การนำเข้า….พระเอกหรือผู้ร้าย?
การนำเข้าเป็นได้ทั้งพระเอกและผู้ร้าย ขึ้นอยู่กับว่าเรานำเข้าสินค้ามาเพื่อตอบสนอง “ความอยาก” ในการบริโภคเพียงอย่างเดียว หรือนำเข้าสินค้าจาก “ความจำเป็น” อย่างสินค้าทุนและวัตถุดิบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การส่งออกและลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยให้ไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าในช่วงนี้ได้อีกด้วย
หลายเดือนที่ผ่านมา ประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในแวดวงธุรกิจคงหนีไม่พ้นเรื่องสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนที่เข้ามาตีตลาดไทยผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะยิ่งซ้ำเติมผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางอยู่แล้วหลัง COVID-19 เห็นได้จากตัวเลข NPLs ของ SMEs ไทย ณ ไตรมาส 2 ปี 2567 ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับ 8% สูงสุดในรอบ 8 ไตรมาส ล่าสุดประเด็นดังกล่าวก็ถูกบรรจุเป็น 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเร่งแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมาหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจน EXIM BANK ก็ได้ประชุมร่วมกันในหลายเวทีเพื่อหามาตรการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม วันนี้ผมคงไม่ได้มาวิเคราะห์ผลกระทบหรือมาตรการรับมือกับสินค้าจีนข้างต้นเป็นการเฉพาะนะครับ เพราะหลายท่านน่าจะได้ยินได้ฟังจากกูรูและสื่อต่าง ๆ มาพอสมควรแล้ว แต่ผมอยากชวนท่านผู้อ่านถอยออกมาหนึ่งก้าวเพื่อมองภาพที่ใหญ่ขึ้นในเรื่องการนำเข้าสินค้าของไทยที่มีความน่าสนใจในหลายแง่มุม ผ่านคำถามต่าง ๆ ดังนี้
- นำเข้าเยอะๆ ไม่ดีต่อเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ถ้าตอบเร็ว ๆ ง่าย ๆ ก็อาจจะจริง เพราะการนำเข้าคือการที่เราต้องเสียเงินซื้อสินค้าให้กับผู้ขายในต่างประเทศ แทนที่จะอุดหนุนสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศเราเอง ยิ่งไปกว่านั้นหากช่วงเวลาใดประเทศมีการนำเข้ามากกว่าการส่งออกก็จะทำให้เราขาดดุลการค้า พูดง่าย ๆ คือ เราต้องเสียเงินตราต่างประเทศมากกว่าได้รับ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะมีส่วนทำให้ GDP ลดลง หรือหากมีการขาดดุลการค้าเรื้อรังก็อาจกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าไม่ได้มีเพียงผลกระทบในเชิงลบเท่านั้น คงต้องพิจารณาด้วยว่าเรานำเข้าสินค้าอะไรมากน้อยเพียงใด ซึ่งผมจะกล่าวในรายละเอียดถัดไป แต่ในเบื้องต้นผมอยากให้ผู้อ่านอุ่นใจระดับหนึ่งก่อนว่า หากดูสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วง 26 ปีหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยยังเกินดุลการค้ามากถึง 18 ปี เท่ากับว่าเรายังขายเก่งกว่าซื้ออยู่พอสมควรนะครับ
- ที่ผ่านมาไทยนำเข้าอะไรบ้าง หากพูดถึงการนำเข้า คนทั่วไปมักจะนึกถึงการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ เสื้อผ้า นาฬิกา เครื่องประดับ รถยนต์ เป็นต้น ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากถูกนำมาใช้เพื่อการบริโภคส่วนตัว สนอง “ความอยาก” เป็นส่วนใหญ่ โดยสินค้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของการนำเข้ารวม ซึ่งอาจสะท้อนได้ระดับหนึ่งว่า ภาคการผลิตของไทยสามารถตอบสนองความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานในประเทศได้ค่อนข้างดี ทำให้ไม่ต้องนำเข้ามาก สวนทางกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศที่ยังต้องนำเข้าสินค้าเหล่านี้สูง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสถิติย้อนหลัง จะพบว่า สัดส่วนการนำเข้าสินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเพียง 10% ในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งมาอยู่ที่ 17% ในปี 2566 สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงสะท้อนถึงสังคมบริโภคนิยมของคนไทยที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งมีส่วนผลักดันให้หนี้ครัวเรือนทะลุ 90% ต่อ GDP ในปัจจุบัน แต่อาจสะท้อนถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบไทยที่ลดลง ผลิตสินค้าได้โดนใจผู้บริโภคน้อยลง หรือเริ่มเผชิญกับการแข่งขันจากต่างประเทศที่รุนแรงขึ้นทั้งด้านคุณภาพและราคา โดยเฉพาะจีนที่มาแรงแซงญี่ปุ่นกลายมาเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทยตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคและยานพาหนะที่ไทยนำเข้าจากจีนสูงถึงกว่า 37%
- แล้วที่เหลือไทยนำเข้าอะไรอีกบ้าง อีกกว่า 4 ใน 5 ของการนำเข้าที่เหลือเป็นการนำเข้าสินค้าเพราะ “ความจำเป็น” เนื่องจากเรามีทรัพยากร หรือปัจจัยการผลิตที่ยังไม่เพียงพอเป็นส่วนใหญ่ ไล่เรียงไปตั้งแต่การนำเข้าสินค้าพลังงานโดยเฉพาะเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่เรามีทรัพยากรไม่เพียงพอ โดยที่ผ่านมาสัดส่วนสินค้าหมวดนี้ ก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไม่ถึง 10% หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง มาอยู่ที่ 18% ในปัจจุบัน สะท้อนได้ส่วนหนึ่งว่า การใช้พลังงานฟอสซิลของไทยยังไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากไทยตั้งเป้าจะบรรลุ Net Zero ในปี 2608 เราคงต้องช่วยกันอีกมากนะครับ นอกจากนี้ การนำเข้าที่เหลืออีกกว่า 3 ใน 5 จะเป็นการนำเข้าสินค้าทุน และวัตถุดิบ/สินค้ากึ่งสำเร็จรูป ซึ่งถือเป็นหมวดใหญ่ที่สุด และมีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการผลิต การลงทุนและการส่งออก
- ไทยนำเข้าสินค้าทุนกับวัตถุดิบเยอะ แต่ทำไมเศรษฐกิจไม่ค่อยโต แม้ปัจจุบันการนำเข้าสินค้าหมวดดังกล่าวจะมีสัดส่วนใหญ่ที่สุด แต่หากเทียบกับในอดีตแล้วสัดส่วนนี้กลับมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ จากเกือบ 80% ในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งมาอยู่ที่ราว 63% ในปัจจุบัน ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับสัดส่วนการลงทุนรวมต่อ GDP ที่ลดลงต่อเนื่องจาก 40% ในช่วงก่อนต้มยำกุ้งมาอยู่ที่เพียง 23% เช่นเดียวกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่แทบไม่ขยายตัวเลยโดยเฉพาะ 2 ปีหลังสุดที่หดตัวแทบจะทุกเดือน ล่าสุดก็ได้สะท้อนผ่านตัวเลขการลงทุนรวมไตรมาส 2 ปี 2567 ที่หดตัวสูงถึง 6.2% สูงสุดในรอบ 16 ไตรมาส สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลให้หลายฝ่ายอย่างมาก เพราะการลงทุนถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้าง Multiplier Effect ให้กับเศรษฐกิจในหลายมิติ หากการลงทุนไม่เดิน เครื่องยนต์ตัวอื่นก็ไปต่อได้ยาก
ไม่เพียงเท่านี้ สัดส่วนการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่ลดลง ยังสะท้อนอีกนัยว่า เราแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก เงินบาทที่แข็งค่าเฉลี่ยปีละ 1.5% ต่อปีหลังวิกฤตต้มยำกุ้งในการนำเข้าสินค้าจำเป็นเหล่านี้มาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือต่อยอดการลงทุนใหม่ ๆ เลย อย่างล่าสุดช่วงกลางเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา เงินบาทก็แข็งค่าที่สุดในรอบ 19 เดือน แตะ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าอันดับต้น ๆ ของเอเชีย หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี
จะเห็นได้ว่าการนำเข้าเป็นได้ทั้งพระเอกและผู้ร้าย ขึ้นอยู่กับว่าเรานำเข้าสินค้ามาเพื่อตอบสนอง “ความอยาก” ในการบริโภคเพียงอย่างเดียว หรือนำเข้าสินค้าจาก “ความจำเป็น” อย่างสินค้าทุนและวัตถุดิบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การส่งออกและลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยให้ไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าในช่วงนี้ได้อีกด้วย
Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK