สภาพัฒน์ หนุนไทย - กัมพูชา เจรจา OCA เตรียมแหล่งพลังงานรับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

สภาพัฒน์ หนุนไทย - กัมพูชา เจรจา OCA เตรียมแหล่งพลังงานรับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

“สภาพัฒน์” ชี้ ไทยควรเตรียมความพร้อมแหล่งพลังงานรับมือความผันผวนปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ หนุนเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลใช้ประโยชน์แหล่งพลังงานร่วมกันกับกัมพูชา  ส่วนกองทุนขีดแข่งขันถือเป็นเครื่องมือสำคัญดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายลงทุน


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในเรื่องของการเตรียมความพร้อมรองรับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนของสงครามในตะวันออกกลาง สภาพัฒน์มองว่าประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในระยาว

โดยเรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) รัฐบาลไทย และกัมพูชากำลังทำงานเรื่องนี้ร่วมกัน ซึ่งต้องเจรจาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ โดยรูปแบบใช้การพัฒนาพื้นที่ร่วมระหว่างไทยกับมาเลเซีย (JDA) ที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว ส่วนเรื่องของเงินทุนในการลงทุนคิดว่าเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาในการดำเนินการ ซึ่งมีหลายรูปแบบที่สามารถดำเนินการได้ 

“บริเวณดังกล่าวถือว่ามีทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับทั้งสองประเทศได้ในระยะยาวและรองรับความผันผวนของราคาพลังงานในกรณีที่มีความขัดแย้งบริเวณแหล่งผลิตน้ำมันที่ประเทศไทยนำเข้า ซึ่งอาจมีการขยายพื้นที่สงครามได้ ” นายดนุชา กล่าว

เมื่อถามว่าการดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เรื่องอุตสาหกรรมชิปต้นน้ำรัฐบาลควรมีมาตรการอย่างไร นายดนุชา กล่าวว่า ในเรื่องนี้รัฐบาลดำเนินการมาต่อเนื่อง มีการให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุน โดยสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติม คือการเพิ่มทักษะแรงงานให้มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็มีการทำกับสถาบันศึกษาต่างๆ ในการผลิตบุคลากรที่มีความเกี่ยวข้อง ส่วนการใช้เงินในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันถือว่าเป็นเครื่องมือที่จำเป็น เพราะต้องยอมรับว่าการดึงบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีชั้นนำในอุตสาหกรรมนี้

ทั้งนี้ต้องมีการให้แรงจูงใจที่มากพอ ซึ่งส่วนหนึ่งการให้เงินอุดหนุน ซึ่งรัฐบาลกำลังจะเพิ่มขนาดกองทุนนี้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้การเจรจาดึงลงทุนเรามีเครื่องมือที่จะใช้เป็นข้อเสนอการจูงใจดึงการลงทุนได้

“ปัจจุบันกองทุนนี้น่าจะมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 5,000 ล้านบาท แต่ก็ได้มีการทยอยใช้ในการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงทุนในไทยไปมากพอสมควรแล้ว ก็ต้องดูว่าจะมีงบประมาณที่เพิ่มเข้ามาในกองทุนนี้เท่าไร แต่ที่อาจจะต้องมีเงินในกองทุนนี้ 2-3 หมื่นล้านบาท  เพื่อที่จะให้ความมั่นใจในการเจรจากับนักลงทุนว่าเราที่จะสนับสนุนได้” นายดนุชา กล่าว
 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์