“คลัง” จับตาสถานการณ์น้ำท่วม ค่าเงินบาทแข็ง หวั่นกระทบเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

“คลัง” จับตาสถานการณ์น้ำท่วม ค่าเงินบาทแข็ง หวั่นกระทบเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

“คลัง” เผยภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือนส.ค.ติดตามเศรษฐกิจในประเทศใกล้ชิด จับตาผลกระทบอุทกภัย ค่าเงินบาทแข็ง กังวลส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนส.ค.2567 ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนส.ค.2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ อีกทั้ง จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ รวมถึงค่าเงินบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ทั้งนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนส.ค.2567 อยู่ที่ 0.35% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.62% มีสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนก.ค.2567 อยู่ที่ 63.7% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 

สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนส.ค.2567 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 235.7 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนส.ค.2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 9.6% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 0.5% 

อย่างไรก็ดี ปริมาณรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนส.ค.2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 25.5% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 12.1% รวมทั้งปริมาณจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ลดลง 15.9% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 3.8% 

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนก.ค.2567 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 56.5 จากระดับ 57.7 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ประกอบกับค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนส.ค.2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 7.2%

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนส.ค.2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 5.5% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 8.9% 

โดยปริมาณรถยนต์เชิงพาณิชย์จดทะเบียนใหม่ในเดือนส.ค.2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 22.5% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 11.3% 

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนส.ค.2567 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 5.7% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 3.1%

ขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนส.ค.2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 5.2% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 11.3%

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูงจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนส.ค.2567 อยู่ที่ 26,182.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 7.0% และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมัน และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวที่ 6.6% เนื่องจากการขยายตัวของสินค้าในหมวดเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 74.7% เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ 23.1% และเครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 19.8% 

นอกจากนี้ สินค้ายางพาราขยายตัว 64.8% ข้าว 46.6% อาหารสัตว์เลี้ยง 25.0% และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 20.5% อย่างไรก็ดี การส่งออกน้ำตาลทราย และแผงวงจรไฟฟ้า ปรับตัวลดลง 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นในตลาดตะวันออกกลาง 34.6% อินเดีย 22.3% อาเซียน (9) 8.1% และจีน 6.7% อย่างไรก็ดี ตลาดญี่ปุ่น หดตัว 11.3% และทวีปออสเตรเลีย 14.0%

ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน โดยเฉพาะบริการด้านการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนส.ค.2567 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.96 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อน 20.1% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 2.8% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น 

เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนส.ค.2567 จำนวน 21.0 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 4.4% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 6.6% 

ขณะที่ภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนส.ค.2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1.3% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 1.4% ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดไม้ผล และหมวดประมง 

สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนส.ค.2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1.9% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 2.9% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค.2567 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 87.7 จากระดับ 89.3 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยกดดันจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ กำลังซื้อผู้บริโภคยังอ่อนแอจากปัญหาหนี้สินที่เร่งตัวขึ้น และปัญหาสินค้าต่างประเทศเข้ามาตีตลาด อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์