‘คลัง’ จ่อรื้อภาษี เดินหน้าประเทศสู่เป้าเน็ตซีโร่

‘คลัง’ จ่อรื้อภาษี เดินหน้าประเทศสู่เป้าเน็ตซีโร่

“เผ่าภูมิ” เผยคลังเร่งใช้มาตรการ การเงิน และกลไกภาษี ขับเคลื่อนไทยสู่เน็ตซีโร่ ลุยออกภาษีคาร์บอนภายในปีนี้ รื้อภาษีแบตเตอรี่เก็บตามขั้นบันได เล็งออกสินเชื่อหนุนผู้ประกอบการปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Green Finance นโยบายการเงินสีเขียว รับมือภาวะโลกเดือด” ในงานสัมมนา Road to Net Zero 2024: The Extraodinary Green จัดโดยฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2567 ว่า หากประเทศไทยไม่เดินไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว เมื่อผลิตสินค้าหรือบริการ ถ้าไม่มีสีเขียว หรือไม่ได้รับการการันตีว่าเป็นสีเขียว สิ่งที่จะต้องเผชิญ คือ มาตรการกีดกันทางการค้าที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า 8,000 มาตรการ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าทั่วโลกมีการออกมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้นปีละ 16% บ่งบอกถึงทิศทางว่าท่านจะอยู่ไม่รอด หากภาคเอกชนไม่ดำเนินไปสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพียง 7% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งช่องว่างจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากไทยยังไม่ทำอะไรเพิ่มเติม เช่นเดียวกันกับสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยใช้อยู่เพียง  13-14% เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม อยู่ที่ 19%

"เราจะอยู่ไม่รอดถ้าไม่ทำอะไร เราจะอยู่ไม่รอดทางด้านชีวิต และอยู่ไม่รอดทางด้านเศรษฐกิจ ฉะนั้น เศรษฐกิจสีเขียวเป็นข้อผูกมัด และสิ่งที่ต้องทำ เพราะเป็นทางรอดของประเทศไทย และเมื่อต้องทำแล้ว มีหลายภาคส่วนที่ต้องเดินหน้าด้วยกัน ทั้งในภาคส่วนที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ของประเทศ ภาคเอกชน และในส่วนที่รับผิดชอบ"

ด้านกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะกรมสรรพสามิต มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ รวมทั้งบทบาทของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจด้วย

สำหรับสิ่งที่กระทรวงการคลังควรจะทำแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ มิติด้านการเงิน โดยกระทรวงการคลังมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และมีส่วนที่สามารถพูดคุยได้ หรือธนาคารพาณิชย์ โดยเรามองธนาคารเป็นตัวกลางในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ในทิศทางที่เราอยากให้ประเทศนี้ไปได้ 

"เพราะสถาบันการเงินเป็นผู้กำหนดสินเชื่อว่าจะให้ในอัตราดอกเบี้ยเท่าใด และเงื่อนไขรูปแบบใด ฉะนั้น หากเราต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมดังกล่าวก็จะได้รับสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรน"

ขณะที่แบงก์รัฐที่กระทรวงการคลัง กำกับอยู่นั้น ธนาคาร EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินที่ตื่นรู้ด้านเศรษฐกิจที่เขียวอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยมีพอร์ตสินเชื่อสีเขียวกว่า 70,000 ล้านบาท และกำลังจะก้าวสู่เป้าหมาย 1 แสนล้านบาท ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายให้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่สีเขียว ส่วนธนาคารออมสิน และ SME Bank ก็มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อปรับปรุงภาคเอกชนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว  

ส่วนมิติทางด้านภาษีนั้น กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาภาษีคาร์บอนขั้นสุดท้าย คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ในเร็วๆ นี้ เพื่อให้เริ่มมีผลบังคับใช้ได้ทันภายในปี 2567 นี้ โดยแนวคิดการเดินหน้าภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax นั้น เกิดจากปัญหาหลักของประเทศไทยสำคัญที่สุด คือ คนผลิตที่ไม่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ถูกจ่ายราคาในการสร้างมลพิษ ซึ่งเวลานี้มีความสำคัญ หากไม่มีราคาที่ต้องจ่ายในการสร้างมลพิษ ทุกคนก็ปล่อยมลพิษ 

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในประเทศ คือ ราคาของคาร์บอน (Carbon price) ซึ่งกรมสรรพสามิตได้คิดกลไกผ่านการสร้างภาษีคาร์บอน ที่เข้าไปในสินค้าที่ผลิต หรือสร้างมลพิษสูง เช่น น้ำมัน แต่ไม่ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น เพราะเราใช้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของกรมสรรพสามิต อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ราคาในจุดแรกไม่กระทบประชาชน

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ยังอยู่ในช่วงพิจารณาภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันใช้ภาษีแบตเตอรี่อัตราเดียว ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ชนิดใดก็ตาม แต่ต่อไปนี้จะมีระบบขั้นบันได เนื่องจากแบตเตอรี่แต่ละชนิด สร้างขึ้นมามีความแตกต่างกัน การจัดเก็บภาษีก็ควรมีความแตกต่างกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่สะอาดขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

“ในหมวกของกระทรวงการคลัง เราทำเต็มที่ในมิติของมาตรการทางการเงิน และมาตรการทางภาษี ทั้ง 2 อย่างนี้ จะเป็นกลไกควบคู่ ในการประสานภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม และเราจะจับมือร่วมกันไป เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเป็นผู้ตามอีกต่อไป และเราจะเปลี่ยนภาระที่เกิดขึ้นจากคำว่าเศรษฐกิจสีเขียว กลายเป็นเราจะสร้างประเทศนี้เป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจสีเขียวต่อไป”นายเผ่าภูมิ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์