในภูมิภาค ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ ชี้รัฐขยับนโยบายช้าไป แนะเร่งสร้างวิศวกรขั้นสูงรองรับ สร้างกิจกรรมเชื่อมโยงฐานการผลิตในภูมิภาคมากขึ้น

ทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่รวดเร็วในปัจจุบันที่มาจากความตามการใช้งานที่เพิ่มขึ้นของอุปกรณ์สมาร์ท อิเล็กทรอนิกส์ การเติบโตที่รวดเร็วของเทคโนโลยีดาต้าเซนเตอร์รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้รัฐบาลของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยต่างคิดกลยุทธ์ที่จะดึงดูดการลงทุนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จากบริษัทชั้นนำเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศและมีการแข่งขันกันระหว่างประเทศอย่างเข้มข้น

ในการแถลงนโยบายรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่าในตอนหนึ่งว่ารัฐบาลจะต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)จากความเข้มแข็งเดิมในอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตฮาร์ดดิสดิสก์ให้เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเพื่อตั้งดาต้าเซนเตอร์ และโรงงานผลิตชิปและชิปดีไซน์ และผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ

นอกจากนี้รัฐบาลนี้จะวางรากฐานให้คนไทยทุกกลุ่มวัยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาตนเอง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างสรรค์นวัตกรรม นำประเทศสู่ความลำสมัย โดยไม่ละเลยจุดสมดุลของความเป็นเจ้าของอธิปไตยข้อมูลและการเปิดกว้างของโอกาสสำหรับการพัฒนา

ในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ และชิปเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่มียอดขอส่งเสริมลงทุนในประเทศไทยสูงถึง 3.4 แสนล้าน ในช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลไทยได้มีการออกมาตรการเพิ่มเติมในการสนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เห็นชอบปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล รวมทั้งมีแนวคิดที่จะตั้งคณะกรรมการระดับชาติที่มาสนับสนุนอุตสาหกรรมประเภทนี้โดยตั้งเป็น “เซมิคอนดักเตอร์บอร์ด” แต่ในขณะนี้การตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวยังล่าช้าออกไปเนื่องจากมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่

ทั้งนี้แม้ประเทศไทยจะมีการวางนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เอาไว้หลายด้านแต่ในมุมมองของภาคเอกชนที่คลุกคลีและเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้ยังมองว่ารัฐบาลไทยยังขยับตัวช้าเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค

นายชอง เป็ง ชู ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แอดวานซ์เทค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) และผู้คิดเชิงกลยุทธ์และนักนวัตกรรมในการดิจิทัลไลเซชันของ AloT ในภาคอุตสาหกรรมและเมืองอัจฉริยะ (strategic thinker and innovator in digitalization of AloT in industrial & smart cities) กล่าวว่า ในขณะนี้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยมีทิศทางการเติบโตที่เพิ่มขึ้น แต่อัตราการพัฒนายังคงตามหลังคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งเวียดนาม

ทั้งนี้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในตลาดการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และตลาดอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก ผ่านนโยบายการเชื่อมโยงฐานการผลิต อย่างเช่น นโยบายการค้า (China +1 trend) ซึ่งหากรัฐบาลมีการเร่งรัดนโยบายสำคัญๆก็ได้จะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้แต่ยังมองว่าการตอบรับจากรัฐบาลในเรื่องนี้ยังช้าเกินไป

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไทยประสบความสำเร็จในการดึงดูดผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลยังคงสามารถขยายห่วงโซ่อุปทานในกระบวนการนี้ได้ ทั้งนี้การผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ยังคงเป็นการผลิตแบบกระบวนการข้ามประเทศ (cross-border process) ประเทศไทยสามารถสร้างความแข็งแกร่งผ่านการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความมั่นคงในผลประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ต้องมีส่วนร่วมการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ร่วมกันด้วย  

\'แอควานซ์ เทค\'ไขข้อข้องใจ ทำไม ’อุตฯอิเล็กทรอนิกส์ไทย‘ ตามไม่ทันคู่แข่ง

“นโยบายของรัฐบาลไทย อาจดูเหมือนว่าจะสร้างแรงดึงดูดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับมาตรการของประเทศเพื่อนบ้าน วิธีการที่เหมาะสมคือการออกนโยบายเฉพาะ และมาตรการสร้างแรงจูงใจ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยมองว่าประเทศไทยยังคงสามารถนำเสนอนโยบายที่สร้างความแตกต่างจากมาเลเซีย และเวียดนามได้อย่างชาญฉลาด  ซึ่งนโยบายที่สนับสนุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ และด้านอิเล็กทรอนิกส์  ต้องมีโรดแม็ปการพัฒนาและการสร้างแรงจูงใจที่ทรงพลัง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างวิศกรทักษะระดับสูงที่จะป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ด้วย”นายชอง เป็ง ชู กล่าว

แนะไทยเร่งเตรียมพร้อมวิศวะกรขั้นสูง

เมื่อถามว่ากรณีที่รัฐบาลไทยจะตั้ง “เซมิคอนดักเตอร์บอร์ด” ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะเหมือนตอนสนับสนุนอุตสาหกรรม EV ในไทย แนวทางนี้มีความน่าสนใจหรือไม่  ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แอดวานซ์เทค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) มองว่าแนวความคิดเรื่องนี้ถือเป็นความคิดริเริ่มในการกระตุ้นให้นักลงทุนระดับโลกติดต่อเข้ามาลงทุนผ่าน “ช่องทางเฉพาะ”

อย่างไรก็ตามเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนา การดำเนินการนี้อาจดูไม่เพียงพอ ไม่มีข้อสงสัยว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ยังไม่สามารถนำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดได้ โดยสิ่งสำคัญคือประเทศไทยต้องริเริ่มพัฒนาวิศกรทักษะระดับสูง ที่เชี่ยวชาญการออกแบบวงจรเซมิคอนดักเตอร์ กระบวนการผลิต การวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์

โดยสามารถที่จะริเริ่มนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมสถาบันการศึกษาและวิจัย เพื่อสร้างความร่วมมือกับสถานบันวิจัยชั้นนำจากต่างประเทศ  และรัฐบาลไทยจำเป็นที่จะต้องเชิญชวน ประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมระดับโลก มามีส่วนในกิจกรรมภายในประเทศ สิ่งนี้จะสร้างการเชื่อมโยงความต้องการจริงจากอุตสาหกรรม มาสู่การลงมือทำโยบาย นั่นคือ การริเริ่มหลัก และการวางแผนงานให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง