'สรรพสามิต' ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ปี 68 แตะ 6 แสนล้าน จัดเก็บภาษีหนุน ESG

'สรรพสามิต' ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ปี 68 แตะ 6 แสนล้าน จัดเก็บภาษีหนุน ESG

"สรรพสามิต" ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ปี 68 แตะ 6 แสนล้าน เล็งเก็บภาษีคาร์บอนขับเคลื่อน ESG เผยผลจัดเก็บรายได้ 11 เดือนแรกปีงบ 67 อยู่ที่ 4.82 แสนล้าน คาดทั้งปีจัดเก็บรายได้ที่ 5.23 แสนล้าน สูงกว่าประมาณการใหม่ 0.6% และสูงกว่าปีก่อน 9.64%

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2568 สรรพสามิตประมาณการจัดเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณ อยู่ที่ 6 แสนล้านบาท โดยเป็นประมาณการบนสมมุติฐานของกระทรวงการคลังว่าจะไม่มีการใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 

ทั้งนี้ คณะทำงานติดตามผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลมีมติปรับลดเป้าหมายประมาณการรายได้กรมสรรพสามิตปีงบประมาณ 2567 ลงจาก 598,000 ล้านบาท เหลือ 520,000 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ที่ช่วยผู้ประกอบการและประชาชน อาทิ มาตรการลดภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

 

โดยผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต 11 เดือนแรกปีบประมาณ 2567 (ต.ค. 2566 - ส.ค.2567) จัดเก็บได้อยู่ที่ 482,026 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 10.7% และสูงกว่าเป้าหมายของกระทรวงการคลัง 1.06% โดยคาดการณ์ว่าปีงบประมาณ 2567 กรมสรรพสามิตจะมีผลการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 523,142 ล้านบาท สูงกว่าเป้าประมาณการใหม่ 0.6% และสูงกว่าปีก่อน 9.64% 

นายเอกนิติ กล่าวต่อว่า กรมสรรพสามิต มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการจัดเก็บภาษีมุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ประกอบด้วย 1.ด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เป็นกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับ ที่สร้างการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการปล่อยคาร์บอนให้กับผู้ประกอบการและประชาชน เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าออกไปยังประเทศปลายทางที่เสียภาษีในส่วนนี้ สามารถนำไปเจรจาลดหย่อนค่าธรรมเนียม Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ได้   

"โดยในระยะแรกจะมีการปรับใช้ภาษีคาร์บอนโดยใช้หลักการแปลงภาษีสรรพสามิตที่เดิมมีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ให้อยู่ในรูปของภาษีคาร์บอน โดยไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชน"

2.ด้านสังคม มาตรการการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต ไวน์ สุราแช่ และสถานบริการ โดยปรับอัตราภาษีตามมูลค่าจากเดิม 10% เป็น 0% และการปรับลดภาษีสถานบันเทิง จาก 10% เป็น 5% เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ โดยในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ยอดการจัดเก็บรายได้ภาษีสินค้าสุราแช่ชุมชนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 39 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 16.6%

3.ด้านธรรมาภิบาล กรมยังได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการตรวจสอบว่าเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมายผ่านการตรวจวิเคราะห์จากสรรพสามิตหรือไม่ โดยประชาชนสามารถตรวจสอบได้จากการสแกนแสตมป์บนผลิตภัณฑ์บุหรี่และสุรา

ซึ่งนอกจากเป็นการสร้างความชอบธรรมต่อผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริตแล้ว ยังเป็นการดูแลความปลอดภัยในด้านสุขภาพให้กับพี่น้องประชาชนอีกด้วย