เกรียงศักดิ์ แนะไทยเร่งแผนอุทกภัย หนุนตั้ง ‘กระทรวงน้ำ’ สร้างเอกภาพบริหาร

เกรียงศักดิ์ แนะไทยเร่งแผนอุทกภัย หนุนตั้ง ‘กระทรวงน้ำ’ สร้างเอกภาพบริหาร

นักวิชการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ไทยเผชิญปัญหาน้ำท่วมรุนแรง สร้างความเสียหายระบบเศรษฐกิจ แนะวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบ หนุนตั้งกระทรวงน้ำวางการบริหารงานเรื่องน้ำให้เป็นเอกภาพ แนะทำระบบรับมือภัยพิบัติสอดคล้องกับหลักสากล

สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องและบางพื้นที่มีน้ำป่าที่ไหลหลาก เป็นเหตุให้เกิดวิกฤตน้ำท่วมในหลายจังหวัด จากรายงานล่าสุดของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย พบว่ามีถึง 12 จังหวัด คือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ หนองคาย เลย อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี ที่ประสบปัญหา ครอบคลุมพื้นที่ 39 อำเภอ 182 ตำบล และ 797 หมู่บ้าน โดยมีบ้านเรือนกว่า 30,000 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และน้ำท่วมกำลังส่งผลกระทบตามมาอีกหลายจังหวัด ตั้งแต่ภาคเหนือลงมาจนถึงภาคภาคใต้

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า หากมองย้อนกลับไปในอดีต น้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่อยู่คู่ประเทศไทยมานาน เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ มีแม่น้ำสำคัญหลายสาย และตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นที่มีฝนตกชุก ในอดีตผู้คนปรับตัวอยู่ร่วมกับน้ำท่วมได้อย่างกลมกลืน เช่น การสร้างบ้านใต้ถุนสูงและการใช้เส้นทางน้ำในการคมนาคม แต่การพัฒนาในปัจจุบัน ทั้งการขยายเมืองและการก่อสร้างที่ไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ได้เพิ่มความเสี่ยงและความเสียหายจากน้ำท่วม

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (climate change) ยังทำให้รูปแบบของฝนและน้ำท่วมคาดเดาได้ยากขึ้น ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำระดับประเทศกลายเป็นความท้าทายสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการจัดการปัญหาน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้หนึ่งในแนวทางที่ควรมีการเร่งดำเนินการคือการจัดตั้ง “กระทรวงน้ำ” เพื่อรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาการบริหารจัดการน้ำในประเทศขาดความเป็นเอกภาพ เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องน้ำทำงานแยกจากกันและไม่มีการประสานงาน เช่น กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำอยู่ในกระทรวงที่แตกต่างกัน การจัดตั้งกระทรวงน้ำจะช่วยรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นระบบเดียวกัน ส่งผลให้การทำงานบูรณาการมีประสิทธิสภาพและการจัดการน้ำจะยั่งยืนด้วยยุทธศาสตร์ระยะยาว

สำหรับข้อเสนออื่นๆ นั้นตนเองได้เคยเสนอข้อเสนอแนะในการจัดการปัญหาน้ำท่วมตอนลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2551 ดังต่อไปนี้

1.การบริหารจัดการภัยพิบัติระดับสากล  โดยได้วางแนวทางที่เรียกว่า วงจรการจัดการภัยพิบัติ (Disaster Management Cycle) แบ่งออกเป็น 4 แนวทาง ได้แก่

1) การลดขนาดและขอบเขตผลกระทบจากภัยพิบัติ (Mitigation) ลดผลกระทบจากอุทกภัยด้วยการจัดโซนนิ่งและควบคุมผังเมือง บริหารปริมาณน้ำ สร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม รวมถึงระบบระบายน้ำ ซ่อมเครื่องสูบน้ำ ขุดลอกคูคลอง และให้ความรู้ประชาชนในการเตรียมรับภัยพิบัติ

2) การเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Preparedness) จัดทำและซักซ้อมการอพยพ พร้อมเช็คระบบเตือนภัย เตรียมอาหาร น้ำ ยารักษาโรค และอุปกรณ์ดำรงชีพจัดตั้งคณะกรรมการประจำเขต โดยให้ประชาชนร่วมกับภาครัฐเพื่อส่งข้อมูลอย่างรวดเร็ว

