‘บาทแข็งค่า’ ซ้ำเติมผู้ส่งออก ฉุดออร์เดอร์ถึงไตรมาส 1 ปีหน้า
จับตา "บาทแข็ง" กระทบส่งออกปลายปีต่อเนื่องไตรมาสแรกปีหน้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ทำขายยากมากขึ้น ขณะที่ส่งออกเดือนส.ค.ขยายตัว 7% พาณิชย์คงเป้าส่งออกทั้งปี 1-2%
การค้าระหว่างประเทศของไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากอัตราแลกเปลี่ยนหลังจากเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น โดยผู้ส่งออกกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ต้องการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหาทางรับมือกับเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกหลังจากนี้ต้องจับตาปัจจัยที่อาจกระทบต่อการส่งออกไทยในระยะถัดไป อาทิ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอนสูง ค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัญหาอุทกภัยในประเทศที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทย เพื่อให้มั่นใจว่าการส่งออกจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไป
“กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าทั้งปี 2567 จะส่งออกได้ตามเป้า 1-2% และมีโอกาสเกิน 2% เพราะเศรษฐกิจคู่ค้าหลักเริ่มฟื้นตัว เช่น สหรัฐ แต่ขอคงเป้าไว้ที่ 2% ก่อน โดยมีมูลค่า 290,776 ล้านดอลลาร์ ถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ ส่วนสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าระยะหลังยังไม่มีผลให้ สนค.ปรับเป้าหมายการส่งออกปีนี้ “นายพูนพงษ์ กล่าว
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าจะทำให้การส่งออกช่วงที่เหลือทำได้ยาก ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นผลกระทบสภาพคล่องการเงินจากการส่งออกก่อนหน้านี้
รวมทั้งเมื่อแปลงเป็นเงินบาทแล้วได้เงินกลับมาน้อยลง และคาดว่ากระทบคำสั่งซื้อช่วงพ.ย. - ธ.ค. และไตรมาสแรกปี 2568 ที่จะขายได้ยากขึ้น แข่งขันได้ลดลงโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาดูแลไม่เช่นนั้นจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกมาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตร ส่วนการส่งออกเดือนส.ค.2567 ที่ขยายตัวเป็นผลจากการทำงานหนักของภาครัฐ และเอกชนที่ร่วมมือกัน
สนค.รายงานการค้าระหว่างประเทศเดือนส.ค.2567 โดยการส่งออกมีมูลค่า 26,182 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วขยายตัว 7.0% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำและยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัว 6.6% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 25,917 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.9% ได้ดุลการค้า 264 ล้านดอลลาร์
ส่วนปัจจัยหลักบวกการส่งออกเดือนส.ค.2567 มาจากสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น และสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตดี โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากสภาพภูมิอากาศผันผวนหลายประเทศ ประกอบกับการฟื้นตัวภาคบริการในตลาดสำคัญ ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตร และอาหารเพิ่มขึ้น
ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อส่งผลให้กำลังซื้อผู้บริโภคเพิ่มขึ้น กระตุ้นความต้องการสินค้าจากไทย และค่าระวางเรือที่ลดลงโดยเฉพาะเส้นทางขนส่งไปสหรัฐ และยุโรป ทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนลดลง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา
สำหรับการส่งออกเดือนส.ค.2567 การส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 17.4% โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 17.5% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 17.1% โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และไขมัน และน้ำมันจากพืช และสัตว์
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ผักกระป๋องและผักแปรรูป ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 5.6%
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 5.2 % โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ และแผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 4.0%
สำหรับการส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งในตลาดหลัก อาทิ สหรัฐ จีน อาเซียน (5 ประเทศ) กลุ่ม CLMV และสหภาพยุโรป รวมถึงตลาดรอง อาทิ เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง
สอดคล้องการทยอยฟื้นของเศรษฐกิจการค้าโลก หลังแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยทยอยลดลง โดยตลาดหลัก ขยายตัว 5.7% ได้แก่ ตลาดสหรัฐ ขยายตัว 3.0% จีน 6.7% สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) 26.4% อาเซียน (5 ประเทศ) 4.5% และ CLMV 13.7 % ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น คงหดตัว 11.3%
ส่วนตลาดรอง ขยายตัว 7.9% ได้แก่ ตลาดเอเชียใต้ขยายตัว 22.8% ตะวันออกกลาง 34.6% แอฟริกา 20.3% ลาตินอเมริกา 19.1% รัสเซีย และกลุ่ม CIS 9.3% และสหราชอาณาจักร 2.6% ขณะที่ติดลบในตลาดทวีปออสเตรเลีย 14.0% และตลาดอื่นๆ ขยายตัว 106.8%
ขณะที่การส่งออกเดือนก.ย.จะขยายตัวต่อเนื่องถึงปลายปี โดยมีปัจจัยหนุนมาจากสัญญาณการคลี่คลายของภาวะเงินเฟ้อระดับสูงหลายประเทศ และแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งจะกระตุ้นการบริโภคในตลาดโลก
ด้านความต้องการสินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดคล้องนโยบายรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศคู่ค้า และสภาพภูมิอากาศผันผวนทั่วโลกทำให้กระทบปริมาณผลผลิตหลายประเทศ และแนวโน้มการชะลอตัวของอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้าจะลดต้นทุนโลจิสติกส์ และเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้ผู้ส่งออกไทย
ทั้งนี้ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 197,192 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 203,543 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.0% ทำให้ 8 เดือนแรกของปี 2567ขาดดุล 6,351 ล้านดอลลาร์
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์