'ครม.' ปรับแผนบริหารหนี้ฯ ปี 68 ก่อหนี้เพิ่ม 6 หมื่นล้าน หนี้สาธารณะ 66.8%  

'ครม.' ปรับแผนบริหารหนี้ฯ ปี 68  ก่อหนี้เพิ่ม 6 หมื่นล้าน หนี้สาธารณะ 66.8%  

ครม.ปรับบริหารหนี้สาธารณะปี 68 ก่อหนี้ใหม่ 1.20 ล้านล้าน เพิ่มขึ้นจากเดิม 6.1 หมื่นล้าน รับการจ่ายหนี้ของรัฐบาลที่สูงขึ้น ดันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 66.80%  สศช.เตือนภาระการชำระหนี้สูงขึ้นฉุดศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจในอนาคต

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 68 โดยประกอบด้วยแผนก่อหนี้ใหม่ 1.20 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 61,723 ล้านบาท เมื่อเทียบกับแผนปี 67 (ปรับปรุง ครั้งที่ 3) ที่มีวงเงิน 1.14 ล้านล้านบาท

ขณะที่แผนการบริหารหนี้เดิมประจำปีงบ 68 อยู่ที่ 1.78 ล้านล้านบาท ลดลง 2.45 แสนล้านบาท และแผนการชำระหนี้ 4.89 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.49 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้จากแผนดังกล่าว ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ในปีงบประมาณ 68 จะอยู่ที่ 66.80% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด ที่ไม่เกิน 70% ด้วย

 

สำหรับแผนการก่อหนี้ใหม่ เช่น การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 68 จำนวน 865,700 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลประจำปีงบ 67 และการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล เพิ่มเติมปีงบ 67 ที่มีการขยายเวลากู้เงินออกไปภายหลังจากวันสิ้นปีงบ สำหรับการเบิกจ่ายกันเหลือปี 145,000 ล้านบาท และแผนเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการหรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ  AOT และรฟท. รวม 74,760 ล้านบาท

ส่วนแผนการบริหารหนี้เดิม เช่น การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบ 68 จำนวน 1.38 ล้านล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบ 69-72 จำนวน 2.79 แสนล้านบาท เป็นต้น

ด้านแผนการชำระหนี้ เช่น แผนการชำระหนี้จากงบประมาณประจำปีงบประมาณ 68 วงเงิน 4.10 แสนล้านบาท และแผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่นๆ 7.88 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

ทั้งนี้ อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ประกอบด้วย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การเคหะแห่งชาติ และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงิน และบริหารหนี้ภายใต้แผนประจำงบ 68 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่งดังกล่าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการบริหารหนี้ไปดำเนินการด้วย รวมทั้งเห็นควรให้หน่วยงานที่บรรจุกรอบเงินกู้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 68 เร่งดำเนินการตามแผนดังกล่าวด้วย

 

นอกจากนี้ ยังรับทราบแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (ปีงบ 68-72) และมอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัดประสานงานกับรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการในกลุ่มโครงการที่ยังขาดความพร้อมในการดำเนินการ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการ และการลงทุนเพื่อเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐต่อไป

ด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีความเห็นเพิ่มเติมว่าปัจจุบันภาระดอกเบี้ยจ่ายต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีในระยะปานกลางของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะต่อไป

ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการทบทวนหรือยกเลิกมาตรการที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐบาล และไม่สอดคล้องกับแนวนโยบาย การบริหารเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สำนักงประมาณควรจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ คืนต้นเงินกู้ให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้ และดอกเบี้ยทั้งในส่วนของหนี้รัฐบาล และหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รัฐให้ดำเนินโครงการของรัฐที่ครบกำหนดชำระในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังไว้สำหรับดำเนินนโยบายสำคัญในระยะต่อไป รวมทั้งลดความเสี่ยงทางการคลังของประเทศในระยะต่อไปด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์