3) การให้ความช่วยเหลือได้ทันที เมื่อประสบภัยพิบัติ (Response)

จัดตั้งศูนย์อพยพในแต่ละพื้นที่ประสบภัย พร้อมสิ่งจำเป็นพื้นฐานและเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ เตรียมหน่วยกู้ภัยฉุกเฉินที่มีบุคลากรและอุปกรณ์กู้ภัย เช่น รถยกสูงและเรือกู้ภัย ตรวจสอบน้ำท่วม เส้นทางขนส่ง และจัดระบบชดเชยความเสียหายอย่างเป็นธรรม

4) การฟื้นฟูความเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิม (Recovery)

สำรวจความเสียหายของผู้ประสบภัย รวมถึงบ้านเรือนและโรงงาน เร่งส่งความช่วยเหลือ จัดบ้านพักฉุกเฉิน และกองทุนชดเชย ดูแลสุขภาพผู้ประสบภัย โดยมอบเงินช่วยเหลือและรักษาโรค ฯลฯ

2. จัดทำระบบประกันความเสียหายจากอุทกภัย โดยการจัดการความเสี่ยงและผลกระทบจากน้ำท่วมสามารถทำได้ผ่านระบบประกันและการชดเชยที่เป็นธรรม โดยประชาชนร่วมกันรับความเสี่ยงผ่านการทำประกันอุทกภัย ซึ่งจะช่วยสะสมเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน แทนการรอความช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ควรมีการเก็บค่าชดเชยจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการผันน้ำออกจากพื้นที่ของตน เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ การจัดเก็บเงินประกันและเงินชดเชยสามารถทำร่วมกับระบบภาษีปกติ เช่น ภาษีโรงเรือนหรือที่ดิน โดยแยกเงินไว้ในบัญชีเฉพาะสำหรับการจัดการน้ำท่วม วิธีการนี้จะช่วยให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอในการป้องกัน แก้ปัญหา และชดเชยผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสม รวมถึงสามารถนำเงินบางส่วนไปพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วม เช่น การขุดลอกคูคลองและการทำคันกั้นน้ำ

3.สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการพัฒนาระบบเตือนภัย การบริหารจัดการน้ำต้องปรับวิธีคิดในการทำงาน โดยภาครัฐต้องเปลี่ยนจากการทำงานแบบแยกส่วนมาสู่การร่วมมือระหว่างกระทรวง เพื่อผลิตผลงานระดับชาติที่มีเป้าหมายเดียวกัน ขจัดการทำงานที่ทับซ้อน และเชื่อมโยงองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน นอกจากนี้ ควรพัฒนาเครื่องมือสำคัญ เช่น คลังข้อมูลปริมาณน้ำฝน ระบบอุตุนิยมวิทยา และระบบเตือนภัยแบบเรียลไทม์ เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยในอนาคต

4. พัฒนาระบบเชื่อมโยงแม่น้ำและคลองเพื่อกระจายน้ำทั่วประเทศ แม่น้ำ คลอง และทางน้ำต่าง ๆ เชื่อมโยงกันเป็นระบบโครงข่ายที่สามารถกระจายน้ำได้ทั่วประเทศ การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิสภาพจำเป็นต้องพิจารณาระบบลุ่มน้ำทั้งหมดแบบองค์รวม โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงของแหล่งน้ำต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ เช่น การขุดลอกคูคลอง การสร้างอ่างเก็บน้ำ และการเชื่อมโยงแหล่งน้ำ จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิสภาพมากขึ้น ทั้งในด้านการป้องกันน้ำท่วมและการกระจายน้ำไปยังพื้นที่ขาดแคลน

5.จัดตั้งศูนย์ (War Room) พร้อมฐานข้อมูลแบบ Real-time เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ศูนย์นี้จะรวบรวมข้อมูลสำคัญจากหน่วยงานต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ เช่น ปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำในเขื่อนและแม่น้ำ และสภาพอากาศ ทำให้สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ คาดการณ์แนวโน้ม และตัดสินใจสั่งการได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต

“การจัดการภัยพิบัติน้ำท่วมในประเทศไทยเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน การเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต ผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต”