น้ำท่วมขวางโลจิสติกส์-ซัพพลายหด กินเจโหมดีมานด์ดัน“ราคาผักพุ่งสูง”

น้ำท่วมขวางโลจิสติกส์-ซัพพลายหด  กินเจโหมดีมานด์ดัน“ราคาผักพุ่งสูง”

สถานการณ์น้ำท่วมไม่เพียงสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่แต่ผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้วในขณะนี้กำลังทำให้ภาคการค้าโดยเฉพาะกลุ่มอาหารได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยที่แสดงผลออกมาผ่านราคาผักและผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อมูลราคาสินค้าจากตลาดสี่มุมเมือง ระบุว่า ผักชีมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยราคา ณ วันที่ 19 ก.ย.2567 อยู่ที่ กิโลกรัม(กก.)ละ 180 บาท  เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 200 บาท ณ วันที่ 25 ก.ย. 2567 

  ขึ้นช่าย กก.ละ 80 ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันที่ 19 ก.ย.  ผักบุ้งจีน  กก.ละ 24 บาท ไม่เปลี่ยนเเปลง กะหล่ำปลี กก.ละ 30 บาท สูงขึ้นจาก กก.ละ 25 บาท ณ วันที่ 18 ก.ย. 2567 

 ขณะที่ข้อมูลราคาสินค้า ตลาดไท พบว่า ผักชีกก.ละ 190-240 บาท ณ วันที่ 25 ก.ย. 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.35% เทียบกับวันก่อนหน้า  ส่วนผักบุ้งจีน กก.ละ 20-25 บาท ปรับตัวเพิ่มขึั้น 25% 

ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน ระบุข้อมูลเปรียบเทียบราคาขายปลีก สินค้าอาหารสด ในกรุงเทพมหานคร ระบุว่า สุกรชำแหละเนื้อแดง(สะโพก) ณ วันที่ 25 ก.ย. 2567 กก.ละ 135-140 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันที่ 20 ก.ย. 2567 

  ไก่สดชำแหละ น่อง สะโพก กก.ละ 80-90 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง ไข่ไก่ (เบอร์3) ฟองละ 4.40-4.60 ไม่เปลี่ยนแปลง ผักคะน้า กก.ละ 30-35 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง ผักชี กก.ละ  200-220 สูงขึ้นเล็กน้อย จากวันที่ 2o ก.ย.ที่ 200-210 บาท 

ชาวบ้านโวยราคาผักเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

ผู้บริโภครายหนึ่ง กล่าวว่า ราคาผักสดปรับตัวเพิ่มขึ้นเท่ียบกับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เฉลี่ยเกือบ 1 เท่าตัวทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารประจำวันปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงปรับตัวด้วยการเปลี่ยนการปรุงอาหารด้วยผักที่ราคาย่อมเยามากกว่า 

“ผักสดที่ราคาสูงขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนด้านค่าอาหารรายวันสูงขึ้นตามไปด้วย ต้องวางแผนการใช้จ่ายเพื่อไม่ให้รายจ่ายเพิ่มขึ้นจากระทบต่อรายจ่ายด้านอื่นๆ ”

ด้านผู้ขายผักรายหนึ่ง กล่าวว่า สาเหตุที่ราคาผักสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะเดียวกันน้ำท่วมทำให้การขนส่งผักและสินค้าอื่นๆได้รับผลกระทบ จนทำให้ซัพพลายป้อนสู่ตลาดน้อยลง หรือ ล่าช้าขึ้นส่งผลให้ราคาผักปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ใกล้เทศกาลกินเจแล้ว มีแนวโน้มว่าความต้องการจะสูงขึ้น ยิ่งทำให้สถานการณ์ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติหรือ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA)

ระบุว่า ในเดือนส.ค. 2567 เอลนีโญกำลังอ่อนตัวลงและจะเข้าสู่ ยุคของ “ลานีญา” ทำให้ปริมาณฝนที่ตกลงมามากกว่าปกติและ อุณหภูมิจะต่ำกว่าปกติอากาศเย็นขึ้น ซึ่งสภาวะนี้จะทำให้ไทยเกิด ฝนตกหนัก และเกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ 

น้ำท่วมทำอุปทานสินค้าขาดแคลน

โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ตั้งแต่ไทยเข้าสู่ ฤดูฝน (20 พ.ค. 2567) ถึง ณ วันที่ 27 ส.ค. 2567 พบว่า มีพื้นที่ การเกษตรได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 32 จังหวัด มีเกษตรกรได้รับ ผลกระทบ 100,280 ราย พื้นที่รวม 626,582 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 527,357 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 75,415 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ 24,260 ไร่ อุทกภัยส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก เป็นอุปสรรคต่อ การเก็บเกี่ยว และเกิดความเสียหายต่อผลผลิต ส่งผลให้ระดับราคา สินค้าสูงขึ้นจากปัญหาภาวะอุปทานขาดแคลน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง 

ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่าได้ กระทรวงพาณิชย์ได้การติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตร อย่างใกล้ชิด รวมทั้งกำกับดูแลให้สินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพของ ประชาชนมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการใช้ และเฝ้าระวังการฉวย โอกาสขึ้นราคาสินค้า รวมทั้งจัดประชุมหารือร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ห้างท้องถิ่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ที่เป็นภาคีเครือข่าย เพื่อจัดการสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ ไม่ให้สินค้าขาดแคลน จนกระทบต่อผู้บริโภค"

ด้านสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าของภูมิภาค เดือนส.ค. 2567 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยภาพรวมประเทศสูงขึ้น0.35% (YoY) โดยภาคเหนือสูงกว่าทุกภูมิภาค 0.55% 

ราคาอาหารค่าใช้จ่ายสำคัญครัวเรือน

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (หักสินค้าอาหารสดและพลังงาน) ภาพรวมประเทศสูงขึ้น 0.62% โดยภาคเหนือสูงกว่าทุกภูมิภาค อยู่ 0.70% ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ลดลงอยู่ที่ระดับ 49.5 (เดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 49.7) อยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยมีเพียง กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในช่วงเชื่อมั่น ที่ระดับ 54.0 และ 51.7 ตามลำดับ 

สำหรับค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทย ณ เดือน ส.ค. 2567 เฉลียที่ 18,293 บาท ในจำนวนนี้สัดส่วน 41.94% เป็นค่าใช้จ่ายหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สินค้าสำคัญได้แก่ อาหารบริโภคในบ้าน และอาหารDelivery ,เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ , อาหารบริโภคนอกบ้าน เช่น KFC PIZZA ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง และผักสดและผลไม้ 

ส่วนที่เหลือสัดส่วน 58.06% หมวดสินค้าไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สินค้าสำคัญได้แก่ ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้า

น้ำท่วมขวางโลจิสติกส์-ซัพพลายหด  กินเจโหมดีมานด์ดัน“ราคาผักพุ่งสูง”